โอกาส ศักยภาพ อนาคต ธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือ

ธนพร ตั้งตระกูล I ณัฏฐภัทร์ ศุภเศรษฐสิริ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ I อนงค์นาฏ ปัญญาเจริญ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

03 พ.ย. 2567

บทสรุปผู้บริหาร

ธุรกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของธุรกิจดิจิทัลในภาคเหนือเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนถึงศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ทั้งนี้ ธุรกิจดิจิทัลไม่เพียงแต่เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเอง แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจด้วย ทั้งด้านเทคโนโลยีสุขภาพ ยานยนต์ โทรคมนาคม การขนส่ง และการเงิน ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาโดยใช้ดิจิทัลเป็นแกนหลักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างรอบด้าน โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทุกภาคส่วน การสร้างนวัตกรรมและธุรกิจดิจิทัล การพัฒนาทักษะและบุคลากร รวมทั้งการกำหนดกฎหมายและมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม 

 

สำหรับภาคเหนือมีทั้งโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญรองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในแง่ของโอกาส ธุรกิจดิจิทัลในภาคเหนือมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะในหมวด Software และ Digital Service ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสู่การเป็น smart city ในหลายจังหวัด นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีศักยภาพสูงในการสร้างมูลค่าเพิ่มในหมวด Software และ Digital Content & Service โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มต่อรายได้สูงถึง 50-60%

 

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ชี้ว่า ธุรกิจดิจิทัลในภาคเหนือเผชิญความท้าทายหลายด้าน อาทิ การขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ การรับรู้การมีอยู่ของธุรกิจดิจิทัลในพื้นที่ การมองว่าดิจิทัลเป็นต้นทุนมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ความสามารถในการปรับหลักสูตรของสถาบันการศึกษาและการเชื่อมโยงความต้องการของผู้ว่าจ้างยังมีอยู่จำกัด โดยธุรกิจในพื้นที่มองว่า ควรเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือและการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐในการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ ตลอดจนสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของการนำดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจ 

 

จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะในการทำพื้นที่ทดลอง (Sandbox) 2 เรื่อง ได้แก่ 1) Digital nomad ที่จะช่วยดึงดูดผู้มีทักษะและความสามารถจากต่างประเทศให้เข้ามาในพื้นที่ และ 2) Digital manpower hub ที่มุ่งสร้างความเชื่อมโยงของธุรกิจดิจิทัลตลอด supply chain ตั้งแต่การสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล การ up-skill & re-skill ที่จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงและเท่าทันต่อความต้องการของตลาด ตลอดจนการทำ business matching ที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้ศักยภาพของธุรกิจในพื้นที่ การเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน ผ่านกลไกการจัดงานแสดงนวัตกรรมและพบปะธุรกิจดิจิทัล ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรดิจิทัลในพื้นที่ ภายใต้ชื่อ NorthTech Fair และแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Digi Hub ซึ่งทั้ง 2 Sandbox นี้จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มพูนความรู้และเพิ่มจำนวนบุคลากรดิจิทัลในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาหลักในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

digital-1


Disclaimer: งานศึกษานี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย