วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยผ่าน Constant Market Share Analysis
Economic Pulse | Issue 4 | 22 เมษายน 2567
แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ
พิชญุตม์ ฤกษ์ศุภสมพล
และ อรุณ ธนกิจโกฏินนทน์
ที่มา: https://www.freepik.com/free-photos-vectors/import-and-export
บทคัดย่อ
Constant Market Share Analysis (CMSA) เป็นเครื่องมือที่ใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกของประเทศต่อการส่งออกโลก และสามารถแบ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเป็น 5 ปัจจัย คือ (1) ปัจจัยด้านตลาด (2) ปัจจัยด้านสินค้า (3) ปัจจัยด้านการแข่งขัน (4) ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และ (5) ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนตลาด ทั้งนี้ การศึกษาโครงสร้างการส่งออกของไทยด้วย CMSA แสดงให้เห็นว่าสินค้าส่วนมากยังคงเคลื่อนไหวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า แต่มีบางสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงสินค้าปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขัน ส่งผลให้ไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ ผู้ดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญเชิงนโยบายแก่สินค้ากลุ่มดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับโลก อย่างไรก็ดี ตลาดการค้าโลกมีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การทบทวนความสามารถในการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน |
บทนำ
ภาคการส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมาอย่างยาวนานโดยในปี 2023 มีการจ้างงานกว่า 3 ล้านตำแหน่ง และมีมูลค่าส่งออก 2.80 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 54.5% ของ nominal GDP โดยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2021 – 2022 ที่ 15.3% และ 1.1% หลังการส่งออกถูกกระทบจากการระบาดของโควิดในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ต่อเนื่องจนถึงปี 2023 มูลค่าการส่งออกกลับหดตัวอย่างรวดเร็วจากความต้องการสินค้าของคู่ค้าที่ชะลอลง รวมทั้งภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าพลวัตการส่งออกสินค้าของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เป็นเพียงผลของวัฏจักรเศรษฐกิจที่ชะลอลงและจะฟื้นตัวได้ในไม่ช้า หรือมีปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่แฝงอยู่ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยไม่ได้รับอานิสงค์
เมื่ออุปสงค์ของคู่ค้ากลับมาฟื้นตัว
เพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าว บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทย โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Constant Market Share Analysis (CMSA) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการแยกองค์ประกอบ (decomposition) ออกเป็นปัจจัยเชิงวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง และวิเคราะห์เจาะลึกการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกได้ในระดับรายสินค้าที่อาจมีปัจจัยขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน โดยจุดเด่นของงานศึกษานี้จะช่วยชี้ให้เห็นมุมมองการวิเคราะห์โครงสร้างการส่งออกในมิติที่แตกต่างจากการมองเพียงโครงสร้างที่แยกตามประเภทสินค้าและตลาดซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่รอบด้านและสนับสนุนให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ในระยะยาว
รู้จักแบบจำลอง CMSA
งานศึกษานี้วิเคราะห์พลวัตของโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยโดยใช้แบบจำลอง Constant Market Share Analysis (CMSA) อิงจากงานศึกษาของ Bonanno, Graziella (2016) ซึ่งแยกสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนการส่งออกของประเทศต่อการส่งออกรวมของโลก (∆Q) เพิ่มขึ้นหรือลดลงออกเป็น 5 ปัจจัย (รายละเอียดใน Appendix 1) ดังนี้
1. ปัจจัยด้านตลาด (Market Effect: ME) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์โดยรวมของตลาดประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเกิดจาก (1) วัฏจักรทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น หากประเทศคู่ค้าเติบโตสูง ก็จะมีการนำเข้าจากไทยสูงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (2) นโยบายด้านการค้า เช่น หากประเทศคู่ค้ามีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ก็จะมีการนำเข้าจากไทยมากขึ้น และ (3) องค์ประกอบและน้ำหนักของประเทศคู่ค้าที่ต่างกัน ก็จะทำให้ผลจากปัจจัยด้านตลาดต่างกัน
2. ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ (Product Effect: PE) สะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านองค์ประกอบการนำเข้าสินค้าแต่ละชนิดของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเกิดจาก (1) ความนิยมของผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป เช่น หากไทยผลิตสินค้าที่มีความนิยมลดลงเรื่อย ๆ การนำเข้าจากประเทศคู่ค้าจะลดลง หรือ (2) เกิดปัญหาในช่วงโซ่อุปทาน (supply disruption) ซึ่งทำให้การส่งออกบางสินค้าสะดุดลงเนื่องจากต้องรอวัตถุดิบบางประเภท ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งแม้การนำเข้าโดยรวมของประเทศคู่ค้าอาจยังเท่าเดิม แต่สัดส่วนการนำเข้าสินค้าแต่ละชนิดต่อการนำเข้ารวมจากประเทศคู่ค้าอาจเปลี่ยนไป
3. ปัจจัยด้านการแข่งขัน (Competitiveness Effect: CE) เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของไทยในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในสินค้าแต่ละประเภท โดยที่กำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัจจัยด้านตลาด และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์คงที่
4. ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ (Product Adaptation Effect: PEA) แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวเมื่อการส่งออกของไทยเผชิญกับปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ เช่น เมื่อความนิยมของผลิตภัณฑ์ i ลดลง สะท้อนจากสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ i จากประเทศคู่ค้าที่ลดลง หากไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดในผลิตภัณฑ์ i เพิ่มขึ้นในประเทศคู่ค้า จะถือว่าไทยไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และส่งผลเสียต่อสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก
5. ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนตลาด (Market Adaptation Effect: MEA) แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวเมื่อการส่งออกของไทยเผชิญกับปัจจัยด้านตลาด เช่น เมื่อประเทศคู่ค้า j อยู่ในวัฏจักรขาลง ส่งผลให้มีการนำเข้าน้อยลง หากไทยมีส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกไปประเทศ j มากขึ้น จะถือว่าไทยไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และส่งผลเสียต่อสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ CMSA ในต่างประเทศ
หลายประเทศนิยมศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่งออกสินค้าโดยใช้ CMSA เนื่องจากสามารถประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ได้หลากหลาย อาทิ การแยกปัจจัยเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน และปัจจัยเชิงวัฏจักรออกจากกันได้ อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ได้ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ Soh et al. (2021) ที่ศึกษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมง (fishery products) ของมาเลเซียจากการประยุกต์โดยใช้ CMSA ร่วมกับ a net-share approach index และ geometric framework โดยผลการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์ประมงโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับปลายังสามารถแข่งขัน (competitiveness effect) ในตลาดโลกได้ดี แต่ปัจจัยด้านการเติบโต (growth effect) เป็นที่น่ากังวล ซึ่งการประยุกต์ใช้ CMSA ช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบาย และผู้ประกอบการสามารถวางแผนและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันสำหรับผลิตภัณฑ์ประมงระยะยาวได้ Xinghua et al. (2021) ใช้ CMSA วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างจีนกับประเทศคู่ค้า โดยผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของจีนเพียง 12.6% และปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจีนเข้าร่วม WTO (ปี 2001) ก่อนที่จะปรับดีขึ้นบ้างหลังเริ่มก่อสร้างโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ประกอบกับมีการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตร ส่วนปัจจัยเชิงโครงสร้างส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของจีนมากถึง 49.7% โดยปัจจัยด้านการเติบโต (growth effect) และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน (structural interaction effect) เป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของจีนเติบโตโดยเฉพาะในช่วง 2001 - 2017 ขณะที่ปัจจัยฉุดรั้งการส่งออกสินค้าเกษตรจีน ได้แก่ ปัจจัยด้านตลาด (market effect) และปัจจัยด้านสินค้า (product effect) อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การศึกษาของ Finicelli et al. (2008) ที่ประยุกต์ใช้ CMSA ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกระหว่างปี 1985 – 2003 ของประเทศต่างๆ1 โดยเฉพาะสหรัฐฯ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และจีน โดยผลการศึกษาพบว่า ในช่วงเวลา 20 ปี สัดส่วนการส่งออกของจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะที่ประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่เนื่องจากเป็นประเทศที่เน้นส่งออกสินค้า high technology ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนการส่งออกลดลงไม่มาก ในทางตรงข้าม ประเทศในกลุ่มยุโรป อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมถึงประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาที่ส่งออกสินค้า high technology น้อยกว่า พบว่าความสามารถในการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
มองโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
จากการศึกษาโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งในช่วงปี 2015 – 2022 ด้วยแบบจำลอง CMSA (รูปที่ 1) พบว่าตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยปัจจัยฉุดรั้งที่ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ คือการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness effect (แท่งสีเหลือง)) เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยฉุดรั้งการส่งออกสินค้าเพิ่มเติมจาก product effect (แท่งสีแดง) ในบางสินค้า (รูปที่ 2) ซึ่งสะท้อนว่าสินค้าของไทยทั้งแข่งขันในตลาดโลกและเป็นที่ต้องการจากประเทศคู่ค้าน้อยลง นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะประเทศคู่แข่งในภูมิภาคโดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบว่าประเทศดังกล่าวมีปัจจัยบวกจาก competitiveness effect แตกต่างจากไทย ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าการส่งออกไทยในอนาคตอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างมากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ดังนั้น การศึกษาโครงสร้างการส่งออกสินค้าให้ละเอียดมากขึ้นจึงมีความสำคัญต่อนัยเชิงนโยบาย
---------------------------------------
1ประเทศที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน บราซิล แคนาดา
แมกซิโก เกาหลีใต้ ตุรกี โปแลนด์ ฮังการี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
รูปที่ 1 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการส่งออกของไทยและคู่แข่ง ปี 2015 - 2022 (Basis points)
ที่มา: Trade Map คำนวณโดย ธปท.
เจาะลึกโครงสร้างการส่งออกในระดับรายสินค้า
จากการศึกษาโครงสร้างการส่งออกด้วยแบบจำลอง CMSA ในระดับรายสินค้าที่แบ่งตามประเภท HS 6 digits ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 66.7% ที่ไทยส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2015 – 2022 พบว่าการส่งออกสินค้าของไทยส่วนมากเคลื่อนไหวตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าเป็นหลัก เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกที่ถูกอธิบายจาก market effect (แท่งสีฟ้า) อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการส่งออกของไทย มี competitiveness effect และ product effect เป็นปัจจัยที่คอยฉุดรั้งในหลายสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไม่รวมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (electronic excl. HDD) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (petro-chemical products) และเครื่องนุ่งห่ม (apparels) รวมทั้งสินค้าเกษตร (agriculture) และอุตสาหกรรมอาหาร (food manufacturing) ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันสะท้อนจาก competitiveness effect (แท่งสีเหลือง) ที่เป็นลบ นอกจากนี้การส่งออกในหมวดยานยนต์ และ HDD ยังมีแรงฉุดเพิ่มเติมจาก product effect (แท่งสีแดง) (รูปที่ 2) โดยการศึกษาครั้งนี้สามารถแบ่งกลุ่มการส่งออกสินค้าที่สำคัญออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสินค้าที่มีอุปสงค์ต่อเนื่อง หรือกลุ่ม driver (2) กลุ่มสินค้าที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือกลุ่ม at risk และ (3) กลุ่มสินค้าได้รับผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือกลุ่ม stagnant โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
รูปที่ 2 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการส่งออกของไทยรายสินค้า (Basis points)
หมายเหตุ: ( ) คือสัดส่วนการส่งอออกปี 2022
ที่มา: Trade Map คำนวณโดย ธปท.
1. กลุ่มสินค้าที่มีอุปสงค์ต่อเนื่อง หรือกลุ่ม driver
รูปที่ 3 สัดส่วนการส่งออกยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่มา: Trade Map คำนวณโดย ธปท.
2. สินค้าที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือกลุ่ม at risk
หมายเหตุ: แบ่งกลุ่มสินค้าตาม OECD ที่มา: Trade Map คำนวณโดย ธปท.
ที่มา: Trade Map คำนวณโดย ธปท.
-------------------------------------------------
2 รัฐบาลจีนเริ่มประกาศแผนยุทธศาสตร์ Dual Circulation หรือยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับหลักการการหมุนเวียนภายในประเทศเพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ
3 รายละเอียดเพิ่มเติมจาก Kan, J., Liz, N., Jeffrey P., (2023) “Mapping Global Supply Chains—The Case of Semiconductors”, RaboResearch.
รูปที่ 6 CMSA สินค้าเกษตรปี 2015 – 2022 รายประเทศ
ที่มา: Trade Map คำนวณโดย ธปท.
รูปที่ 7 HHI index ปี 2021 เทียบกับปี 2018
ที่มา: UN Comtrade คำนวณโดย ธปท.
3. กลุ่มสินค้าได้รับผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือกลุ่ม stagnant
สรุปประเด็นสำคัญ และนัยเชิงนโยบาย
CMSA เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกสินค้า โดยจากการศึกษาโครงสร้างการส่งออกด้วย CMSA ของไทยเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค พบว่าแม้การส่งออกของประเทศคู่แข่งหลายประเทศรวมถึงไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า (market effect) แต่แรงขับเคลื่อนที่มาจากปัจจัยด้านการแข่งขัน (competitiveness effect) และปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ (product effect) เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดโลกและรักษาระดับการเติบโตของสินค้าส่งออกได้
สำหรับไทย การวิเคราะห์ด้วย CMSA เผยให้เห็นว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ในสินค้าส่งออกสำคัญ 3 หมวด ได้แก่ หมวดสินค้าปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบด้าน product effect เพิ่มเติมจากกำลังการผลิตของจีนที่เพิ่มขึ้นและนโยบายของทางการจีนที่สนับสนุนให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากการเปลี่ยนแปลงระดับเทคโนโลยี ส่งผลให้มีส่วนรวมใน supply chain น้อย หมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งโดยเฉพาะข้าวที่เสียให้กับเวียดนามและกัมพูชา น้ำตาลที่เสียให้กับบราซิลและอินเดีย และผลไม้ที่เสียให้กับจีน นอกจากนี้ หมวด HDD ได้รับผลด้านลบจาก product effect จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ HDD เริ่มถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) ขณะที่การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาอย่างยาวนาน จากทั้งการโดนตัดสิทธิ GSP และผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
จากข้อสรุปการวิเคราะห์ข้างต้นนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ (1) สำหรับสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีความเสี่ยงด้านลบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ในระยะเร่งด่วน ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและทุนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ระยะต่อไปควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเน้นทบทวนนโยบายดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป (2) สำหรับสินค้าเกษตร ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายสินค้าหลัก ควรให้ความสำคัญกับการรักษาส่วนแบ่งตลาดและขยายตลาด โดยมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าและสร้างความแตกต่างให้สินค้ากลุ่มนี้ผ่านการใช้เทคโนโลยี อาทิ เกษตรแม่นยำสูง การปลูกในโรงเรือนแบบควบคุม และเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขนส่งที่ส่งตรงจากมือผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้สินค้ายังคงคุณภาพสูง (3) สำหรับหมวดยานยนต์ ควรเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างตามการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการกำหนดทิศทางการผลิตและการส่งออกของประเทศร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ และการออกแบบมาตรการสนับสนุนการส่งออกที่ตอบโจทย์ตรงจุดโดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้จากภาคปฏิบัติร่วมกับภาควิชาการ
เอกสารอ้างอิง
[1] Kan, J., Liz, N., Jeffrey P., (2023) “Mapping Global Supply Chains — The Case of Semiconductors”, RaboResearch.
[2] ศิรดา ศิริเบญจพฤกษ์, (2022) “สิ่งทอไทยไปต่ออย่างไรให้ยั่งยืน”, Focus and Quick, Issue 195, ธนาคารแห่งประเทศไทย.
[3] Soh, B.H., Lim, G.T., Chua, S.Y., (2021) “Competitiveness of Malaysian Fisheries Exports:
A Constant Market Share Analysis”, Malaysia Journal of Economic Studies, Vol. 58 No. 2.
[4] Wang, X., et.al., (2021) “Structural Change and Trend of Export Competitiveness on China's Agricultural Product”, Advances in Economic, Business and Management Research, Volume 166.
[5] Aisha Nuddin, A.J., & Ibrahim, N.A. (2019). “Competitiveness of profit-loss-sharing mode of financing using constant market share competitiveness index”, Journal of Islamic, Social, Economics and Development, 4(12), 41–57.
