สัดส่วนรายได้แรงงานของไทย: พัฒนาการและปัจจัยที่ส่งผลกระทบ (Thai Labor income share and its determinant)
Economic Pulse | Issue 5 | 01 สิงหาคม 2567
บทคัดย่อ
บทความนี้ศึกษาพัฒนาการสัดส่วนรายได้แรงงานของไทยและปัจจัยที่มีผลกระทบ โดยใช้ทั้งข้อมูลผลการศึกษาจากงานศึกษาในต่างประเทศ และแบบจำลองทางเศรษฐมิติที่ใช้ข้อมูลเฉพาะของไทย พบว่าสัดส่วนรายได้แรงงานของไทยมีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าในหลายประเทศ จากทั้งความเชื่อมโยงทางการเงิน (financial integration) ที่เพิ่มขึ้นผ่านการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในสาขาที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้น ขณะเดียวกันการลงทุนในสาขาที่ใช้ปัจจัยแรงงานเข้มข้นส่วนหนึ่งถูกย้ายไปต่างประเทศ ประกอบกับปัจจัยด้านสถาบันแรงงานของไทยที่อาจเข้มแข็งน้อยกว่าในต่างประเทศ และภาคธุรกิจที่มีการกระจุกตัวและอำนาจตลาดสูง โดยแนวทางที่จะช่วยรักษาสัดส่วนรายได้แรงงานของไทย จึงประกอบด้วยการพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถปรับตัวรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันแรงงาน รวมถึงการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดสินค้าและตลาดแรงงาน เพื่อให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถูกจัดสรรไปให้แรงงานได้อย่างเหมาะสม |
1. บทนำ
แม้ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับวิกฤตหลายครั้ง แต่โดยเฉลี่ยยังเติบโตได้ประมาณ 3% ต่อปี (compound annual growth rate: CAGR) โดยหากพิจารณาการจัดสรรผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไปยังปัจจัยการผลิตทั้งที่ดิน ทุน แรงงาน และการประกอบการ การจัดสรรผลประโยชน์มายังแรงงานจะมีความสัมพันธ์กับการใช้จ่ายและความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ในช่วงที่ผ่านมาแรงงานไทยได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด และมีสาเหตุจากปัจจัยใด การศึกษาฉบับนี้จึงแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ส่วน โดยส่วนแรกจะอธิบายถึงนิยามของสัดส่วนรายได้แรงงานและวิธีการคำนวณ ส่วนที่สองจะแสดงพัฒนาการของสัดส่วนรายได้แรงงานของไทย ส่วนที่สามจะวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงานของไทยในช่วงที่ผ่านมา และส่วนสุดท้ายจะนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้แรงงานได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างเหมาะสม
2. นิยามของสัดส่วนรายได้แรงงานและวิธีการคำนวณ
สัดส่วนรายได้แรงงาน (Labor income share) คือ ส่วนแบ่งรายได้แรงงานในรายได้มวลรวมของประเทศ ซึ่งรายได้แรงงานประกอบด้วย (1) ผลตอบแทนของลูกจ้าง (compensation of employees: CE)1 และ (2) ผลตอบแทนบางส่วนของผู้ประกอบอาชีพอิสระ (household and non-profit institutions serving households mixed income and operating surplus)2 (ILO, 2019) สำหรับรายได้มวลรวมของประเทศ งานศึกษาฉบับนี้ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP เป็นตัวแทน
วิธีการคำนวณสัดส่วนรายได้แรงงานมีหลายวิธีตามการนิยามรายได้แรงงานที่แตกต่างกัน (ตารางที่ 1) โดยนิยามรายได้แรงงานที่แคบที่สุดจะครอบคลุมเพียงรายได้ลูกจ้างเท่านั้น (วิธีที่ 1 และ 4) ถัดมาจะเพิ่มการครอบคลุมทั้งรายได้ลูกจ้างและรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยอาจใช้รายได้ทั้งหมดของผู้ประกอบอาชีพอิสระ (วิธีที่ 3) หรือรวมแค่บางส่วนของรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (วิธีที่ 2) หรือใช้รายได้ลูกจ้างแทนรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (วิธีที่ 5 และ 6) รวมไปถึงการคำนวณรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระโดยอ้างอิงจากลูกจ้างที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน (วิธีที่ 7) (Guerriero, 2019) (ILO, 2019)
ในการศึกษาฉบับนี้ สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยจะครอบคลุมรายได้ลูกจ้างและรายได้บางส่วนของผู้ประกอบอาชีพอิสระตามวิธีที่ 2 ในตารางที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทยที่มีสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแรงงานนอกระบบค่อนข้างสูง โดยวิธีนี้ 2 ใน 3 ของรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะถูกจัดสรรเป็นรายได้แรงงาน3 ขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือของผู้ประกอบอาชีพอิสระจะเป็นผลตอบแทนทุน (capital income) เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องใช้ทั้งกำลังแรงงานและการลงทุนในด้านต่าง ๆ ในงานของตนเอง
----------------------------------------------------
1 ครอบคลุมเงินเดือนค่าจ้าง เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการอื่น ๆ
2 ประกอบด้วยกำไรจากการประกอบการ และค่าแรงของเจ้าของกิจการ ซึ่งรวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
3 สัดส่วน 2/3 มาจากความเชื่อร่วมกัน (common belief) ว่ารายได้แรงงานโดยทั่วไปมีสัดส่วนประมาณ 2/3 ของรายได้มวลรวมของประเทศ
รายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระจึงน่าจะมีสัดส่วนระหว่างรายได้แรงงานและรายได้จากทุนคล้ายคลึงกับรายได้มวลรวมของประเทศ (Guerriero, 2019)
3. พัฒนาการของสัดส่วนรายได้แรงงานของไทย
สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (รูปที่ 1) เมื่ออิงวิธีคำนวณตามวิธีที่ 2 (LS2) ค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2017-2021 อยู่ที่ 44.1% ลดลงจากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2003-2007 ที่ 47.9% จากการลดลงของสัดส่วนรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ขณะที่สัดส่วนรายได้ลูกจ้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (รูปที่ 2)
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นมีความแตกต่างกันในรายสาขา โดยสัดส่วนรายได้ลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาบริการสุขภาพ การศึกษา การเงิน และการค้า สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทยที่ย้ายมาสู่ภาคบริการเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนรายได้ลูกจ้างปรับลดลงในภาคการผลิตและภาคก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาขาที่สามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำ และหากพิจารณาพัฒนาการของสัดส่วนรายได้ลูกจ้างแบ่งตามทักษะ พบว่า กลุ่มลูกจ้างทักษะต่ำมีสัดส่วนรายได้ลดลง ขณะที่กลุ่มแรงงานมีทักษะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น (รูปที่ 3) สอดคล้องกับผลการศึกษาในต่างประเทศ (IMF, 2017)
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยค่อนข้างต่ำและลดลงมากกว่า (รูปที่ 4) โดยแม้สัดส่วนรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector) ของไทยจะลดลงส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนมาเป็นแรงงานในระบบมากขึ้นตามการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแนวทางผลักดันของภาครัฐที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบ (formal sector) ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ (global phenomenon) (Debanes, Castellvi, & Dwiyan, 2021) (รูปที่ 5) แต่ในกรณีของไทย สัดส่วนรายได้ลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการลดลงของสัดส่วนรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมาก ขณะเดียวกันผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตกไปสู่ภาคธุรกิจค่อนข้างสูง สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายได้ของภาคธุรกิจ (corporate income share)4 ของไทยที่สูงกว่าหลายประเทศ (รูปที่ 6) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากรายได้ของบริษัทเอกชนเป็นสำคัญ (รูปที่ 7)
------------------------------------
4 ข้อมูลของไทยคำนวณจาก gross operating surplus and mixed income ทั้งหมดของประเทศ (รวมค่าเสื่อมราคา) หักด้วยส่วนของครัวเรือน สถาบันไม่แสวงหากำไรที่บริการครัวเรือน และรัฐบาล ขณะที่ข้อมูลของต่างประเทศคำนวณจาก gross operating surplus and mixed income (รวมค่าเสื่อมราคา) ของภาคธุรกิจจากทั้งในและนอกภาคการเงิน (financial และ non-financial sector)
4. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงาน
จากงานศึกษาในต่างประเทศ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงานมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (advanced economies: AEs) และประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (technological advancement) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานในกลุ่มประเทศ AEs ลดลง (รูปที่ 8: แท่งซ้าย) เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้ราคาโดยเปรียบเทียบของปัจจัยทุนต่อแรงงานลดลง (lower relative price of investment) จึงทำให้สัดส่วนการใช้ทุน (เครื่องจักรและอุปกรณ์) ต่อแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในบริบทของประเทศ AEs ส่วนมากจะเป็นประเทศต้นน้ำในห่วงโซ่การผลิตโลก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้พึ่งพาแรงงานมาก เช่น การวิจัยและพัฒนา (research and development) หรืองานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ (routinization) สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาทำแทนเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น สภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศกลุ่มนี้มี elasticity of substitution (ES)5 ระหว่างทุนและแรงงานมากกว่า 1 ดังนั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานลดลง (IMF, 2017)
ขณะที่กลุ่มประเทศ EMs มีสัดส่วนรายได้แรงงานปรับลดลงจากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น (Global Value Chain (GVC) participation) เป็นสำคัญ (รูปที่ 8: แท่งกลาง) เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านการเป็นฐานการผลิตที่รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้น (capital intensive) มากกว่าอุตสาหกรรมเดิมในประเทศ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศมีสัดส่วนรายได้แรงงานลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีผลไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะลักษณะงานในประเทศปลายน้ำยังต้องพึ่งพาแรงงานสูง ทำให้ประเทศในกลุ่ม EMs ไม่สามารถนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมาใช้ได้มากเท่าประเทศในกลุ่ม AEs ส่งผลให้ elasticity of substitution ระหว่างทุนและแรงงานของประเทศ EMs น้อยกว่า 1 (IMF, 2017)
นอกจากปัจจัยด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความเชื่อมโยงกับโลกแล้ว จากกรอบแนวคิดของงานศึกษาในต่างประเทศ (Stockhammer, 2013) (IMF, 2017) พบว่า ปัจจัยด้านนโยบาย สถาบัน และกฎระเบียบ (policies, institutions, and regulations) อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงานเช่นกัน อาทิ หากสถาบันด้านแรงงาน เช่น สหภาพแรงงาน (labor union) เข้มแข็ง จะทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานเพิ่มขึ้นและสัดส่วนรายได้แรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่หากธุรกิจมีอำนาจตลาดเพิ่มขึ้น อำนาจต่อรองของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานลดลง รวมถึงการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate tax rate) อาจทำให้ผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบของทุน (relative return to capital) เพิ่มขึ้น และจูงใจให้ภาคธุรกิจใช้ทุนทดแทนแรงงาน ส่งผลให้สัดส่วนรายได้แรงงานลดลง
---------------------------------------
5 Elasticity of substitution (ES) หมายถึง ความยืดหยุ่นของการใช้ปัจจัยทดแทนกัน ซึ่งเป็นการวัดขนาดที่ปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่งสามารถใช้แทนปัจจัยการผลิตอีกชนิดได้โดยยังคงได้รับผลผลิตเท่าเดิม หากกำหนดให้ผลผลิตเกิดจากปัจจัยทุน (K) และแรงงาน (L) ณ ระดับดุลยภาพ ES สามารถวัดขนาดของของอัตราส่วนของการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนปัจจัย K/L ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของราคาปัจจัย L ต่อราคาปัจจัย K โดยหาก ES > 1 สะท้อนว่าภาคธุรกิจสามารถใช้ปัจจัยการผลิตทดแทนกันได้มาก ดังนั้นเมื่อราคาของปัจจัยทุนลดลง (จาก technological advancement) ภาคธุรกิจสามารถใช้ปัจจัยทุนทดแทนแรงงานได้ในสัดส่วนที่มากกว่า นำไปสู่การลดลงของสัดส่วนรายได้แรงงาน (IMF, 2017)
สำหรับกรณีของไทย การศึกษาฉบับนี้จะวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนแรงงานไทย 2 วิธี ได้แก่
(1) การใช้ค่าสัมประสิทธิ์ (coefficient) จากงานศึกษาในต่างประเทศ (IMF, 2017) มาคำนวณกับปัจจัยต่าง ๆ ของไทยเพื่อหาปัจจัยที่ทำให้ค่าเฉลี่ยสัดส่วนรายได้แรงงานของไทยในช่วงปี 2017-2021 ลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2003-2007 ซึ่งพบว่า ปัจจัยด้านสถาบันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานปรับลดลง จากภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยที่ปรับลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ส่วนที่อธิบายไม่ได้ (unexplained) เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุด (รูปที่ 9) สะท้อนว่าบริบทเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันมาก ทำให้งานศึกษาที่ใช้ข้อมูลหลายประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ (panel data) อาจไม่สามารถอธิบายการลดลงของสัดส่วนรายได้แรงงานในไทยในช่วงที่ผ่านมาได้
(2) การศึกษาโดยแบบจำลองเศรษฐมิติที่ใช้ข้อมูลเฉพาะของไทยในช่วงปี 2002-2020 พบว่าความเชื่อมโยงทางการเงิน (financial integration: FI) ของไทยกับโลกที่มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศในไทย เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยลดลง (รูปที่ 10) สอดคล้องกับผลการศึกษาในต่างประเทศของ ILO (Stockhammer, 2013) เนื่องจาก financial integration ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยปรับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้นมากขึ้น (capital intensive) เพราะสัดส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และสัดส่วนของการลงทุนในต่างประเทศของไทย (TDI) ต่อ GDP ในช่วงปี 2005-2021 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 11: ภาพซ้าย) โดย FDI ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร ซึ่งเป็นสาขาที่มีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D intensity) ระหว่าง 6-15% ขณะที่ TDI ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาเหมืองแร่ อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงสิ่งทอ ซึ่งเป็นสาขาที่มีสัดส่วน R&D intensity ต่ำกว่า โดยอยู่ระหว่าง 1-2% (รูปที่ 11: ภาพขวา) จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ labor income share ในประเทศลดลง เนื่องจากไทยเปิดรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ทุนเข้มข้นเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนที่ใช้ปัจจัยแรงงานส่วนหนึ่งถูกย้ายไปต่างประเทศ
ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงานในต่างประเทศ เช่น ความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความเชื่อมโยงทางการค้า ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยลดลง โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้มีผลต่อการลดลงของสัดส่วนรายได้แรงงานในภาพรวม เนื่องจาก elasticity of substitution ระหว่างทุนและแรงงานของไทยต่ำกว่า 1 สะท้อนจากความสัมพันธ์ในทางผกผัน (negative relationship) ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงาน และการเปลี่ยนแปลงของราคาของการลงทุนโดยเปรียบเทียบ สอดคล้องกับประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ (รูปที่ 12) ทำให้เมื่อราคาโดยเปรียบเทียบของปัจจัยทุนต่อแรงงานลดลงจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการใช้ทุนทดแทนแรงงานมากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงของราคาโดยเปรียบเทียบ ขณะที่ความเชื่อมโยงทางการค้า (trade integration) สะท้อนจากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลก (global value chain participation) ของไทยเฉลี่ยปี 2017-2021 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2003-2007 (รูปที่ 13) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้สัดส่วนรายได้แรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การแยกผลของ GVC และ FI ต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงานออกจากกันให้ชัดเจนทำได้ยาก เนื่องจากกลไกการส่งผลต่อสัดส่วนรายได้แรงงานของทั้ง 2 ปัจจัย ดำเนินผ่านพัฒนาการของการลงทุนจากต่างประเทศเป็นสำคัญทั้งคู่
อย่างไรก็ดี การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้แรงงานด้วยแบบจำลองมีข้อจำกัดจากจำนวนข้อมูลที่น้อยและผลของปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจไม่สามารถแยกจากกันได้ชัดเจนนัก (Mullin, 2019) (IMF, 2017) งานศึกษาฉบับนี้จึงได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่นที่เป็นไปได้ (possible explanations) ที่อาจมีส่วนทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยลดลงในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
• สถาบันแรงงานในไทยเข้มแข็งน้อยกว่าในต่างประเทศมาก สะท้อนจากทั้งสัดส่วนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือความหนาแน่นของสหภาพแรงงาน (union density) และสัดส่วนลูกจ้างที่ครอบคลุมโดยข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (collective bargaining) ของไทยที่ต่ำกว่าในต่างประเทศ (รูปที่ 14) ทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานต่ำและแรงงานอาจไม่ได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากเท่าผลิตภาพของแรงงาน ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างผลิตภาพแรงงานและรายได้แรงงาน (labor productivity-income gap) เพิ่มขึ้น (รูปที่ 15)
• ภาคธุรกิจไทยที่มีการกระจุกตัวสูง (concentration) สะท้อนจากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในปี 2019 ซึ่งพบว่า บริษัทที่มีรายได้มากที่สุด 5% แรก มีรายได้รวมกันถึง 88%ของรายได้รวมของทุกบริษัท (รูปที่ 16) และอำนาจตลาด (market power) ของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนระหว่างราคาขายและต้นทุนหน่วยสุดท้ายหรือ markup ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ศุภเศรษฐสิริ, สัมพันธารักษ์, และ ปวีณวัฒน์, 2022) อาจมีส่วนทำให้สัดส่วนรายได้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นและสัดส่วนรายได้แรงงานปรับลดลง เนื่องจากภาคธุรกิจมีอำนาจในการต่อรองกับแรงงานในการแบ่งผลประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูง
• อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate tax rate) ที่ปรับลดลงมากกว่าในต่างประเทศ (รูปที่ 17) อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนรายได้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นและสัดส่วนรายได้แรงงานลดลง เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงอาจทำให้ผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบของทุน (relative return to capital) เพิ่มขึ้น และจูงใจให้ภาคธุรกิจใช้ทุนทดแทนแรงงาน ส่งผลให้สัดส่วนรายได้แรงงานลดลง (IMF, 2017) ซึ่งส่วนนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาจากวิธีที่ใช้ coefficient จากงานศึกษาในต่างประเทศที่ปัจจัยนี้มีนัยสำคัญทางสถิติว่าทำให้รายได้แรงงานลดลง
• ปัจจัยอื่น ๆ อาทิ โครงสร้างตลาดแรงงานของไทยที่มีสัดส่วนแรงงานข้ามชาติ (migrants) เพิ่มขึ้น ซึ่งแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่รายได้ต่ำ (รูปที่ 18-19) และยังเป็นแหล่งอุปทานแรงงานจากภายนอกประเทศ (external supply of labor) ที่เข้ามากดดันค่าจ้างในตลาดแรงงาน จึงมีส่วนทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยลดลง
บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
โดยสรุป การจัดสรรผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่แรงงานของไทยลดลงในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากสัดส่วนรายได้แรงงานของไทยที่ลดลงและต่ำกว่าในต่างประเทศ ขณะที่สัดส่วนรายได้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนรายได้แรงงานของไทยที่ลดลงเป็นผลจากการปรับลดลงของสัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ ขณะที่สัดส่วนรายได้ลูกจ้างไม่สามารถเพิ่มขึ้นทดแทนได้ โดยสัดส่วนรายได้ของลูกจ้างเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากภาคบริการ ขณะที่สัดส่วนรายได้ของลูกจ้างในภาคการผลิตและภาคก่อสร้างลดลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทักษะต่ำ
ปัจจัยที่มีส่วนทำให้สัดส่วนรายได้แรงงานของไทยปรับลดลง ได้แก่ ความเชื่อมโยงทางการเงิน (financial integration) ที่เพิ่มขึ้นจากทั้งการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ค่อนข้างใช้ทุนเข้มข้น ขณะเดียวกันการลงทุนที่ใช้ปัจจัยแรงงานส่วนหนึ่งถูกย้ายไปต่างประเทศ นอกจากนี้ สถาบันแรงงานของไทยเข้มแข็งน้อยกว่าในต่างประเทศมาก ทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานต่ำ ประกอบกับภาคธุรกิจมี concentration สูง มีอำนาจตลาด (market power) เพิ่มขึ้น และอัตราภาษีเงินได้นิติบุคล (corporate tax rate) ปรับลดลงมากกว่าในต่างประเทศ
ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยรักษาสัดส่วนรายได้แรงงานของไทย จึงควรให้ความสำคัญกับ (1) การพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อให้แรงงานเป็นที่ต้องการและได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแม้โครงสร้างการผลิตจะเปลี่ยนแปลง (2) การเสริมสร้างสถาบันแรงงานให้เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น รวมถึง (3) การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดสินค้าและตลาดแรงงาน ซึ่งจะมีส่วนทำให้สามารถรักษาระดับสัดส่วนรายได้แรงงาน และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้ถูกจัดสรรไปให้แรงงานได้อย่างเหมาะสม เพราะท้ายที่สุด ในทุกการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เราควรต้องกลับมาดูด้วยว่า “คน” มีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร และได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
References
Debanes, P., Castellvi, C., & Dwiyan, M. (2021). Development and formalization in Asia: Insights from Japan, Republic of Korea and Singapore. Geneva: International Labour Organization.
Guerriero, M. (2019). The labro share of income around the World: evidence from a panel dataset. Tokyo: ADBI Working Paper Series.
ILO. (2019). The global labour income share and distribution. Geneva: International Labour Office.
IMF. (2017). World Economic Outlook. Washington, DC: International Monetary Fund.
Mullin, J. (2019). Workers' Shrinking Share of the Pie. Virginia: Federal Reserve Bank of Richmond.
Stockhammer, E. (2013). Why have wage shares fallen? A panel analysis of the determinants of functional. Geneva: International Labour Organization.
ศุภเศรษฐสิริ, ธ., สัมพันธารักษ์, ก., & ปวีณวัฒน์, อ. (2022). เจาะลึกโครงสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านรูปแบบตลาดที่ธุรกิจเผชิญ. Bangkok: Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
ผู้เขียน
รณชาติ ผาติหัตถกร: ronachap@bot.or.th
เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้สาเร็จการศึกษาด้าน Finance and Economics จาก University of East Anglia ประเทศอังกฤษ มีประสบการณ์การวิเคราะห์และติดตามด้านการค้าระหว่างประเทศ และตลาดแรงงาน ปัจจุบันศึกษาต่อด้าน Data Science ที่ University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา
Disclaimer:
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
Tags:
Labor income share, Labor market, Labor income distribution, Inequality
Economic Pulse เป็นบทความวิชาการขนาดสั้นโดยบุคลากรของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนองานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงินหรือด้านนโยบาย เพื่อสื่อสารต่อสาธารณชน นักวิชาการ และนักวิเคราะห์