สรุปช่วงนำเสนอผลงานศึกษา "ยกระดับเศรษฐกิจการเงินภาคอีสานด้วยกระแส "ดิจิทัล" และ "ความยั่งยืน"

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคอีสานมีลักษณะ "กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย" โดยรายได้หลักมาจากภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 20 และกระจุกตัวอยู่กับพืชไม่กี่ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งมีความไม่แน่นอนทั้งด้านผลผลิตและราคา อีกทั้งภาคการผลิตเกินครึ่งยังเกี่ยวโยงกับภาคเกษตรที่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มากนัก จากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวและมีมูลค่าเพิ่มน้อยมาโดยตลอด ทำให้รายได้เฉลี่ยของคนอีสานแทบจะไม่แตกต่างจาก 5 ปีก่อน สวนทางกับหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยที่เพิ่มสูงกว่าทุกภาค สะท้อนให้เห็นว่า ฐานะทางการเงินของคนอีสานมีความอ่อนแอและเปราะบางมากที่สุดในประเทศ

ภาพเศรษฐกิจอีสานเปลี่ยนไปสู่ 5 ภาพใหม่ในอนาคต

ปัจจุบันภาคอีสานต้องเผชิญกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังวิกฤต COVID-19 คือ กระแสดิจิทัลและกระแสความยั่งยืน ที่จะเป็นทั้งโอกาสให้คว้าไว้ หรือเป็นความท้าทายให้รีบปรับตัว ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติ และทำให้ภาพเศรษฐกิจอีสานเปลี่ยนไปสู่ 5 ภาพใหม่ในอนาคต ได้แก่

 

1) เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) เป็นการทำเกษตรที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ขาดแคลนปัจจัยการผลิต ขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุน แม้ปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) แต่เห็นกระจายตัวอยู่ทั้งภาคอีสานแล้ว เช่น กลุ่ม Young Smart Farmer โครงการ "หัวตะพานโมเดล" อำนาจเจริญ ที่ใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่น้ำท่วม หว่านข้าว และพ่นยา หรือใช้ข้อมูลสภาพอากาศเพื่อวางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรสูงวัยในภาคอีสานยังไม่สามารถปรับมาใช้ Smart Farming ได้ทันทีจึงเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือและส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวในอนาคตมากขึ้น

 

2) การผลิตที่มุ่งสู่มาตรฐานความยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) จากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคการผลิตรายใหญ่ในอีสานเริ่มปรับตัวใช้มาตรฐานความยั่งยืนมากขึ้น เช่น อ้อยและน้ำตาล ที่ผู้ผลิตได้ปรับตัวให้รองรับมาตรฐาน Bonsucro อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสู่มาตรฐานความยั่งยืนยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การปรับตัวต้องใช้ทั้งเงินและเวลา จึงต้องเริ่มทยอยปรับตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการของคู่ค้าและกระแสการบริโภคใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

3) แหล่งผลิตอาหารทางเลือกที่สำคัญ (Alternative Food) จากการเพิ่มจำนวนประชากรที่รวดเร็ว ทำให้ในอนาคตโลกอาจเผชิญปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้ผลิตอาหาร ดังนั้น อาหารแห่งอนาคตหรือสารอาหารทางเลือก โดยเฉพาะโปรตีนที่มาจากพืชและสัตว์ จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ ซึ่งภาคอีสานมีความพร้อมและศักยภาพสูงที่จะเป็นแหล่งผลิตโปรตีนทางเลือกจากสัตว์อย่างแมลงหลากชนิด โดยเฉพาะจิ้งหรีด ที่สามารถผลิตได้มากถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งประเทศ สามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งขนมขบเคี้ยว นมอัดเม็ด และสารสกัดโปรตีนคุณภาพสูง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัยความได้เปรียบด้านภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงแมลงได้ทุกฤดูกาล มีอุทยานวิทยาศาสตร์กับมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนความรู้และเงินทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ช่วยประสานความเชื่อมโยงนักวิจัย ผู้ประกอบการและเกษตรกรเข้าด้วยกัน หากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ภาคอีสานสามารถยกระดับเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารทางเลือกจากแมลงทั้งของประเทศ และของโลก

 

4) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นการใช้เทคโนโลยีจัดการปัญหาเมืองให้ดีขึ้น เช่น ปัญหาการจราจร มลพิษ ความแออัด และอาชญากรรม ทั้งยังช่วยดึงดูดคนและการลงทุนเข้าประเทศด้วย ซึ่งหลายจังหวัดในภาคอีสานได้ปรับตัวสู่ Smart City มากขึ้น เช่น ขอนแก่นที่พัฒนาด้านคุณภาพชีวิต โดยนำสายรัดข้อมืออัจฉริยะมาวิเคราะห์และดูแลสุขภาพของประชาชน และด้านคมนาคมที่นำเทคโนโลยีมาใช้ผลิตรถไฟรางเบา เพื่อแก้ปัญหาการจราจร นอกจากนี้ นครราชสีมาได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร และอุดรธานีที่วางระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ Smart City มีความคืบหน้า สามารถดึงดูดนักลงทุน และนำไปสู่การสร้างเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนได้

 

5) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากวิกฤต COVID-19 และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งภาคอีสานมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่ Medical Tourism จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ โรงพยาบาลที่มีคุณภาพให้บริการระดับสากล ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และความคุ้มค่าในการรักษาพยาบาล และเป็นแหล่งวัตถุดิบการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้มารับบริการ ซึ่งจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าเดิมจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา และกลุ่มเป้าหมายใหม่ให้มาใช้บริการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญช่วยยกระดับให้การท่องเที่ยวภาคอีสานมีมูลค่าสูงขึ้น

แนวนโยบายด้านการเงินให้ธุรกิจปรับตัวพร้อมรับกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน

ทั้ง 5 ภาพนี้ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนอีสานให้ดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้ออกแนวนโยบายด้านการเงินให้ธุรกิจปรับตัวพร้อมรับกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนได้มากขึ้น เช่น

 

1) เปิดกว้างให้ภาคการเงินแข่งขันกันและมีบริการหลากหลายขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาและให้บริการด้วยดิจิทัล เช่น Virtual Bank หรือธนาคารออนไลน์ และปรับกฎระเบียบให้ผู้เล่นเดิมมีความคล่องตัวและยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้

 

2) พัฒนาระบบการเงินสำหรับการทำธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยขยายบริการของระบบ PromptPay ให้สามารถทำธุรกรรมดิจิทัลกับต่างประเทศได้สะดวกขึ้น อีกทั้งการวางระบบการเงินรองรับธุรกรรมการค้าและการชำระเงินดิจิทัลที่ครบวงจร และปลอดภัย

 

3) จัดทำแนวนโยบายด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างยั่งยืน เช่น การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน การกำหนดมาตรฐานให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เอื้อให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนในอนาคต

โดยสรุป กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนจะเป็นกระแสที่มาเร็ว มาแรง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำให้ภาพเศรษฐกิจการเงินของอีสานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากเราสามารถคว้าโอกาสนี้ เพื่อยกระดับ ปรับตัวก็จะช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจอีสานจากโครงสร้าง "กระจุกตัวและมูลค่าเพิ่มน้อย" ไปสู่ "เศรษฐกิจดิจิทัลที่ใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้น" โดยจะมีภาคการเงินทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน เป็นตัวช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจในระยะถัดไป