Geopolitical tension: ผลต่อ FDI landscape โลก และ FDI ของไทย

Economic Pulse | Issue 6 | 06 พฤศจิกายน 2567

รัฐศาสตร์ หนูดำ

พิสชา คำบุยา

วริษฐา ประจงการ

containers

Geopolitical tension อาจไม่ได้กระทบ
ต่อภาพรวมการลงทุนโลกอย่างมีนัย
แต่ทำให้เกิด investment diversion
ที่ไทยเองก็ได้ประโยชน์
แต่น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

colliding shipping containers from two large countries

 


บทคัดย่อ

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2017 โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการค้าโลก แต่อาจส่งผลต่อการลงทุนของประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน การศึกษานี้ พบว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของห่วงโซ่การลงทุนโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยและความแตกต่างของนโยบายการเมืองระหว่างประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ และจีนยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การลงทุนโลก  อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้จีนลงทุนในสหรัฐฯ ลดลง โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักของโลกก็ลดสัดส่วนการลงทุนในจีนเช่นกัน สำหรับอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งจาก investment diversion โดยไทยได้ประโยชน์ด้วย แต่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านจากความน่าดึงดูดที่น้อยกว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างชาติช่วยให้ฐานการผลิตในประเทศของไทยใหญ่ขึ้นและมีเหลือเพื่อส่งออก แต่ไม่ได้ทำให้ไทยเปลี่ยนจากผู้ผลิตปลายน้ำ (downstream) เป็นผู้ผลิตต้นน้ำ (upstream) ได้ ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นความท้าทายของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องเร่งหามาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เพื่อให้การลงทุนที่ไทยจะได้รับในระยะถัดไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย


1. บทนำ

 

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2017 โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการค้าโลก แต่อาจส่งผลต่อการลงทุนของประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน การศึกษานี้ พบว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของห่วงโซ่การลงทุนโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยและความแตกต่างของนโยบายการเมืองระหว่างประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ และจีนยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การลงทุนโลก  อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้จีนลงทุนในสหรัฐฯ ลดลง โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักของโลกก็ลดสัดส่วนการลงทุนในจีนเช่นกัน สำหรับอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งจาก investment diversion โดยไทยได้ประโยชน์ด้วย แต่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านจากความน่าดึงดูดที่น้อยกว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างชาติช่วยให้ฐานการผลิตในประเทศของไทยใหญ่ขึ้นและมีเหลือเพื่อส่งออก แต่ไม่ได้ทำให้ไทยเปลี่ยนจากผู้ผลิตปลายน้ำ (downstream) เป็นผู้ผลิตต้นน้ำ (upstream) ได้ ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นความท้าทายของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องเร่งหามาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เพื่อให้การลงทุนที่ไทยจะได้รับในระยะถัดไปช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย

2. ผลของ Geopolitical tension ต่อ Global FDI ในช่วงที่ผ่านมา

 

2.1 Global FDI landscape เปลี่ยนไปแค่ไหน

 

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ภาพรวมของ global FDI landscape ยังคล้ายเดิม แต่การมีส่วนร่วมของประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น รูปที่ 1 แสดงความเชื่อมโยงของมูลค่า FDI ปี 2010 เทียบปี 2021 โดยขนาดของ node สะท้อนระดับการมีส่วนร่วมใน global FDI landscape ที่คำนวณจากมูลค่าการลงทุนที่ได้รับและมูลค่าการออกไปลงทุนของแต่ละประเทศ1 และเส้นระหว่าง node สะท้อนทิศทางและมูลค่า FDI ระหว่างประเทศ ซึ่งพบว่า ระหว่างปี 2010-2021 global FDI landscape เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยประเทศที่มีบทบาทมากที่สุด 20 อันดับแรก เกี่ยวข้องกับมูลค่า FDI สูงถึงประมาณ 80% ของมูลค่า FDI ของโลก อาทิ สหรัฐฯ ที่มีบทบาทหลักทั้งการเป็นผู้ลงทุนและผู้รับการลงทุน กลุ่มประเทศในยุโรปที่มีการลงทุนเชื่อมโยงในภูมิภาคค่อนข้างมากและบางประเทศเป็นศูนย์กลางเชื่อมกับการลงทุนกับโลก เช่น เนเธอแลนด์ และลักเซมเบิร์ก กลุ่มประเทศ tax haven เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะเคย์แมน ที่เป็นฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติที่นิยมเข้าไปตั้งบริษัทเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านภาษี และเอเชียที่แม้การลงทุนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวในประเทศหลักอย่างจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แต่การมีส่วนร่วมของประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากขนาดของ node ที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจีนที่เป็นทั้งฐานการลงทุนและการผลิตสำคัญของโลก และมีบทบาทในการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงสิงคโปร์ที่เป็น regional hub เชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศในและนอกอาเซียน 

 

 

รูปที่ 1

เปรียบเทียบห่วงโซ่การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศของโลกปี 2010 และปี 2021

Pic1

หมายเหตุ: แสดงผลประเทศที่มี weighted degree ตั้งแต่ 0.7 และ 1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับปี 2010 และปี 2021 ตามลำดับ คิดเป็น percentile ที่ประมาณ 90% และครอบคลุมธุรกรรมประมาณ 80%, ขนาดของ node แทนด้วย Katz centrality ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดอิทธิพล (influence) ของแต่ละ node ว่าเชื่อมโยงกับ node อื่นที่มีอิทธิพลด้วยหรือไม่ โดย i → j หมายถึงประเทศ i มียอดคงค้างการลงทุนโดยตรงในประเทศ j และความหนาของเส้น (edge) แทนขนาด position

ที่มา: CDIS, IMF คำนวณโดยผู้เขียน

 

หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังปี 2017 ที่ trade tension ทวีความรุนแรงขึ้น ตามรูปที่ 2ที่พิจารณาจาก (i) มูลค่า FDI รวมการรับและการออกไปลงทุน (ii) ความสำคัญของแต่ละประเทศที่เน้นเฉพาะขารับการลงทุน และ (iii) ความสำคัญของแต่ละประเทศที่เน้นเฉพาะขาออกไปลงทุน โดยแกน x ของทั้ง 3 รูป สะท้อนความสำคัญของแต่ละประเทศในปี 2021 และแกน y สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของแต่ละเครื่องชี้ ซึ่งหากมูลค่ามากกว่าศูนย์จะหมายถึงประเทศนั้นมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในปี 2021 เมื่อเทียบกับปี 2017 ผลโดยรวมพบว่า สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่การลงทุนของโลก และมูลค่าการรับและออกไปลงทุนของสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจีนที่มูลค่า FDI เข้าจีนไม่ได้ลดลง อีกทั้งจีนยังออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นมาก โดยมูลค่าการออกไปลงทุนต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นถึง 17% (เฉลี่ย 2017-2021 เทียบ 2012-2016) สำหรับภูมิภาคอาเซียน นอกจากสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค ไทยก็มีบทบาทสำคัญในอาเซียนและมีบทบาทเพิ่มขึ้นทั้งในฐานะการเป็นผู้รับการลงทุนและผู้ออกไปลงทุน แต่ประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุด ได้แก่ เวียดนาม จากด้านการรับการลงทุนที่พบว่า FDI ขยายตัวสูงถึง 52% ในช่วงปี 2017-2021 เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนหน้า ขณะที่ FDI โลกที่หดตัว 15% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีหลายประเทศเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้นทั้งจากเกาหลีใต้ที่เป็นนักลงทุนหลัก รวมถึงญี่ปุ่น จีน และไทย

 

 

รูปที่ 2

ความสำคัญของประเทศ 20 อันดับแรก รวมถึง ASEAN-6 เกาหลีใต้ และไต้หวันในห่วงโซ่การลงทุนโลก จากดัชนี centrality index2

pic 2

2.2 ความเห็นต่างด้านนโยบายการต่างประเทศมีผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศที่จะลงทุนหรือไม่ 

 

จากการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของ global FDI landscape ทำให้เห็นว่าบทบาทของบางประเทศได้เปลี่ยนไปบ้างหลังจากเกิด trade tension แต่อาจยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันหรือไม่ ในส่วนนี้จะศึกษาเพิ่มเติมผ่านการดูโครงสร้างการเกาะกลุ่มการลงทุนของประเทศต่างๆ ว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ รวมถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการลงทุนหรือไม่

 

ในการดูโครงสร้างการเกาะกลุ่มการลงทุน ผู้เขียนจะใช้ network clustering algorithm (Louvain method)3 ในการวิเคราะห์ โดยรูปที่ 3 แสดงจำนวนกลุ่มการลงทุนและจำนวนประเทศในแต่ละกลุ่ม พบว่า ในช่วงปี 2010-2021 หรือแม้แต่หลังปี 2017 ยังไม่มีการแบ่งขั้วในลักษณะ multi-polar ที่ต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านจำนวนกลุ่มและจำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เห็นการเปลี่ยนขั้วของบางประเทศบ้าง เช่น ในปี 2010 ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม อยู่กลุ่มเดียวกับสหรัฐฯ แต่ในปี 2021 ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม เปลี่ยนมาอยู่กลุ่มเดียวกับจีน เนื่องจากมีความใกล้ชิดทางด้านการลงทุนกับจีนมากกว่า แต่สาเหตุของการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนอาจไม่สามารถสรุปได้ว่ามีสาเหตุมาจาก trade tension เพราะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การที่จีนเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ออกไปลงทุนของโลกมากขึ้น

 

 

รูปที่ 3

จำนวน cluster การลงทุน และจำนวนสมาชิกเฉลี่ยในแต่ละ cluster (ปี 2010 – 2021) และตัวอย่าง cluster สหรัฐฯ และจีนในปี 2021

picture 3

หมายเหตุ: community detection คำนวณจาก modularity maximization โดยใช้ Louvain algorithm (resolution parameter = 1.0) ซึ่งแบ่ง cluster จากธุรกรรมการลงทุนที่ภายในกลุ่มเดียวกันควรมีธุรกรรมด้วยกันมากตามไปด้วย
[……] แสดงจำนวนประเทศในแต่ละปี

ที่มา: CDIS, IMF คำนวณโดยผู้เขียน

 

นอกจากนี้ ความเห็นต่างทางการเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ FDI ระหว่างกันอย่างมีนัย โดยการศึกษานี้ได้วิเคราะห์ผลของความแตกต่างของจุดยืนทางการเมือง (political stance) ต่อ FDI ระหว่างกัน โดยวัดความต่างของจุดยืนทางการเมืองผ่าน Ideal Point Distance index (IPD) จากข้อมูลการโหวตในสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) และแบ่งประเทศสมาชิก UN เป็น 5 กลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของ FDI ในแต่ละกลุ่ม (quintile) โดย quintile ที่ 1 เป็นกลุ่มที่ประเทศผู้รับการลงทุน (beneficiary country) มีแนวคิดทางนโยบายต่างประเทศคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับประเทศผู้ลงทุน (source country) ที่สุด ขณะที่ quintile ที่ 5 เป็นกลุ่มที่ประเทศผู้รับการลงทุนและผู้ลงทุนมีแนวคิดทางนโยบายต่างกันมากที่สุด ตามรูปที่ 4 ซึ่งพบว่า สำหรับประเทศผู้ลงทุน มูลค่าการออกไปลงทุนในประเทศหนึ่งๆ ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความแตกต่างทางแนวคิดทางการเมือง และสำหรับผู้รับการลงทุน แม้ประเทศส่วนใหญ่จะพึ่งพาการลงทุนจากประเทศที่มีแนวคิดทางการเมืองค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่ไม่เสมอไป และไม่สามารถสรุปได้ว่าจะได้รับการลงทุนจากประเทศที่มีแนวคิดทางการเมืองต่างกันลดลง เช่นในกรณีของอินโดนีเซียที่รับเม็ดเงินลงทุนจากประเทศที่ไม่ได้มีแนวนโยบายเหมือนกับตนเองมากนักตลอดช่วงที่วิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2015 เช่นเดียวกับอินเดีย จีน และมาเลเซีย ที่ในระยะหลังมีสัดส่วนการลงทุนจากประเทศที่มีแนวคิดต่างจากตนเองมากขึ้น สะท้อนว่าปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะด้านจุดยืนทางการเมืองไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่กำหนดการลงทุนต่างประเทศ แต่เป็นผลจากปัจจัยอื่นมากกว่า สอดคล้องกับงานศึกษาเชิงประจักษ์ของ IMF (2023) ที่พบว่า ความแตกต่างกันทางแนวคิดทางการเมืองมีผลลบจำกัดวงอยู่ในเฉพาะ strategic sectors เท่านั้น

 

รูปที่ 4

ความสัมพันธ์ของ FDI กับนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ

 

(i) การลงทุน FDI ของผู้ลงทุนแบ่งตามความใกล้เคียง/ต่างกันของนโยบายฯ

picture 4 1

(ii) การรับการลงทุน FDI ของแต่ละประเทศจากประเทศที่นโยบายฯ ใกล้เคียง/ต่างกัน

Picture 4 2

หมายเหตุ: (i) อ้างอิงวิธีการจัดกลุ่มตามความคล้ายคลึงกันของนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของประเทศผู้รับการลงทุนและประเทศผู้ลงทุน ตามวิธีของ IMF (2023) โดยแบ่งเป็น 5 quintile ได้แก่ 1 หมายถึง คล้ายคลึงมากที่สุด และ 5 หมายถึง คล้ายคลึงน้อยที่สุด โดยใช้ Ideal Point Distance (IPD) ซึ่งแสดง ความแตกต่างทางด้านนโยบายต่างประเทศระหว่างผู้รับการลงทุนและประเทศผู้ลงทุน จากนั้นคำนวณระดับความสัมพันธ์เฉลี่ยทางด้านการลงทุนของประเทศผู้รับการลงทุนจากแต่ละประเทศผู้ลงทุนในแต่ละปีเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก  และผู้เขียนจัดกลุ่มค่าการเปลี่ยนแปลง (∆Q) ในช่วงปี 2015-2021 เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ คล้ายคลึงมากขึ้น (∆Q < -0.5), ใกล้เคียงเดิม (-0.5 ≤ ∆Q ≤ 0.5) และคล้ายคลึงน้อยลง (∆Q > 0.5)
(ii) ค่าเฉลี่ยของ direct investment stock คำนวณจากมูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศผู้รับการลงทุนและประเทศผู้ลงทุนในช่วงปี 2015-2021 จำนวน 4,399 คู่ โดยใช้ Compound Annual Growth Rate (CAGR) ขณะที่ quintile ของ geopolitical distance ในแต่ละคู่ประเทศ ใช้ค่า median IPD quintile ในมุมมองของประเทศผู้ลงทุนในปี 2015 และ 2021

ที่มา: CDIS, IMF คำนวณโดยผู้เขียน 

 

2.3 ไทยและอาเซียนได้รับ FDI เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนหลังเกิด geopolitical tension ในปี 2017

 

แม้ในภาพรวม geopolitical tension ยังไม่ส่งผลกระทบต่อ global FDI landscape อย่างมีนัย แต่เห็นการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการลงทุนของประเทศคู่กรณีอย่างสหรัฐฯ และจีน และอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่ได้ประโยชน์จาก investment diversion โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • จีนลดการลงทุนในสหรัฐฯ และหันไปลงทุนประเทศอื่นแทน เช่น อาเซียน และยุโรป แต่สหรัฐฯ ยังไม่ได้ลดการลงทุนในจีน (รูปที่ 5) โดยนับตั้งแต่ปี 2017 มูลค่าการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ลดลงจากมูลค่าเฉลี่ยปี 2011-2016 ที่ 7.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 6.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2017-2022 หรือลดลง 13.5% โดยสาขาที่การลงทุนหดตัวมากที่สุดเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (information transmission, software and information technology services)4 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าหลักในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยมีประเทศที่จีนลงทุนเพิ่มขึ้น อาทิ ฮ่องกง อาเซียน ยุโรป และประเทศในอเมริกาใต้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สำหรับสหรัฐฯ ยังไม่ได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในจีนอย่างมีนัย แต่การลงทุนต่างประเทศของสหรัฐฯ ลดลงค่อนข้าง broad-based
  • อิเล็กทรอนิกส์เป็น sector หลักใน US-China trade tension ทำให้เกิดการย้ายการลงทุนของประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสำคัญของโลกอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันที่ลดการพึ่งพาจีนและหันไปลงทุนในประเทศอื่นมากขึ้น (รูปที่ 5) โดยมูลค่าการลงทุนในจีนของไต้หวันลดลงจากมูลค่าเฉลี่ย 11.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2010-2016 เหลือ 6.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2017-2023 และเกิด investment diversion ไปประเทศอื่นแทน อาทิ สหรัฐฯ อาเซียน และยุโรป ขณะที่มูลค่าการลงทุนของเกาหลีใต้ในจีนแม้จะยังเพิ่มขึ้นจากมูลค่าเฉลี่ยที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2010-2016 เป็น 5.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2017-2023  แต่เกาหลีใต้พึ่งพาจีนลดลง สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนในจีนของเกาหลีใต้ที่ลดลงจาก 12.3% เหลือ 8.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับ investment diversion จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ไทยได้รับผลดีน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดย FDI เข้าอาเซียนในช่วงปี 2017-2022 เพิ่มขึ้นประมาณ 50% เมื่อเทียบกับมูลค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2011-2016 ขณะที่ FDI โลกหดตัว 15.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดย FDI ที่เข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นจากมูลค่าเฉลี่ยที่ 9.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2011-2016 เป็น 15.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปี 2017-2023  อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 16.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 21.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ไทยได้รับ FDI ลดลงจาก 8.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 7.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมาเลเซียลดลงจาก 11.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 9.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

 

รูปที่ 5

Outward FDI ไปจีนของประเทศ/เขตเศรษฐกิจต่างๆ

picture 5

หมายเหตุ: ข้อมูลของไต้หวันเป็น Approved Outward Investment

ที่มา: CEIC คำนวณโดยผู้เขียน

3. ทำไมไทยได้ประโยชน์จาก investment diversion น้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

 

จากสองบทข้างต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ไทยจะยังสามารถรักษาความสำคัญของการเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การลงทุนของโลกได้ แต่ในแง่พัฒนาการถือว่ายังเปลี่ยนแปลงน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แม้จะมีผลบวกจาก investment diversion โดยเฉพาะใน strategic sectors ที่ประเทศในอาเซียนน่าจะได้รับประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ เนื้อหาในส่วนนี้จะเปรียบเทียบปัจจัยดึงดูดการลงทุนของไทยกับมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซียใน 3 ด้านหลัก คือ ผลตอบแทนการลงทุน ปัจจัยพื้นฐาน และความสามารถในการแข่งขันรายอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนว่า เหตุใด FDI ที่เข้าไทยจึงน้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่งพบว่า ปัจจัยดึงดูดการลงทุนของไทยน่าสนใจน้อยกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะด้านผลตอบแทนการลงทุนจากต่างประเทศและปัจจัยพื้นฐาน

 

(1) ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (return on FDI) ของไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น โดยในปี 2023 ผลตอบแทนการลงทุนฯ ของไทยอยู่ที่ 4.5% ลดลงจาก 7.9% ในปี 2014 และต่ำกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ที่ 8.5% และ 8.3% ตามลำดับ (รูปที่ 6)

 

(2) ปัจจัยพื้นฐานส่วนใหญ่ของไทยน่าดึงดูดน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยที่ดีกว่าประเทศอื่น (รูปที่ 7) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ด้านแรงงาน ต้นทุนแรงงานของไทยสูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ใกล้เคียงกับมาเลเซียที่มีคุณภาพแรงงานดีกว่า อีกทั้งในระยะถัดไป ไทยมีข้อจำกัดด้านแรงงานมากกว่าประเทศอื่นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เร็วกว่า โดยต้นทุนแรงงานของไทยที่พิจารณาจากค่าแรงรายวันขั้นต่ำและจำนวนเดือนที่ต้องจ่ายค่าชดเชยสูงกว่าประเทศอื่น และหากพิจารณาเฉพาะค่าแรงรายวันขั้นต่ำถือว่าใกล้เคียงกับมาเลเซีย  ส่วนเวียดนามมีต้นทุนแรงงานต่ำสุด ขณะที่คุณภาพแรงงานของไทยที่สะท้อนจากเครื่องชี้ทักษะแรงงาน (ตัวชี้วัดด้าน technical skills จาก global talent competitiveness) ผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) และคะแนนการสอบวัดผลสากล (PISA score) ไม่ได้ดีกว่าเวียดนามมากนัก และยังต่ำกว่ามาเลเซียที่มีต้นทุนแรงงานใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ไทยยังมีข้อจำกัดด้านแรงงานสะท้อนจากสัดส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรทั้งหมดที่ปัจจุบันต่ำกว่าประเทศอื่น และข้อจำกัดดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นจากอัตราการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้สูงวัยต่อวัยแรงงานในช่วง 10 ปีข้างหน้าที่เร็วกว่าประเทศอื่น

ด้านสถาบัน ซึ่งพิจารณาจากอุปสรรคทางด้านกฎหมายต่อการลงทุน และคุณภาพสถาบันที่จะเอื้อต่อการลงทุน พบว่า ไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับ 3 จาก 4 ประเทศ ทั้งสองด้าน โดยอุปสรรคด้านกฎหมายซึ่งพิจารณาจากดัชนีชี้วัดข้อจำกัดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI regulatory restrictiveness index) พบว่า เวียดนามมีอุปสรรคน้อยที่สุด ขณะที่คุณภาพสถาบันซึ่งประเมินจากความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและความโปร่งใสของสถาบันในประเทศ พบว่า มาเลเซียดีที่สุดใน 4 ประเทศ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยที่ไทยมีข้อได้เปรียบมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งในด้านการขนส่งที่สะท้อนจากดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (logistics performance index: LPI) และความเสถียรของไฟฟ้า (SAIDI)5 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการตั้งโรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องเดินเครื่องจักรหรือควบคุมอุณหภูมิในการผลิตตลอดเวลา เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร เป็นต้น

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า แม้ไทยจะมีข้อดีจากความใกล้ชิดกับทั้งสหรัฐฯ และจีน (พิจารณาจากความสัมพันธ์เชิง geopolitics) แต่การมี free trade agreement (FTA) ที่น้อยกว่า ทำให้ไทยเสียเปรียบในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยไทยมี FTA กับประเทศต่างๆ เพียง 18 ประเทศ น้อยกว่าเวียดนามที่มีสูงถึง 53 ประเทศ โดยจุดต่างสำคัญ คือ การที่เวียดนามมี FTA กับสหภาพยุโรป ทำให้การเข้าไปลงทุนและส่งออกสินค้าจากเวียดนามได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ดีกว่าไทย สำหรับอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีจำนวน FTA สูง ส่วนหนึ่งเป็น FTA กับกลุ่มประเทศอิสลาม (Islamic countries)

 

รูปที่ 6

เปรียบเทียบผลตอบแทนจาก FDI

picture 6

หมายเหตุ: Return on FDI = Primary income payment on Direct investment debit/FDI

ที่มา: IMF คำนวณโดยผู้เขียน

 

รูปที่ 7

เปรียบเทียบปัจจัยพื้นฐานในการดึงดูด FDI ด้านต่างๆ

Picture 7

หมายเหตุ: *แบ่งตาม Quintine โดย Q1 = ใกล้เคียงมากที่สุด และ Q5 = ใกล้เคียงน้อยที่สุด 

ที่มา ILO, INSEAD, OECD, UN world population prospects, World Bank, WEF, S&P และ Bailey (2017)
คำนวณโดยผู้เขียน

 

 

(3) ด้านการมีห่วงโซ่การผลิตที่แข็งแกร่งในประเทศ

การมีห่วงโซ่การผลิตที่แข็งแกร่งอาจเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการดึงดูด FDI เช่นกัน โดยการศึกษานี้จะพิจารณาจาก (1) ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้า (revealed comparative advantage: RCA) และ (2) สัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศต่อมูลค่าการส่งออก (domestic value-added in export: DVA) (รูปที่ 8) พบว่า ไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง จากความพร้อมด้านวัตถุดิบ รวมถึงการผลิตยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (HDD และ PCBs) จากการมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนเกิดห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร ขณะที่มาเลเซียมีความโดดเด่นในการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (integrated circuit: IC) จากการตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก สำหรับเวียดนามมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์สื่อสารและส่วนประกอบคอมพิวเตอร์อื่น ส่วนหนึ่งจากการเข้าไปลงทุนของเกาหลีใต้ และอินโดนีเซียมีความถนัดในการผลิตผลิตภัณฑ์จากสินแร่และโลหะ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรแร่อุดมสมบูรณ์

 

ความได้เปรียบของอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศนี้สอดคล้องกับสาขาที่ FDI เข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ จะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 2013-2023 FDI ของมาเลเซียกระจุกตัวในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมาเลเซียประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ผลิตชิปรายใหญ่ อาทิ Intel และ AT&S เข้ามาลงทุน (ปี 2021) FDI ของอินโดนีเซียกระจุกตัวในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโลหะ สอดคล้องกับข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบในประเทศ ขณะที่ FDI ของไทยค่อนข้างกระจายตัว เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญหนึ่งของโลก โดยเฉพาะบริษัทจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบ (รูปที่ 9) อีกทั้งในระยะถัดไป การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากยอดการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไปได้ (รูปที่ 10)

 

รูปที่ 8

เปรียบเทียบความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตในประเทศของอุตสาหกรรมต่างๆ

 

(i) ด้านส่วนแบ่งในตลาดโลก

Picture 8 1

(ii) ด้านมูลค่าเพิ่มของการผลิตในประเทศในมูลค่าส่งออกโลก

Picture 8 2

รูปที่ 9

เปรียบเทียบ FDI รายสาขาของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

Picture 9

รูปที่ 10

มูลค่าเงินลงทุนของโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รายสาขา

Picture 10

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (2566)

4. เศรษฐกิจไทยได้อะไรจาก FDI ที่ผ่านมา

 

จากบทที่ผ่านมาพบว่า บทบาทของไทยในห่วงโซ่การลงทุนโลกหลังเกิด trade tension ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก และไทยได้ประโยชน์จาก investment diversion น้อยกว่าประเทศในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งจากปัจจัยดึงดูดการลงทุนของไทยที่น่าสนใจน้อยกว่าประเทศอื่น ในบทสุดท้ายนี้ จะเป็นการย้อนดูว่า FDI ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและเปลี่ยนการมีส่วนร่วมของไทยในห่วงโซ่การผลิตโลกอย่างไรบ้าง เพราะการดึงดูด FDI เป็นแนวนโยบายเศรษฐกิจสำคัญแนวทางหนึ่งที่ประเทศต่างๆ ใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจ ผ่านการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับในกรณีของไทย พบว่า FDI ที่ผ่านมาช่วยขยายกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยและทำให้มีส่วนเกินสำหรับส่งออก แต่ระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลก (global value chain: GVC) และตำแหน่งในห่วงโซ่การผลิตโลกของไทยไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก โดยไทยยังเป็นผู้ผลิตปลายน้ำ (downstream) จากข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างประเทศ (inter-country input-output: ICIO) ของ OECD ในช่วงปี 2010-2018 แสดงให้เห็นว่าระดับการผลิตของอุตสาหกรรมที่มี FDI เข้ามาลงทุนสูงในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวต่อเนื่องจนเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศและมีเหลือเพื่อส่งออก สะท้อนจากอัตราการพึ่งพาตนเอง (self-sufficiency ratio) ที่มากกว่า 100% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (รูปที่ 11)

 

สำหรับบทบาทใน GVC ของภาคการผลิตไทย (รูปที่ 12) พบว่า ไทยยังเป็นผู้ผลิตปลายน้ำทั้งในภาพรวมและรายอุตสาหกรรม สะท้อนจาก GVC positioning6 ภาคอุตสาหกรรมในปี 2018 ที่ยังต่ำกว่าศูนย์ ซึ่งสะท้อนการเป็นผู้ผลิตปลายน้ำ โดยอยู่ที่ -0.28 ใกล้เคียงกับปี 2010 ที่ -0.32 และ GVC positioning ของอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยในปี 2018 ไม่ได้ต่างจากปี 2010 อย่างมีนัยเช่นกัน อีกทั้งการมีส่วนร่วมใน GVC ของไทยถดถอยลงทั้งในภาพรวมและรายอุตสาหกรรม โดย GVC participation rate ปี 2018 อยู่ที่ 47.7% ลดลงจากปี 2010 ที่ 52.9% เป็นการลดลงจากสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากประเทศอื่นสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก (foreign value-added: FVA หรือ backward participation) ที่ลดลง ซึ่งอาจถือเป็นเรื่องที่ดีที่ไทยพึ่งพามูลค่าเพิ่มจากในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศของไทยในการส่งออกของประเทศอื่นลดลงด้วยเช่นกัน (forward participation) ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก                                            

รูปที่ 11

ความเพียงพอของการผลิตในประเทศของอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย (Self-sufficiency ratio)

Picture 11

รูปที่ 12

การมีส่วนร่วมและตำแหน่งของอุตสาหกรรมของไทยในห่วงโซ่การผลิตโลก

Picture 12

หมายเหตุ: Change คือ การเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2010-2018

  1. GVC Participation = Backward + Forward
  2. GVC Positioning = In(1+(DVX/Total Exports)) - In(1+(FVA/Total Exports))
    หาก > 0 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) และ
    หาก < 0 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream) และ
  3. ขนาดวงกลม = GVC Participation rate

ที่มา: ICIO, OECD คำนวณโดยผู้เขียน

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

 

Geopolitical tension ที่รุนแรงขึ้นไม่ได้ทำให้ global FDI landscape ภาพรวมเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย โดยสหรัฐฯ และจีนยังเป็นประเทศที่มีบทบาทหลักทั้งในฐานะการเป็นผู้ออกไปลงทุนและการเป็นผู้รับการลงทุน รวมถึงความแตกต่างของจุดยืนทางการเมืองไม่ได้มีนัยต่อ FDI ระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ และจีนทำให้เกิดการปรับตัวของการลงทุนระหว่างประเทศบ้าง โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักจากความขัดแย้งดังกล่าว โดยจีนได้ลดสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐฯ และหันไปลงทุนในประเทศอื่นโดยเฉพาะอาเซียนแทน และประเทศที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีอย่างเกาหลีใต้และไต้หวันก็ปรับตัวด้วยการลดการลงทุนในจีนเช่นเดียวกัน โดยหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์ คือ อาเซียน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับฐานการผลิตในจีนค่อนข้างสูง แต่สำหรับไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว หลังเกิด trade tension ในปี 2017 ได้รับ FDI น้อยกว่า

 

ไทยได้ประโยชน์จาก trade tension ผ่าน FDI น้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ส่วนหนึ่งจากความน่าสนใจในการเข้าลงทุนในไทยที่น้อยกว่า โดยเฉพาะจากผลตอบแทนการลงทุนและปัจจัยพื้นฐานที่ไทยน่าดึงดูดน้อยกว่าประเทศอื่นในเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไทยอาจมีความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตในประเทศในบางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร ซึ่งช่วยดึงดูด FDI เหล่านี้เข้ามาได้

 

นอกจากประเด็นเรื่องความน่าดึงดูดที่น้อยกว่าแล้ว FDI ที่เข้าไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงการมีส่วนร่วมและตำแหน่งของไทยในห่วงโซ่การผลิตโลกอย่างมีนัย โดยไทยยังเป็นผู้ผลิตปลายน้ำ แม้ FDI จะช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถส่งออกได้มากขึ้น

 

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่เกี่ยวกับภาษีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ขยายตัวขึ้นสูงมาก อย่างไรก็ดี เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จาก investment diversion มากขึ้น ไทยอาจจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดึงดูด FDI ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ FDI ที่เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านศูนย์ทดสอบ/รับรองมาตรฐานสินค้าตามมาตรฐานสากล การพัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานและการใช้เทคโนโลยี การพัฒนา ecosystem ให้สอดคล้องกับระเบียบการค้าโลกใหม่ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีระบบติดตามผลการลงทุนทั้งในด้านการดึงดูด FDI และการสร้าง spillover จาก FDI เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และที่สำคัญแนวนโยบายต่างๆ ควรเป็นแบบเชิงรุกและมีการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ investment diversion ในช่วง geopolitical tension ช่วยให้ไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโตของประเทศได้อย่างแท้จริง

End Notes

1 วัดจาก Katz centrality index ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดอิทธิพลของ node ใน network โดยวัดความเชื่อมโยงกับ node คู่อื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

formula 1

โดยที่ A คือ adjacent matrix

2 เนื่องจากมีหลายเครื่องชี้ในกลุ่ม centrality index โดยแต่ละเครื่องชี้ต่างให้นิยามกับความสำคัญของแต่ละ node ในบริบทที่ต่างกัน อาทิ ขนาดเส้นเชื่อม จำนวนเส้นเชื่อมหรือระยะทางที่สั้นที่สุดระหว่างคู่ node เป็นต้น โดยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าดัชนีตัวใดจะมีความแม่นยำมากที่สุด อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ มักจะดูหลายเครื่องชี้ประกอบกันเพื่อหาข้อสรุปร่วม สำหรับในงานเขียนนี้ ผู้เขียนเลือกใช้ Weighted degrees ซึ่งการพิจารณาภาพรวมการมีบทบาทในห่วงโซ่การลงทุนโลกในรูปที่ (i) และใช้ดัชนี PageRank สำหรับการพิจารณาบทบาทในแต่ละขาการลงทุนในรูปที่ (ii) และ (iii) เพราะที่นอกจากจะคำนวณจากปริมาณธุรกรรมแล้วยังพิจารณาถึงการเชื่อมต่อไปยัง nodes อื่นๆ ด้วย เนื่องจากสามารถแยกความสำคัญของ node ในการลงทุนในแต่ละขาได้

 

3 Louvain method เป็นอัลกอริทึมที่ใช้ค้นหา cluster ใน network โดยพยายามจัดกลุ่ม community ที่ให้ค่า modularity

formula 2

สูงที่สุด

 

4 สาขาที่การลงทุนปรับลดลงรองลงมาอีก 2 อันดับ ได้แก่ real estates และ leasing and commercial service

 

5 System Average Interruption Duration Index (SAIDI) คือ ค่าดัชนีระยะเวลาไฟดับเฉลี่ยที่กระทบต่อผู้ใช้ไฟ 1 ราย ในแต่ละปี มีหน่วยเป็นนาที/ราย/ปี

 

6 GVC Positioning = In(1+(DVX/Total Exports)) - In(1+(FVA/Total Exports))

Bibliography
 

Adarov, A. (2021). Interactions between global value chains and foreign direct investment: A network approach. No. 204. wiiw Working Paper.

 

Adarov, A. a. (2021). Implications of foreign direct investment, capital formation and its structure for global value chains. The World Economy 44.11, 3246-3299.

 

Bailey, M. A. (2017). Estimating dynamic state preferences from United Nations voting data. Journal of Conflict Resolution 61.2, 430-456.

 

IMF. (2023). Chapter 4 Geoeconomic Fragmentation and Foreign Direct Investment. Washington, D.C.: World Economic Outlook, April 2023: A Rocky Recovery.

 

Lai, L. Q. (2022). APEC Policy Brief. The FDI Network, Global Value Chain Participation and Economic Upgrading. No. 46.

ผู้เขียนขอขอบคุณผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่องานศึกษาครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณนฤมล พูลภักดี คุณปัณฑา อภัยทาน  และคุณธิติ เกตุพิทยา สำหรับการให้คำปรึกษา ตลอดจนทีม Editor คุณทศพล อภัยทาน สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และช่วยให้งานศึกษาครั้งนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ผู้เขียน

Rattasat Nudam

รัฐศาสตร์ หนูดำ (rattasan@bot.or.th)

 

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส (ควบ) ฝ่ายบริหารเงินสำรอง มีประสบการณ์ที่หลากหลายในด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การบริหารเงินสำรอง การวิเคราะห์ดุลชำระเงิน ตลอดจนการติดตามเสถียรภาพระบบการเงิน

Pisacha Kambuya

พิสชา คำบุยา (pisachak@bot.or.th)

 

เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ปัจจุบันมีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทาน อาทิ ภาคอุตสาหกรรมและตลาดน้ำมันดิบโลก

Warittha Prajongkarn

วริษฐา ประจงการ (waritthp@bot.or.th)

 

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน มีประสบการณ์การวิเคราะห์และติดตามด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ ดุลการชำระเงิน ตลาดแรงงาน และภาคเกษตร

Disclaimer: 

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง 

 

Tags:  

การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ, ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์, ห่วงโซ่การผลิตโลก, ภาคการผลิตของไทย

 

Economic Pulse เป็นบทความวิชาการขนาดสั้นโดยบุคลากรของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนองานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงินหรือด้านนโยบาย เพื่อสื่อสารต่อสาธารณชน นักวิชาการ และนักวิเคราะห์