สัมมนาวิชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 เรื่อง "อีสานพร้อมปรับ...รับกระแสเศรษฐกิจการเงินใหม่"

05 ก.ย. 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

สัมมนาวิชาการ ธปท.สภอ. 2565

กำหนดการ

 กำหนดการ สรุป
09.00 น.

สนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

หัวข้อ “ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
10.00 น.

นำเสนอ “ยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน ด้วยกระแส “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน”

“วิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และโอกาสในการยกระดับศักยภาพจากกระแส “ดิจิทัล” และ “ความยั่งยืน””
โดย คุณพิทูร ชมสุข และ คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
11.00 น. 

เสวนา เรื่อง “ธุรกิจในภูมิภาคจะเดินหน้าต่ออย่างไร”

- ดร. ดี  จันทร์ศุภฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโดรนชุมชน บริษัท นวัตกรรมเพื่อสังคมและเทคโนโลยีเกษตร จำกัด

คุณกมลพงศ์  สงวนตระกูล กรรมการหอการค้าไทย / ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์

ดร. อภิรชัย  วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดำเนินการเสวนา โดย คุณสุภัททกิต เจตทวีกิจ, CFA พิธีกรด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สรุปงานสัมมนาวิชาการ

สรุปช่วงสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หัวข้อ "ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม"

 

มุมมองภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจภาคอีสาน

 

เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่ากับ 1.6% ปี 2565 และ 2566 คาดว่าขยายตัว 3% และ 4% ตามลำดับ เป็นการฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 1 และ 2 ปี 2565 ขยายตัวเท่ากับ 3.5% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ดีขึ้น มองไปข้างหน้า ภาคการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 0.4 ล้านคนในปี 2564 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 ล้านคน จะช่วยกระตุ้น GDP ให้ขยายตัว 0.4% ทำให้แรงส่งที่จะพยุงเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง

 

เศรษฐกิจภาคอีสานถูกกระทบน้อยกว่าประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเท่ากับ -6.2% ภาคอีสาน -1.4% เนื่องจากภาคอีสานพึ่งพาการท่องเที่ยวน้อยกว่า ดังนั้น ช่วงที่เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว แรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีสานอาจจะน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การที่โครงสร้างเศรษฐกิจอีสานยึดโยงกับภาคเกษตรสูง โดยมีแรงงานถึง 50% ทำงานในภาคเกษตร ซึ่งในจำนวนนี้ 70% อิงกับการเพาะปลูกข้าว คาดว่าน่าจะได้แรงสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่ช่วงหลังเติบโตได้ดี นอกจากนี้ แรงงานอีก 40% ที่ทำงานในภาคการค้าและบริการ จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ยังคงมีแรงงานอีสานคืนถิ่นจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดหัวเมืองหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อน COVID-19

สนทนากับผู้ว่าการ

การดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้โจทย์ใหญ่เรื่องเงินเฟ้อ

 

อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ปี 2565 คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% และจะแตะระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost-push inflation) ก่อนที่จะปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายในกลางปี 2566 โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย มาจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเด็นที่ ธปท. จะต้องดูแลคือระมัดระวังไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อในประเทศติด และไม่ให้ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation) เกินกรอบเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะราคาสินค้าเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเกิด Wage-price spiral ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก (1) แรงงานไทยเกือบครึ่งหนึ่งประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างประจำ (2) สัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานเทียบกับต้นทุนการผลิตโดยรวมของภาคธุรกิจไม่ได้สูง และ (3) ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กลไกการปรับค่าจ้างอัตโนมัติที่อิงกับอัตราเงินเฟ้อ (Wage indexation)

 

ณ วันนี้ โจทย์ของประเทศไทย คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด (Smooth take-off) เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 และเงินเฟ้อมาจากด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริบทของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเกินกว่าช่วงก่อน COVID-19 และเงินเฟ้อสูงจากด้านอุปสงค์ตามภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรง จึงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจให้เกิด Soft landing ด้วยบริบททางเศรษฐกิจที่ต่างกัน การดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงมีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ และ ธปท. ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยช้าไป เพราะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวก่อนระดับ COVID-19 ในขณะที่ประเทศอื่น เริ่มขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเท่ากับหรือสูงกว่าระดับก่อน COVID-19 แล้ว    

 

สิ่งที่น่ากังวลกว่าเงินเฟ้อที่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ และต้องจับตามองต่อไป คือ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อรายได้ของกำลังแรงงานถึง 20% และ ความเสี่ยงจากกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ SMEs และครัวเรือนที่มีหนี้สูง

สนทนากับผู้ว่าการ

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินจึงต้องเหมาะสมกับบริบทและตรงจุดมากขึ้น ตามการได้รับผลกระทบและการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกัน เช่น มาตรการแก้หนี้ให้ตรงจุด มาตรการเติมสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เพื่อมาดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ที่ยังคงมีผลอยู่ถึงปี 2566 นอกจากนี้ จะมีการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน

 

มองไปในระยะข้างหน้า ท่ามกลางกระแสความยั่งยืนและดิจิทัลในบริบทของภาคอีสาน

 

กระแสแรกคือ ความยั่งยืน ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ส่วนใหญ่ (1) พึ่งพาภาคเกษตร สะท้อนจากแรงงานภาคเกษตรที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด และ (2) พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการขนส่งทางอากาศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ขณะที่กฎกติกาการค้าโลกเริ่มให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น หากธุรกิจไม่ปรับตัวอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขัน และสุดท้ายคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากกระแแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ภาคอีสานมีความยึดโยงกับภาคเกษตรสูง ซึ่งถูกกระทบจาก Climate Change และกฎกติกาการค้าโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่ของอีสานเป็นรายย่อยที่มีสายป่านสั้นและมีความสามารถในการปรับตัวต่ำ จึงเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก

 

กระแสที่สองคือ กระแสดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาในภาคอีสานที่เกิดขึ้นอิงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่นำพาความเจริญมาสู่ภูมิภาค เช่น การค้าชายแดนที่เติบโตจากการสร้างสะพานเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนระบบขนส่ง อาทิ รถไฟจีน-ลาวที่คาดว่าจะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานในระยะต่อไป สำหรับกระแสดิจิทัลให้มองเป็นอีกหนี่งโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับคนทั้งประเทศและภาคอีสานในการเข้าถึงโอกาสที่หลากหลาย เช่น การค้าขายออนไลน์ผ่านระบบ E-commerce ระบบการชำระเงินด้วย PromptPay และ QR code เป็นต้น ที่สามารถทำธุรกรรมได้สะดวกผ่าน Mobile banking สอดรับกับบทบาทของภาคการเงินที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่กระแสดิจิทัลจากการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธปท. ได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยระหว่างกัน รวมถึงการพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น โครงการ Prompt biz เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนหลักจากภาคธุรกิจและประชาชน โดยมีภาคการเงินเป็นผู้สนับสนุนเพื่อวางรากฐานและพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม

 

 

รับชม Video

ดูทั้งหมด

ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม

05 ก.ย. 2565

ยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน ด้วยกระแส ดิจิทัลและความยั่งยืน

05 ก.ย. 2565

ธุรกิจในภูมิภาค จะเดินหน้าต่ออย่างไร

05 ก.ย. 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

0 4391 3532

Neo-econ-div@bot.or.th