สัมมนาวิชาการภาคใต้ ปี 2566
17 สิงหาคม 2566
ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจภาคใต้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจุกตัวในบางสาขาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้มากขึ้น ซึ่งคำว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่ได้จำกัดอยู่ที่อายุ แต่เป็น “คนคิดใหม่” ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดและเพิ่มมูลค่า เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
แม้เหตุผลเริ่มต้นที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะกลับบ้านอาจมาจากความจำเป็นทางด้านครอบครัวที่ต้องการดูแลสมาชิกในครอบครัวหรือสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่เหตุผลสำคัญที่จะดึงดูดและเหนี่ยวรั้งคนรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ ไม่อยากย้ายกลับออกไป คือ ความน่าอยู่ของเมือง การที่เมืองมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยและดำเนินชีวิต ต่อเนื่องไปถึงการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น และในท้ายที่สุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความน่าลงทุน และความน่าท่องเที่ยวของเมืองจะเกิดขึ้นตามมา
คุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และรักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่
การพัฒนาเมืองให้ประสบความสำเร็จและน่าอยู่ต้องอาศัย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ พื้นที่ที่ต้องการพัฒนา สินทรัพย์ที่มีอยู่เดิม และคนที่จะขับเคลื่อนเมือง โดยบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การพัฒนาจึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อาทิ ตัวอย่างการพลิกฟื้นตลาดกิมหยง หาดใหญ่ ให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยพื้นที่ คือ ตลาดกิมหยง สินทรัพย์ คือ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลอมรวมอยู่ และคน คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งพ่อค้าแม่ค้าและเจ้าของตลาด ซึ่งในกระบวนการพลิกฟื้นตลาดจะเริ่มตั้งแต่การตั้งโจทย์ ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา เช่น การใช้งานศิลปะมาช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาของบันไดที่เชื่อมระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 ของตลาดกิมหยง ทำให้นักท่องเที่ยวกล้าไปนั่ง กลายเป็นจุดพักคอยเวลาซื้อสินค้า ทั้งนี้ ในทุกกระบวนการจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ภายใต้ความเชื่อมั่นที่มองไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่กับคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องในการพัฒนาเมืองเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ เนื่องด้วยเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมืองเดิมที่เคยพัฒนาไว้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการวัดผลอยู่เป็นระยะ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น
ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้เมืองพัฒนาขึ้น โดยเป็นการต่อยอดสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้มีมูลค่าสูงขึ้น ดึงจุดแข็งและศักยภาพออกมาใช้ได้เต็มที่มากขึ้น รวมทั้งสร้างการรับรู้ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจให้กับทั้งคนในและนอกพื้นที่ อาทิ การใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น กระจูดวรรณี ทำให้สินค้ามีความแตกต่าง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและขายได้ราคามากขึ้น ผู้ประกอบการอยู่ได้ โดยไม่ต้องไปแข่งกันตัดราคา รวมไปถึงการสร้างคอนเทนต์ใหม่ที่เชื่อมโยงกับเมือง ซึ่งแต่ละเมืองในภาคใต้มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน หากสามารถยกระดับสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้ จะทำให้คนอยากเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ในพื้นที่มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นตามมา
คุณเกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ บจก. บวรเวชสมุนไพรและประธาน YEC หอการค้าจังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้ ขนาดของตลาด (Market size) มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ แต่ถ้าในพื้นที่ตลาดยังมีขนาดเล็ก และกำลังซื้อยังมีจำกัด ธุรกิจจะต้องปรับตัวโดยมองหาโอกาสในการขยายตลาดออกไป ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ หรือการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ
การพัฒนาเมืองต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ซึ่งต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งคนในท้องถิ่นที่เชื่อมั่นและอยากพัฒนาพื้นที่ ภาคเอกชนที่เปิดโอกาสและพร้อมสนับสนุน และภาครัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีสิ่งจูงใจ (Incentive) ที่ช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย การสื่อสารระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างของช่วงวัย (Generation gap) แต่หากยึดเป้าหมายที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จะทำให้ทุกฝ่ายเปิดใจยอมรับฟังมากขึ้น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และปรับตัวเข้าหากัน นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนได้ เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ต้องลองผิดซ้ำ
เหนือสิ่งอื่นใด การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ แสดงศักยภาพของตัวเอง และเติบโตไปด้วยกัน จะทำให้เกิดความรักความผูกพันในพื้นที่มากขึ้น เป็นพลังที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ซึ่งไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น ยังรวมไปถึงพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
คุณอณวิทย์ จิตรมานะ บจก. เดอะ ซิตี้ คอนเน็กซ์ และ บรรณาธิการบริหารเพจ Hatyai Connext