[6] Aisha Nuddin, A.J., Azhar, A.K.M., Gan, V.B.Y., & Khalifah, N.A. (2018). “A new constant market share competitiveness index”, Malaysian Journal of Mathematical Sciences, 12(1), 1–23.
[7] Bonanno, G. (2016). “Constant market share analysis: A note”, Economics and Econometrics Research Institute (EERI)”, Research Paper Series No 07/2016.
[8] Apridar. (2014). “The competitiveness of Indonesian tuna export facing the ASEAN Economic Community”, Aceh International Journal of Social Sciences, 3(1), 1–13.
[9] Finicelli A., Sbracia M., Zaghini A. (2008) "A Disaggregated Analysis of the Export Performance of some Industrial and Emerging Countries", MPRA, WP N. 11
[10] Fagerberg J., Sollie G. (1985). "The Method of Constant-Market-Shares Analysis Revisited", Central Bureau of Statistics of Oslo, WP N. 9
[11] Richardson J.D. (1971). "Constant Market Share Analysis of Export Growth", Journal of International Economics, Vol. 2, pp. 227-239
[12] Leamer E.F., Stern R.M. (1970). “Quantitative International Economics”, Aldine Transaction Editor, Chicago.
ภาคผนวก 1
รายละเอียดในการวิเคราะห์ Constant Market Share Analysis (CMSA)
Constant Market Share Analysis (CMSA) ที่ใช้ในการศึกษานี้ อ้างอิงวิธีการคำนวณจาก Bonanno, Graziella (2016) ที่พัฒนามาจาก CMSA แบบดั้งเดิมของ Leamer and Stern (1970)4 โดยเป็นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกสินค้าแต่ละประเภทตามการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการส่งออกสินค้า และแบ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็น 5 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านตลาด (Market Effect: ME) ปัจจัยด้านสินค้า (Product Effect: PE) ปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Effect: CE) ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนตลาด (Market Adaptation Effect: MEA) และปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนสินค้า (Product Adaptation Effect: PEA) โดยมีสมการดังนี้
------------------------------------
4 Constant Market Share (CMS) แบบดั้งเดิมที่อ้างอิงจาก Leamer and Stern (1970) และ Richadson (1971) เป็นการวิเคราะห์โครงสร้างการส่งออกตามการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออก และแยกปัจจัยที่ส่งผลต่อโครงสร้างการส่งออกออกเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสินค้า (Product Effect: PE) และ ปัจจัยด้านตลาด (Market Effect: ME) โดยไม่สามารถแยกปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนตลาด และปัจจัยด้านการปรับเปลี่ยนสินค้าออกจาก residual ได้
ภาคผนวก 2
รายละเอียดในการวิเคราะห์ Herfindahl-Hirschman Index (HHI)
คณะผู้เขียนขอขอบคุณผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่องานศึกษาครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณปัณฑา อภัยทาน และคุณจิรายุ จันทรสาขา สำหรับการให้คำปรึกษาหลักในการจัดทำแบบจำลอง CMSA ตลอดจนทีม Editor ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และช่วยให้งานศึกษาครั้งนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ปัจจุบันอยู่ส่วนดุลการชำระเงิน มีหน้าที่ติดตามการค้าระหว่างประเทศ
พิชญุตม์ ฤกษ์ศุภสมพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์ด้านการติดตามอัตราแลกเปลี่ยน การค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันทำหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศ
อรุณ ธนกิจโกฏินนทน์ เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงินปัจจุบันอยู่ส่วนดุลการชำระเงิน ติดตามการส่งออก - นำเข้าสินค้า และมีความสนใจพิเศษด้าน data science
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
Tags: Constant Market Share Analysis (CMSA), Market Effect, Product Effect, Competitiveness Effect, Market Adaptation Effect, Product Adaptation Effect, Herfindahl-Hirschman Index (HHI)
Economic Pulse เป็นบทความวิชาการขนาดสั้นโดยบุคลากรของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนองานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงินหรือด้านนโยบาย เพื่อสื่อสารต่อสาธารณชน นักวิชาการ และนักวิเคราะห์