สัมมนาวิชาการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2558
เรื่อง “อนาคตเศรษฐกิจอีสาน ภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลก และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ”
11 ก.ย. 2558
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2558 “อนาคตเศรษฐกิจอีสาน ภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลก และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ” ในวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2558 เวลา 13.30-16.30 น. ณ ห้องออคิดบอลรูม โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะจากภาครัฐและภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง และทิศทางของเศรษฐกิจอีสานภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย กับความท้าทายนโยบายการเงินอนาคต"
กำหนดการ | |
13.10 น. | การกล่าวเปิดการสัมมนา และแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย กับความท้าทายนโยบายการเงินในอนาคต” โดย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย |
14.15 น. | เสวนา “อนาคตเศรษฐกิจอีสาน ภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลก และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย - ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการ ส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |
ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากพื้นฐานที่มั่นคง แต่มีแนวโน้มเติบโตต่ำจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภูมิภาค โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำตามความต้องการที่ลดลงทั่วโลก และส่งผลอย่างมากกับเศรษฐกิจภาคอีสานซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรหลักของไทย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายที่ต้องเผชิญจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลง ประเทศไทยยังมีจุดสว่างที่จะสร้างโอกาสทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจภาคอีสานที่ยังคงขยายตัวได้ดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย
สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคอีสานให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพของไทย และเพื่อเป็น Bio based economy รวมทั้งการบูรณาการด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำและชลประทาน ตลอดจนหาวิธีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด โดยการบริหารจัดการน้ำในแต่ละจังหวัดเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในภาคฯ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการเกษตรพร้อมทั้งเพิ่มองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ให้มากขึ้นรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและลดอุปสรรคด้านการค้าการลงทุน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่กับประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน และจีนตอนใต้ในอนาคตต่อไป
ดังนั้น การประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น และส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนเอกชนไทยที่มีความเชี่ยวชาญและมีจุดแข็งที่โดดเด่นในการดำเนินกิจการไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
.