สรุปช่วงสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หัวข้อ "ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม"

 

มุมมองภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจภาคอีสาน

เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่ากับ 1.6% ปี 2565 และ 2566 คาดว่าขยายตัว 3% และ 4% ตามลำดับ เป็นการฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 1 และ 2 ปี 2565 ขยายตัวเท่ากับ 3.5% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ดีขึ้น มองไปข้างหน้า ภาคการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 0.4 ล้านคนในปี 2564 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 ล้านคน จะช่วยกระตุ้น GDP ให้ขยายตัว 0.4% ทำให้แรงส่งที่จะพยุงเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง

 

เศรษฐกิจภาคอีสานถูกกระทบน้อยกว่าประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเท่ากับ -6.2% ภาคอีสาน -1.4% เนื่องจากภาคอีสานพึ่งพาการท่องเที่ยวน้อยกว่า ดังนั้น ช่วงที่เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว แรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีสานอาจจะน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การที่โครงสร้างเศรษฐกิจอีสานยึดโยงกับภาคเกษตรสูง โดยมีแรงงานถึง 50% ทำงานในภาคเกษตร ซึ่งในจำนวนนี้ 70% อิงกับการเพาะปลูกข้าว คาดว่าน่าจะได้แรงสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่ช่วงหลังเติบโตได้ดี นอกจากนี้ แรงงานอีก 40% ที่ทำงานในภาคการค้าและบริการ จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ยังคงมีแรงงานอีสานคืนถิ่นจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดหัวเมืองหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อน COVID-19

การดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้โจทย์ใหญ่เรื่องเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ปี 2565 คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% และจะแตะระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost-push inflation) ก่อนที่จะปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายในกลางปี 2566 โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย มาจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเด็นที่ ธปท. จะต้องดูแลคือระมัดระวังไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อในประเทศติด และไม่ให้ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation) เกินกรอบเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะราคาสินค้าเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเกิด Wage-price spiral ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก (1) แรงงานไทยเกือบครึ่งหนึ่งประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างประจำ (2) สัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานเทียบกับต้นทุนการผลิตโดยรวมของภาคธุรกิจไม่ได้สูง และ (3) ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กลไกการปรับค่าจ้างอัตโนมัติที่อิงกับอัตราเงินเฟ้อ (Wage indexation)

 

ณ วันนี้ โจทย์ของประเทศไทย คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take-off) เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 และเงินเฟ้อมาจากด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริบทของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเกินกว่าช่วงก่อน COVID-19 และเงินเฟ้อสูงจากด้านอุปสงค์ตามภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรง จึงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้เกิด Soft landing ด้วยบริบททางเศรษฐกิจที่ต่างกัน การดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงมีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ และ ธปท. ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยช้าไป เพราะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวก่อนระดับ COVID-19 ในขณะที่ประเทศอื่น เริ่มขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเท่ากับหรือสูงกว่าระดับก่อน COVID-19 แล้ว    

 

สิ่งที่น่ากังวลกว่าเงินเฟ้อที่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ และต้องจับตามองต่อไป คือ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อรายได้ของกำลังแรงงานถึง 20% และ ความเสี่ยงจากกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ SMEs และครัวเรือนที่มีหนี้สูง

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินจึงต้องเหมาะสมกับบริบทและตรงจุดมากขึ้น ตามการได้รับผลกระทบและการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกัน เช่น มาตรการแก้หนี้ให้ตรงจุด มาตรการเติมสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เพื่อมาดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ที่ยังคงมีผลอยู่ถึงปี 2566 นอกจากนี้ จะมีการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน

มองไปในระยะข้างหน้า ท่ามกลางกระแสความยั่งยืนและดิจิทัลในบริบทของภาคอีสาน

กระแสแรกคือ ความยั่งยืน ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ส่วนใหญ่ (1) พึ่งพาภาคเกษตร สะท้อนจากแรงงานภาคเกษตรที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด และ (2) พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการขนส่งทางอากาศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ขณะที่กฎกติกาการค้าโลกเริ่มให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น หากธุรกิจไม่ปรับตัวอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขัน และสุดท้ายคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากกระแแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ภาคอีสานมีความยึดโยงกับภาคเกษตรสูง ซึ่งถูกกระทบจาก Climate Change และกฎกติกาการค้าโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่ของอีสานเป็นรายย่อยที่มีสายป่านสั้นและมีความสามารถในการปรับตัวต่ำ จึงเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก

 

กระแสที่สองคือ กระแสดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาในภาคอีสานที่เกิดขึ้นอิงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่นำพาความเจริญมาสู่ภูมิภาค เช่น การค้าชายแดนที่เติบโตจากการสร้างสะพานเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนระบบขนส่ง อาทิ รถไฟจีน-ลาวที่คาดว่าจะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานในระยะต่อไป สำหรับกระแสดิจิทัลให้มองเป็นอีกหนี่งโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับคนทั้งประเทศและภาคอีสานในการเข้าถึงโอกาสที่หลากหลาย เช่น การค้าขายออนไลน์ผ่านระบบ E-commerce ระบบการชำระเงินด้วย PromptPay และ QR code เป็นต้น ที่สามารถทำธุรกรรมได้สะดวกผ่าน Mobile banking สอดรับกับบทบาทของภาคการเงินที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่กระแสดิจิทัลจากการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธปท. ได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยระหว่างกัน รวมถึงการพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น โครงการ Prompt biz เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนหลักจากภาคธุรกิจและประชาชน โดยมีภาคการเงินเป็นผู้สนับสนุนเพื่อวางรากฐานและพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม