ไขความจริง…เรื่องปัญหาสินเชื่อ

เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องนั่งคิดเรื่องปัญหาหนี้เพียงลำพังหรือไม่ ซึ่งก็อาจมีช่วงเวลาที่เราคิดหรือเข้าใจอะไรไปเองสักอย่าง วาดภาพหรือจินตนาการไว้รูปแบบหนึ่ง แต่ในความจริงแล้วอาจกลับกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งแบบตรงข้ามกันเลยทีเดียว มาไขความจริงกับปัญหาหนี้เหล่านี้กันดีกว่าว่าเป็นอย่างที่คุณคิดไว้หรือไม่

ความเชื่อที่ 1 : เจ้าหนี้คงไม่รับฟังปัญหา ไม่ช่วยเหลือ

 

ความจริง เจ้าหนี้ทั้งหลายล้วนมีความจริงในใจอย่างเดียวกันข้อหนึ่งคือต้องการได้เงินที่ให้กู้ยืมกลับคืนมา (ยกเว้นเจ้าหนี้ที่ไม่ดีบางรายที่หวังยึดทรัพย์สินเพราะขายต่อแล้วจะได้เงินเกินมูลหนี้ เช่น ที่ดินในทำเลดี) ดังนั้น เมื่อตัวเราเกิดปัญหาจ่ายหนี้ไม่ไหว เช่นเพราะตกงาน รายได้ลดลง หรือความจำเป็นอื่น ๆ ให้รีบติดต่อเจ้าหนี้ เพื่อชี้แจงเหตุผลและเจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เหมาะกับสถานะทางการเงินของเรา เจ้าหนี้จะช่วยวิเคราะห์ หาทางออกปัญหา รวมถึงปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เรา ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ เช่น ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี สำหรับในกรณีที่เราได้พยายามติดต่อเจ้าหนี้แล้วแต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อไปแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า รวมถึงเห็นว่าเงื่อนไขในการผ่อนชำระยังสูงเกินกว่าที่จะสามารถผ่อนได้ ซึ่งยังไม่ช่วยลดภาระได้จริง สามารถใช้ช่องทางของทางด่วนแก้หนี้ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นตัวกลางช่วยประสานงานกับกลุ่มเจ้าหนี้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลได้


อ่านเพิ่มเติม
เรื่อง ปรับโครงสร้างหนี้…คืออะไร
เรื่อง ขอปรับโครงสร้างหนี้แบบไหน...ที่เหมาะกับเรา
เรื่อง ทางด่วนแก้หนี้

 

ความเชื่อที่ 2 : ต้องติดคุก ถ้าไม่จ่ายหนี้และเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว

 

ความจริง ในความเป็นจริงเมื่อเราไม่สามารถชำระหนี้ได้ และถูกเจ้าหนี้ส่งเรื่องดำเนินคดีตามกฎหมาย เราจะไม่ถูกจับหรือถูกคุมขัง เพราะภาระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมมานั้น เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ยกเว้นกรณีที่เป็นการทุจริต หรือปลอมแปลงเอกสารทางการเงิน เช่น เจตนาสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้โดยที่รู้ว่าไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอ การปลอมแปลงเช็คหรือใบวางบิล

สำหรับกรณีที่ได้รับหมายศาล เราไม่ควรที่จะหนีศาล เพราะการที่เราไปศาลก็เพื่อใช้สิทธิ์ในการโต้แย้งหรือขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นั่นเอง การไม่ไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเราเอง เช่น ศาลพิพากษาตามที่เจ้าหนี้เสนอมา ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขที่เราจ่ายไม่ไหว ก็เป็นไปได้ที่จะบานปลายถึงขั้นถูกสืบทรัพย์และยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด

ความเชื่อที่ 3 : สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ถ้าไม่จ่ายเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้

 

ความจริง สินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล แม้ตอนที่เราสมัครใช้บริการเหล่านี้จะไม่ต้องใช้หลักประกัน ต่างจากสินเชื่อบ้านหรือการเช่าซื้อรถยนต์ที่มีหลักประกันหรือสินทรัพย์เช่าซื้อ แต่เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เราก็อย่าได้สบายใจเป็นอันขาดว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดอะไร เพราะเจ้าหนี้สามารถส่งเรื่องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ซึ่งเมื่อเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่งแล้ว หากเรายังไม่สามารถชำระหนี้ หรือไม่ไปชำระหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด ก็จะมีการออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เป็นชื่อของเรา ซึ่งรวมถึงเงินเดือนด้วย สำหรับกรณีที่เราเป็นพนักงานเอกชนและมีเงินเดือนเกิน 2 หมื่นบาท โดยจะมีเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีเป็นผู้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อนำไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จนครบตามจำนวน

ดังนั้น ทางที่ดีเราไม่ควรปล่อยปละละเลย หรือชะล่าใจ เนื่องจากสินเชื่อประเภทที่ไม่มีหลักประกันนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อเราเห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้ลดลง หรือจ่ายไม่ไหว ก็ควรตั้งสติในการแก้ไขปัญหา หาข้อมูลมาตรการของทางการและสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่สามารถช่วยลดภาระได้ หรือติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยไม่รอช้า