สัมมนาวิชาการภาคเหนือ ปี 2566

09 สิงหาคม 2566 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

 

สรุปช่วงเสวนา

 

หัวข้อ "สร้างความยั่งยืนแบบคนรุ่นใหม่ สู่การยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่"

 

 

 

ความท้าทายในโลกใหม่และการอยู่รอดของภาคธุรกิจ

 

ภาคเหนือเผชิญความท้าทายตามกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของการแข่งขันในหลายภาคธุรกิจ เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้นและใช้ข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด คือ 1) การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเรื่องคุณภาพและการรับประกันสินค้า 3) การปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ และ 4) การผนึกกำลังกับผู้ประกอบการรายอื่น (Synergy) ในการผลิตสินค้าหรือบริการรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าสูง

Panel66-1

ธุรกิจ SMEs มีข้อจำกัดจริงหรือ?

 

  • ในโลกของการดำเนินธุรกิจจะเห็นได้ว่า แต่ละประเภทธุรกิจมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบตามบริบทที่ต่างกัน แต่ไม่มีประเภทธุรกิจใดที่จะเสียเปรียบได้เสมอ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่มีความคล่องตัวมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากและรวดเร็ว ธุรกิจ SMEs สามารถลดข้อจำกัดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้โดย 1) การปรับความคิด วิสัยทัศน์ (Mindset) อาทิ การพัฒนาสินค้า หาจุดเด่น เพิ่มมูลค่าจากการสร้างเรื่องราว ความคิดสร้างสรรค์ และขายในรูปแบบรับ pre-order เพื่อลดข้อจำกัดของเงินทุน 2) เรียนรู้จากการทดลอง (Experiment) เพื่อนำกระบวนการจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวมาปรับและพัฒนาธุรกิจให้เติบโต โดยวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ (Scenario) หากทางที่เลือกทดลองจะทำให้เกิดความเสียหายในระดับที่รับได้ เช่น การเปิดสาขาในพื้นที่ห่างไกล และการเริ่มขายออนไลน์ เป็นต้น 3) หมั่นหาความรู้ ค้นหาประสบการณ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมโครงการภาครัฐที่ไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ การเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้า และการอบรมความรู้ทางการเงิน และ 4) ศึกษาหาวิธีใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด อาทิ การใช้ข้อมูล เทคโนโลยี รวมถึงการถ่ายโอนทักษะให้แรงงาน เพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้เป็นระบบและพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

 

ศักยภาพของภาคเหนือ ทำอย่างไรให้คนเหนือไม่ทิ้งถิ่นฐาน ให้คนนอกภาคเหนืออยากย้ายมาที่ภาคเหนือ

 

  • ภาคเหนือมีศักยภาพด้านบริการและท่องเที่ยว ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนด้านเทคโนโลยี ตามเทรนด์การทำงานแบบ“Work from Anywhere” ที่ช่วยลดข้อจำกัดเรื่องที่ตั้งและเวลา เพิ่มการเคลื่อนย้ายเข้ามาในภาค ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ร่วมกันสร้างความยั่งยืน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มแรก คือ คนเหนือไม่ทิ้งถิ่นฐาน โดย 1) ปรับมุมมองของผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น 2) รักษาจุดเด่น และต่อยอด ผสมผสานจากทักษะเดิมเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ 3) ปรับตัวทางธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 4) สร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับท้องถิ่นให้ไปพร้อมกัน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับมาสร้างความเจริญที่บ้านเกิด กลุ่มที่สองคือ คนนอกภาคเหนืออยากย้ายมาที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการและแรงงานทักษะ เช่น กลุ่ม Digital Nomad ให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น อยู่ยาวมากขึ้น ตลอดจนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยสิ่งสำคัญที่จะต้องทำคือ 1) สร้างความมั่นใจให้กับคนนอกภาคด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและใกล้เคียงกับส่วนกลาง 2) ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจัดการปัญหาด้านด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความมั่นใจของคนนอกภาคที่อยากย้ายเข้ามาอยู่ในภาคเหนือ

 

 

  • “ทัศนคติสำคัญในการทำธุรกิจ คือ การทดลองเพื่อเรียนรู้จากความล้มเหลว และการมองเห็นโอกาสจากการแข่งขัน ทั้งนี้ ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันของหลายธุรกิจ เพื่อให้คนอยากกลับไปอยู่หรืออยากกลับไปลงทุน”

คุณธนะพงศ์ พุฒิพิริยะ
ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) 

panel66-2
  • “ในการเริ่มธุรกิจ หลายท่านอาจมองว่าเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ แต่แท้จริงแล้ว mindset ต่างหากที่สำคัญกว่า แล้วถ้าคิดจะทำธุรกิจให้เริ่มทำเลย ไม่ต้องรอให้พร้อมทั้งหมด ทั้งนี้ การผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น และเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

คุณวีรดา ศิริพงษ์
ผู้ก่อตั้ง คาร์เพนเทอร์ สตูดิโอ

Panel66-3
  • “จุดตายของกิจการมักมาจากจุดเริ่มต้น ดังนั้น ต้องสร้างจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับกิจการ คือ การจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบให้อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้งาน รวมถึงการสร้างทักษะการใช้ข้อมูลให้กับคนในองค์กร เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในรธุรกิจเพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต”

คุณพชร อารยะการกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

panel66-4