สัมมนาวิชาการภาคเหนือ ปี 2566

10 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที

 

สรุปช่วงสนทนากับ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

หัวข้อ "ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย"

 

 

 

มุมมองภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจภาคเหนือ

 

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี และภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้ง รายรับจากภาคการท่องเที่ยวลดลงตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ลดลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าที่คาดไว้

 

เศรษฐกิจภาคเหนือทยอยฟื้นตัวเช่นกัน แต่ช้ากว่าประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจภาคเหนือถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรสูงอีกทั้งยังเป็นแรงงานสูงอายุ ขณะที่ภาคการผลิตมีบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับประเทศ รวมทั้งในครึ่งหลังของปีนี้และต่อเนื่องไปปีหน้า จะมีความท้าทายจากผลกระทบของภัยแล้งมากขึ้น ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือในระยะยาว คนในพื้นที่ควรเป็นผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเหนือ เพราะเข้าใจศักยภาพและบริบทของภูมิภาคดีที่สุด ขณะที่ภาครัฐและ ธปท. ควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมศักยภาพ เช่น การพัฒนาระบบการชำระเงินที่เอื้อต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ

  • “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้บางเครื่องชี้อย่างการส่งออกแผ่วลงบ้าง ส่วนเงินเฟ้อเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ดังนั้น โจทย์ของการดำเนินนโยบายการเงินก็ต้องเปลี่ยนจากการดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่สะดุดเป็นการรักษาสมดุลและเสถียรภาพของเศรษฐกิจระยะยาว”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

governor1

การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

 

  • บริบทของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากปี 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงและเร็วมาก ทำให้คณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อแบบค่อยเป็นค่อยไป (smooth take-off) และไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จนเงินเฟ้อปรับลดลงมาเร็วกว่าคาด
  • ล่าสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของ กนง. ได้ประเมินว่าเป็นจุดที่ถือว่าเข้าใกล้จุดสมดุล (neutral) มากขึ้นแล้ว เพราะภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังฟื้นตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ ในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน กนง. เป็นห่วงมาตลอด ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินปี 2566 จึงดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป (landing) โดยจะพิจารณาข้อมูลที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ (outlook dependent) มากกว่าข้อมูลในอดีต เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว และจะนำปัจจัย 3 เรื่อง มาพิจารณาประกอบด้วย คือ
    1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยควรอยู่ในระดับที่มีศักยภาพระยะยาว (ในระดับ 3-4%)
    2. แนวโน้มเงินเฟ้อ ควรจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับที่ยั่งยืน
    3. อัตราดอกเบี้ยต้องไม่สร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไป ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น

 

 

  • “การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป จะให้น้ำหนักกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้อมีเสถียรภาพและอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน และต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

governor2

การขึ้นดอกเบี้ย สถานการณ์หนี้ และมาตรการและแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้

 

  • การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลข้างเคียง และสร้างภาระ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งภาระจากเงินเฟ้อมีมากกว่าภาระจากการชำระหนี้ สะท้อนจากการใช้จ่ายของหมวดอาหารและเครื่องดื่มของครัวเรือนในภาคเหนือสูงกว่า 2 เท่าของการใช้จ่ายในการชำระหนี้ นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ทำให้รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นทันที สะท้อนจาก 70% ของหนี้ครัวเรือนในภาคเหนือ ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นสินเชื่อแบบอัตราดอกเบี้ยงคงที่ (43% เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ) และค่างวดคงที่ (27% เช่น สินเชื่อบ้าน)
  • ·อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบกว้าง ผลข้างเคียงมาก จึงต้องมีเครื่องมืออื่นเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดย ธปท. ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน 3 หลักเกณฑ์ ดังนี้
    1. หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ให้ครบวงจร ทั้งก่อนจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา ขายหนี้ เช่น การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent debt)
    2. ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-based pricing) เสี่ยงสูง...กู้ได้ เสี่ยงต่ำ...กู้ถูก โดยจะทำเป็น Sandbox ทดสอบ ประมาณกลางปีหน้า
    3. การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) การประเมินความสามารถของผู้กู้ในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้หนี้โตเร็ว