สัมมนาวิชาการภาคเหนือ ปี 2565
10 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลาอ่าน 999 นาที
มุมมองภาพเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจภาคเหนือ
เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ 2565 และปีหน้า 2566 คาดว่าขยายตัว 3.3% และ 3.8% ตามลำดับ โดยเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ตามการปรับดีขึ้นของรายได้แรงงานทั้งจากแรงงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร หากมองไปข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ภายใต้ความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในปีหน้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีต่อเนื่อง ตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง และการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจ
เศรษฐกิจภาคเหนือฟื้นตัว แต่ช้ากว่าประเทศ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเหนือมีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมน้อยกว่าภาพรวมของประเทศ แต่เป็นภาคที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดได้ดี โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก นอกจากนี้ ภาคเหนือพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและบริการในสัดส่วนสูง ทำให้ภาพรวมการฟื้นตัวของภาคเหนือช้ากว่าประเทศ หากมองในระยะยาว ยังมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ภาคเหนือพึ่งพิงภาคเกษตรสูง มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุดในประเทศ และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ แนวทางพัฒนาจึงต้องสร้างความเติบโตของสังคมเมือง (urbanization) ในภาคเหนือให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งจะเป็นพลังพัฒนาในระยะยาว สร้างชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการบริโภคภายในพื้นที่ ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือการส่งออก นอกจากนี้ กระแสการทำงานที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) หรือ Digital nomad ของกลุ่มอาชีพอิสระที่ทำงานและเที่ยวไปด้วย จึงเป็นโอกาสของภาคเหนือและประเทศไทย เพราะเป็นที่ที่คนอยากอยู่
"ความท้าทายในการเติบโตทางด้านรายได้หรือความมั่งคั่งของภาคเหนือ คือแรงงานส่วนใหญ่กว่า 45% อยู่ในภาคเกษตร สัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุดในประเทศยังไม่ได้ประโยชน์จากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ และยังขาดการเติบโตของสังคมเมือง"
การดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้โจทย์ใหญ่เรื่องเงินเฟ้อ
โจทย์ภาพใหญ่ของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยน คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด (smooth takeoff) ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความจำเป็น แต่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว (policy normalization) และเหมาะสมกับบริบทปัจจุบันของไทย เนื่องจาก
"หลายคนอยากกลับมาใช้ชีวิตในพื้นที่ แต่โอกาสทางธุรกิจในเชียงใหม่ไม่ค่อยมี เลยไปอยู่กรุงเทพฯ ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่อยู่ จะสร้างของใหม่ ๆ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างไร"
ปัจจุบัน ธปท. ได้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานและดูแลกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน ท่ามกลางกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน โดยในส่วนของกระแสดิจิทัล ธปท. ได้วางโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน เช่น ระบบพร้อมเพย์ หรือการชำระเงินผ่าน QR code ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงโควิด
กระแสที่สองคือ ความยั่งยืน จากกฎกติกาการค้าโลกที่ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากธุรกิจไม่ปรับตัวอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นโดยที่ต้นทุนไม่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินไป ที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ของไทยปรับตัวได้ดีเมื่อเทียบกับอาเซียน สะท้อนจากจำนวนบริษัทของไทยอยู่ใน Dow Jones Sustainability Index มากที่สุด แต่ธุรกิจของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ทำให้ ธปท. ต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคการเงินเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่นและทันการณ์ ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับตัวได้ ประชาชนมีบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ดังนั้น สิ่งที่ ธปท. ผลักดัน คือ การให้สถาบันการเงินยกระดับการทำหน้าที่สนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจและประชาชนไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ผ่านการดำเนินการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดทำ Taxonomy การจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้พิจารณาในการให้สินเชื่อ
.