จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจการเงินของโลกยุคใหม่ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทำให้กระแส "ดิจิทัล" และ "ความยั่งยืน" จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีสานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจอีสานไปสู่ 5 ภาพใหม่ในอนาคต คือ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต แหล่งอาหารทางเลือก การยกระดับการท่องเที่ยว การพัฒนาเมือง

 

ภาคเกษตรเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ภาคเกษตรจะต้องปรับตัวตามกระแสดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

 

สำหรับ Smart farming วางแผนแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีเกษตร เช่น เก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์หาปุ๋ยที่เหมาะสม ใช้โดรนในการสำรวจพื้นที่เพาะปลูก การหยอดข้าว ใส่ปุ๋ย ทิศทางการไหลของน้ำ มีการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดต้นทุนแรงงาน เพิ่มผลผลิต และลดระยะเวลาการทำงาน ประกอบกับราคาเทคโนโลยีที่ถูกลงค่อนข้างมากทำให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้มากขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละการผลิตและพื้นที่ ในขณะเดียวกันต้องมีการสนับสนุนองค์ความรู้ให้เกษตรกรพร้อมปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กระบวนการผลิตที่ใช้น้ำน้อย ลดมลพิษ 

"Smart Farming เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการเพาะปลูก โดยปัจจุบันราคาของเทคโนโลยี
ถึงจุดเหมาะสมที่เกษตรกรใช้แล้วคืนทุน อยู่ที่เกษตรกรเรียนรู้ และนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ขนาดไหน
สิ่งที่จับต้องได้ เช่น โดรนประสบความสำเร็จเพราะลดเวลาและลดแรงงานได้ทันที
เราต้องเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าไปให้เกษตรกร"

 


ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโดรนชุมชน บริษัท นวัตกรรมเพื่อสังคมและเทคโนโลยีเกษตร จำกัด

การผลิตจะปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดต้นทุนด้านเวลา แรงงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอน เพื่อให้ทราบว่าวัตถุดิบที่มีสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยสถาบันการศึกษาสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตและการตลาด ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับชุมชน ช่วยสนับสนุนด้านนโยบาย ขณะที่ภาคเอกชนช่วยขับเคลื่อนการผลิตที่มีมาตรฐานและส่งผ่านไปยังการผลิตของเกษตรกร

"การเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรมต้องใส่ใจความยั่งยืนด้วย ไม่งั้นจะเกิดการกีดกันการค้า
กับคนอื่นในโลก (Trade Barrier) ... กระแส ESG ถึงแม้ว่าจะต้องลงทุนเพิ่ม แต่ผมว่าคุ้มค่ากับ
ความยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะในลูกค้ากลุ่ม High Purchasing Value ในโลกที่ใส่ใจความยั่งยืน"

 


คุณกมลพงศ์ สงวนตระกูล  กรรมการหอการค้าไทย ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์

การที่อีสานจะเป็นแหล่งผลิตอาหารทางเลือก ภาครัฐควรปลูกฝัง Mind set และ Smart technology โดยเหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาความต้องการของตลาดต่อ Supply chain ให้ชัดเจน เพื่อขยายต่อยอด แต่ต้องดูเรื่องความปลอดภัยด้วย เช่น โปรตีนจากแมลง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์ สร้างมาตรฐานการผลิตและแปรรูป เป็นอาหารเพื่อการบริโภค เครื่องสำอาง รวมถึงอาหารสัตว์ เพื่อป้อนตลาดที่มีความต้องการหลากหลาย

"เรื่องของความยั่งยืน สิ่งที่สำคัญคือการต่อ Supply Chain ร่วมกัน เช่น ใครคือผู้ปลูก ใครคือผู้เลี้ยง ใครคือผู้เอาไปแปรรูป...ขั้นต่ำ...ขั้นสูง ใครเป็นผู้ที่จะส่งออกนำไปขายต่อ เป็นต้น
เกษตรกรแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน ไม่ต้องขายเก่ง ผลิตเก่ง
แต่ต้องรู้ให้ได้ว่าเก่งตรงไหน และเข้าไปอยู่ใน Supply Chain นั้น"

 


ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับการพัฒนาเมือง หลายพื้นที่ในภาคอีสานจะขับเคลื่อนเป็น Smart city มากขึ้น เริ่มจากคุณภาพชีวิต ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มจากการพูดคุยกันและความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีความคิดในการพัฒนาบ้านเกิดให้ดีขึ้น ด้วยการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดการเมือง มีความพยายามคิดสร้างขึ้นมาเอง มุ่งเน้นความมั่นคงปลอดภัย ทั้งนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนให้ smart city สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมตามบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละเมือง

 

การยกระดับการท่องเที่ยวไปสู่ Medical tourism ซึ่งภาคอีสานมีศักยภาพเพียงพอ เนื่องจากการมีมหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลมีความพร้อมและมีคุณภาพทางการรักษา และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ได้เปรียบทางเชิงภูมิศาสตร์ มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับบริการทั้งการแพทย์และการท่องเที่ยว เพื่อรักษา บำบัด และฟื้นฟู สุขภาพกายและจิตใจ