โครงการนำร่อง เสริมศักยภาพ SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ
ปราณี จิระกิตติเจริญ I ศรันยา อิรนพไพบูลย์ I เบญจมาภรณ์ อมรเลิศพานิช ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
12 ธ.ค. 2567
SMEs 99.7% ในภาคเหนือเป็นธุรกิจขนาดไมโครและเล็ก โดยธุรกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยเงินทุนตัวเองและเครดิตการค้าในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมีความสามารถในการเพิ่มรายได้ที่จำกัด รวมทั้ง ความสามารถทำกำไรและชำระหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ส่งผลให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก และมีต้นทุนดอกเบี้ยสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) จึงได้จัดทำงานศึกษาเพื่อเจาะลึกถึงสาเหตุที่ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก และสนับสนุนเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด
โดยงานศึกษานี้ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการ SMEs ใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา) พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง SMEs ถึง 47% ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อ โดยกลุ่มนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ (1) กลุ่มไม่รู้ เช่น ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคุยกับสถาบันการเงิน (สง.) อย่างไร และไม่รู้จักผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (2) กลุ่มไม่แน่ใจ เช่น คิดว่าตัวเองอาจจะไม่มีคุณสมบัติพอที่จะกู้ได้ และ (3) กลุ่มถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อ เนื่องจากมีประวัติค้างชำระ หรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้
อย่างไรก็ดี กลุ่ม SMEs ที่มีการเสริมความรู้ทางการเงินที่ตรงจุด ก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งงานศึกษานี้ได้นำเสนอ 3 ตัวช่วยสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ได้แก่ (1) แบบทดสอบตนเองในการประเมินโอกาสในการขอกู้ (2) ศูนย์รวบรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับ SMEs และ (3) ศูนย์รวบรวมเครื่องมือด้านการเงิน
สิ่งที่ ธปท. สภน. จะดำเนินการต่อไป คือ คลินิกเสริมแกร่งการเงิน SMEs ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองเชิงปฏิบัติการ โดยได้รับความร่วมมือจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และพันธมิตร สง. ทั้งนี้ SMEs ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจะได้รู้จักตนเองผ่านการทำแบบทดสอบประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นในการขอกู้ โดย SMEs กลุ่มที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ จะได้รู้จักจุดอ่อนและแนวทางการพัฒนาด้านการเงินธุรกิจให้ตรงจุด ส่วนกลุ่มที่ผ่านคุณสมบัติ ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับ สง. ได้เช่นกัน ซึ่งหากมีความพร้อมก็จะได้รับสินเชื่อ แต่หากยังไม่มีความพร้อมก็จะต้องพัฒนาปิดจุดอ่อนก่อนกลับไปยื่นขอสินเชื่อใหม่ โดย SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเสริมทักษะต่าง ๆ ที่ทาง ธปท. สภน. ได้รวบรวมลิงก์ไว้ให้ รวมทั้ง สามารถขอคำปรึกษาได้ฟรีจาก F.A. Center ของ บสย. และหมอหนี้ ของ ธปท. ก่อนเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับ สง.
Disclaimer: งานศึกษานี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย