สัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เรื่อง “แบงก์ชาติกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน”

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 เรื่อง “แบงก์ชาติกับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน” เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน ในเรื่องหนี้และภัยการเงิน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง

สัมมนาประจำปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาคใต้

กำหนดการ

 กำหนดการ
13.00 น.

กล่าวเปิดงานสัมมนา

โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

13.20 น.

นำเสนอ “ครบเครื่องเรื่องคุ้มครองลูกหนี้”

โดย อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

13.40 น.

นำเสนอ “แบงก์ชาติกับการป้องกันภัยการเงิน”

โดย ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

14.00 น.

พักรับประทานอาหารว่าง

14.20 น.

เสวนา เรื่อง “เสริมภูมิคุ้มกันภัยการเงิน รู้เท่าทัน ป้องกันได้”

โดย

ธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions บมจ. ธนาคารกรุงไทย

พ.ต.ท. ธนธัส กังรวมบุตร รองผู้กำกับวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ

กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ดำเนินการเสวนาโดย ศิรัถยา อิศรภักดี The Standard Wealth และ Wealth Me Up

15.35 น.แนะนำทีมผู้บริหารใหม่แบงก์ชาติภาคใต้

สรุปงานสัมมนา

Untitled design - 2

ช่วงแรก

ได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่าปีนี้มีการปรับการจัดงานให้ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น คือเรื่องหนี้ โดย ธปท. คาดหวังให้ประชาชนมีข้อมูลที่ถูกต้องตลอดวงจรหนี้ และเรื่องภัยการเงิน ประชาชนต้องรู้เท่าทันมิจฉาชีพตลอดทั้งวงจรการหลอกลวง ตั้งแต่การป้องกันจนถึงเมื่อโดนหลอกแล้วประชาชนจะทำอย่างไร อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การออกเกณฑ์หรือมาตรการต่าง ๆ แต่ยังติดตามและตรวจสอบการให้บริการของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงินอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันมิจฉาชีพ เพื่อป้องกันประชาชนจากภัยการเงิน

Untitled design - 3

ช่วงที่ 2

หัวข้อ “ครบเครื่องเรื่องคุ้มครองลูกหนี้” โดยคุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอเป้าหมายของการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน คืออยากให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิต และผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้บริการอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ การมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี ต้องประกอบด้วย 4 หัวใจสำคัญ คือ ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถจัดการเงินได้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ และมีเงินเพียงพอเพื่อให้บรรลุเป้าหมายชีวิต โดยสิ่งที่ ธปท. ทำเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้มากขึ้น คือการออกเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending - RL) เพื่อดูแลตลอดวงจรการเป็นหนี้ของผู้ใช้บริการทางการเงิน ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อเป็นหนี้มีปัญหา ตลอดจนกำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างทันการณ์และใกล้ชิด เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน มีอีกสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน คือการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินที่เหมาะสม นอกจากนี้หลักการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องทำครบวงจร ทำถูกหลักการ และต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

คำถาม-คำตอบ ช่วง “ครบเครื่องเรื่องคุ้มครองลูกหนี้”

คำตอบ : ทำการรวบรวมภาระหนี้ของตนเองทั้งหมดแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหนี้แต่จะราย ขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยขอปรับจากวงเงินหมุนเวียน (กดเงินสด) เป็นสินเชื่อมีระยะเวลา (term loan) รวมถึงขอลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ภาระหนี้ต่อเดือนอยู่ในความสามารถที่จะจ่ายได้จริงและสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

แต่หากมีบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล (รวมบัตรกดเงินสด) ที่ค้างชำระเกิน 120 วัน และเจ้าหนี้อยู่ในโครงการคลินิกแก้หนี้ ก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 3-5% ต่อปี (เมื่อชำระได้ตามสัญญา จะยกดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมค้างจ่ายให้) และผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี นอกจากนี้ ควรสำรวจทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้และนำไปชำระหนี้ รวมถึงพยายามลดรายจ่าย และหารายได้เพิ่มด้วย

ทั้งนี้ สามารถโทร 1213 หรือติดต่อหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ หรือโทร 1443 เพื่อติดต่อโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ 

Untitled design - 4

ช่วงที่ 3

หัวข้อ “แบงก์ชาติกับการป้องกันภัยการเงิน” โดย คุณดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอรูปแบบภัยการเงินและบทบาทของ ธปท. ในการป้องกันภัยการเงิน โดยปัจจุบันภัยการเงินมีหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายสูงและกระทบคนเป็นวงกว้าง มีทั้งภัยการเงินที่มาในรูปแบบที่ไม่ได้กดโอนเงินเอง (Unauthorized payment) และในรูปแบบที่เผลอหลงเชื่อมุกหลอกของมิจฉาชีพแล้วกดโอนเงินไปให้ด้วยตัวเอง (Authorized payment) ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการออกมาตรการจัดการและป้องกันภัยการเงินอย่างต่อเนื่อง กรณีถูกขโมยข้อมูลบัตร ถ้าพิสูจน์ได้ว่าลูกค้าไม่ได้เป็นคนทำธุรกรรมเอง ลูกค้าบัตรเดบิตจะได้รับเงินคืนภายใน 5 วัน ลูกค้าบัตรเครดิตจะได้รับการยกเลิกรายการดังกล่าว กรณี SMS หลอกลวงและแอปดูดเงิน มีมาตรการป้องกัน ได้แก่ ธนาคารงดส่ง SMS ที่มีลิงก์แนบ การสแกนใบหน้าสำหรับธุรกรรมโอนเงินเกิน 50,000 บาท/ครั้ง หรือเกิน 200,000 บาท/วัน การจำกัดให้ลูกค้า 1 คน มี 1 บัญชี Mobile banking และใช้งานได้อุปกรณ์เดียว และธนาคารต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยบน Mobile banking อยู่เสมอ

 

ส่วนกรณีหลอกให้โอนเงินด้วยตัวเองไม่ว่าในรูปแบบใดล้วนใช้บัญชีม้าเป็นเส้นทางเดินเงิน มาตรการที่ออกจึงเน้นจัดการบัญชีม้าซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของมิจฉาชีพ เช่น ธปท. กับอีก 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดโทษบัญชีม้า ความร่วมมือในการพัฒนาระบบ Central Fraud Registry (CFR) ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินต้องสงสัยข้ามธนาคาร และการยกระดับจัดการบัญชีม้าจากระดับ “บัญชี” เป็น “บุคคล” ข้ามธนาคารด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตัดตอนบัญชีม้าไม่ให้มีม้าหมุนไปเปิดใหม่ที่ธนาคารอื่น  ทั้งนี้ การจัดการบัญชีม้าให้มีประสิทธิภาพต้องมีฐานข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันได้และมีมาตรการจัดการแบ่งตามระดับความเสี่ยง โดยฐานข้อมูลมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1. ข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ม้าดำ 2. ข้อมูล CFR หรือ ม้าเทา และ 3. ข้อมูลภายในของธนาคารจากการติดตามบัญชีที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย หรือ ม้าน้ำตาล

 

ในอนาคต สิ่งที่ ธปท. จะดำเนินการเพื่อช่วยดูแลให้ประชาชนใช้บริการได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ได้แก่ การกำหนดให้ธนาคารเพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้นให้ลูกค้าเลือกใช้ได้ตามความต้องการของตัวเอง เช่น การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567 อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะด่านสุดท้ายคือตัวเราเอง ขอให้รู้เท่าทัน และหยุดคิดก่อนที่จะคลิก ก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะโอน

Untitled design - 5

ช่วงที่ 4

เสวนาหัวข้อ “เสริมภูมิคุ้มกันภัยการเงิน รู้เท่าทัน ป้องกันได้” โดยวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions บมจ. ธนาคารกรุงไทย พ.ต.ท. ธนธัส กังรวมบุตร รองผู้กำกับวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ คุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า ภัยการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งจะมาในรูปแบบต่างๆ ประชาชนต้องตระหนัก รู้เท่าทัน เพื่อหาทางป้องกันและรับมือกับภัยที่เกิดขึ้น อาทิ แอปดูดเงิน มิจฉาชีพมีกลอุบายใหม่และพัฒนาเทคนิคเพื่อใช้หลอกลวงให้เหยื่อดาวน์โหลดโปรแกรม เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันที่อยู่นอก App store ดังนั้น ไม่ควรกดลิงก์น่าสงสัย ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัย ตั้งรหัสผ่านให้คาดเดายาก และไม่บันทึกลงบนมือถือ ตั้ง PIN ของ Mobile banking เป็นคนละชุดกับแอปพลิเคชันอื่น หมั่นอัพเดทระบบปฏิบัติการของมือถือและ Mobile banking เป็นเวอร์ชันล่าสุด อย่างไรก็ตาม กลลวงบางเรื่องที่เป็นข่าว อาจไม่ใช่เรื่องจริง เช่น กรณีสายชาร์จดูดเงิน และกรณีรับโทรศัพท์แล้วถูกดูดเงิน เป็นต้น

 

ภัยจากการซื้อของออนไลน์ เช่น ซื้อของไม่ได้ของ ได้ของไม่ตรงปก เป็นอีกภัยที่แม้มูลค่าความเสียหายต่อเคสไม่สูง แต่เป็นเคสที่พบบ่อย โดยสามารถสังเกตได้จากความโปร่งใสของเพจ เช่น ระยะเวลาที่เปิด ความถี่ของการเปลี่ยนชื่อ ที่ตั้งของเพจ และมีบริการชำระเงินปลายทางเป็นทางเลือก หากจำเป็นต้องโอนเงิน ต้องตรวจสอบชื่อบัญชี ยอดเงินให้ถูกต้องก่อนโอนเงินทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มิจฉาชีพมักใช้กลลวงทางจิตวิทยา (Social engineering) ให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูล โดยจะสืบค้นข้อมูล สร้างสัมพันธ์ สร้างสถานการณ์ และหลอกให้โอนเงิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เสี่ยงหลงกลหลอกได้ง่าย ซึ่งมีวิธีป้องกันคือ ไม่ตั้งค่าเพิ่มเพื่อนอัตโนมัติ ติดตั้งแอป Whoscall เพื่อช่วยเช็กเบอร์โทรแปลกปลอม สามารถกด *138*1# เพื่อบล็อกสายจากต่างประเทศ ที่สำคัญต้องไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่โอนเงิน และรีบวางสายหากรู้สึกไม่ปลอดภัย

 

ภัยอีกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นคือ การถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า โดยมิจฉาชีพหลอกให้บุคคลเปิดบัญชีธนาคารในชื่อของตนเอง แล้วมอบข้อมูลการเข้าถึงบัญชีนั้นให้กับมิจฉาชีพเพื่อใช้งาน หรืออาจถูกขายบัญชีและกลายเป็นบัญชีม้าโดยไม่รู้ตัว และท้ายที่สุดภัยการเงินทุกประเภทจะใช้ช่องทางของบัญชีม้าในการรับเงินทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีการยกระดับความปลอดภัยจากฐานข้อมูลในระบบ CFR และมาตรการอายัดบัญชีเพื่อตัดวงจรบัญชีม้าและสนับสนุนการทำงานของตำรวจ

 

ทั้งนี้ หากตกเป็นเหยื่อภัยการเงินที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องตั้งสติ และให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ AOC ผ่านเบอร์โทร 1441 ศูนย์รับแจ้งเหตุอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่คอยช่วยประสานงานไปยังธนาคาร รวมถึงให้คำแนะนำในการแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ หรือผู้เสียหายอาจติดต่อไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุภัยการเงินของแต่ละธนาคารได้โดยตรง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอระงับธุรกรรมหรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหายและบัญชีปลายทางไว้

คำถาม-คำตอบ ช่วงเสวนา “เสริมภูมิคุ้มกันภัยการเงิน รู้เท่าทัน ป้องกันได้”

คำตอบ : ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันสามารถปลอมแปลงภาพและเสียงได้  จึงเป็นไปได้ว่าบุคคลมีชื่อเสียงอาจถูกนำข้อมูลไปใช้ปลอมแปลงใบหน้าเพื่อหลอกลวงให้ลงทุน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยพบกรณี การนำการปลอมหน้าจาก AI ไปใช้เพื่อการสแกนใบหน้าเมื่อโอนเงินตามมาตรการของ ธปท. ทั้งนี้การโอนเงินต้องใช้องค์ประกอบอื่นร่วมด้วยในการทำธุรกรรม เช่น รหัส PIN และ เครื่องโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้กับธนาคาร

คำตอบ : ธนาคารอยู่ระหว่างประสานงานกับ ปปง. และ กสทช. ในการหาจำนวนผู้ใช้ Mobile banking และเบอร์มือถือที่ชื่อไม่ตรงกัน เพื่อนำมาหารือแนวทางร่วมดำเนินการต่อไป 

คำตอบ : หากโดนหลอกและพลาดโอนเงินไปแล้วให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ AOC ผ่านเบอร์โทร 1441 ศูนย์รับแจ้งเหตุอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่คอยช่วยประสานงานไปยังธนาคาร รวมถึงให้คำแนะนำในการแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ หรือผู้เสียหายอาจติดต่อไปยังศูนย์ Hotline ของแต่ละธนาคารได้โดยตรง ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอระงับธุรกรรมหรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหายและบัญชีปลายทางไว้ 

คำตอบ : ประชาชนควรระมัดระวังและสังเกตความผิดปกติของบัญชีปลายทาง โดยตรวจสอบเบื้องต้น ดังนี้

o   เมื่อติดต่อกับหน่วยงานรัฐ แต่ให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา - หน่วยงานรัฐจะไม่ให้ประชาชนโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นค่าดำเนินการต่าง ๆ

o   ตรวจสอบจากชื่อ-นามสกุลของบัญชี ว่าตรงกับชื่อบุคคลที่เราติดต่อด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะ หากชื่อบัญชีปลายทางเป็นบัญชีชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ เช็กก่อน.com เป็นแพลตฟอร์มตรวจเช็คบัญชีและเบอร์โทรก่อนการทำธุรกรรมการเงิน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอก ที่พัฒนาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  รวมทั้งมีเว็บไซต์ blacklistseller.com  ที่ประชาชนสร้างขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจ้งข้อมูลบัญชีที่ถูกหลอกลวง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ประชาชนช่วยกันแจ้งเข้ามา ก็สามารถใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้

คำตอบ : การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ (คนขาย) ไปใช้บริการรับชำระเงินออนไลน์ (Merchant Applications) จะเป็นแนวทางที่ดีต่อทั้งผู้ชำระเงินและผู้รับเงิน เพราะ Applications มีความสามารถในการแจ้งเตือน รวมถึงสามารถเข้าไปดูรายงานการขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ชำระเงิน (ผู้ซื้อ) แสดง slip

คำตอบ : กรณีที่เปลี่ยนอุปกรณ์มือถือเครื่องใหม่ ที่ใช้งาน mobile application ธนาคารจะให้ลูกค้ายืนยันตัวตนอีกครั้ง เช่น ยืนยันโดยรหัส OTP ที่ได้รับจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้กับธนาคาร และ PIN ที่ลูกค้าใช้ปัจจุบัน หรือ ยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า

Untitled design - 6

ช่วงสุดท้าย

คุณชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแนะนำคุณจิตเกษม พรประพันธ์ และคุณทัดลาภ เผ่าเหลืองทอง ซึ่งจะมาดูแลงานด้านเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ การสื่อสารเตือนภัยการเงินผ่านเครือข่ายในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตลอดจนประสานงานเชิงนโยบายจาก ธปท. ส่วนกลางลงสู่ภูมิภาค และรับประเด็นความเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการต่างๆ รวมทั้งการให้ข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์พื้นที่มากขึ้น สำหรับสำนักงานภาคใต้ ยังมี Open Space ที่พร้อมให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคใต้

0 7443 4890

FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th