ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 10/2567 | 31 กรกฎาคม 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร ขยายตัว จากราคาเป็นสำคัญ ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวเปลือกจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง และราคาสับปะรดและลิ้นจี่ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่วนผลผลิตยังหดตัว ตามผลผลิตข้าวนาปรัง สับปะรด และลิ้นจี่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกน้อยกว่าปีก่อน และบางช่วงมีสภาพอากาศแปรปรวน
ภาคอุตสาหกรรม หดตัว จากหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มเซรามิกและเฟอร์นิเจอร์หดตัว ตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับลดลงหลังเร่งผลิตเพื่อเพิ่มสต็อกในช่วงเทศกาล และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ลดลง ส่วนหนึ่งจากการเร่งผลิตและส่งออกในกลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้ในยานยนต์ไปในช่วงก่อน ประกอบกับชิ้นส่วนกลุ่ม IT ยังฟื้นตัวช้า
ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัวเล็กน้อย แม้อัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลงบ้าง หลังขยายตัวมาต่อเนื่อง ชาวต่างชาติชะลอลง สะท้อนจากจำนวนคนผ่านด่านท่าอากาศยานเชียงใหม่และเที่ยวบินตรงที่ลดลง ด้านชาวไทยทรงตัว เนื่องจากพ้นฤดูกาลท่องเที่ยว สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาในภาคเหนือปรับลดลง
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเล็นน้อย ตามการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัว หลังลดลงมากในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในหมวดสินค้ายานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากการระมัดระวังการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่วนการใช้จ่ายหมวดบริการปรับลดลงบ้าง ตามภาคการท่องเที่ยว
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนเพื่อการผลิต การนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงลดลง ด้านการลงทุนก่อสร้างขยายตัวเล็กน้อย จากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยทยอยปรับดีขึ้น
การค้าชายแดน กลับมาหดตัว ตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีน กลับมาหดตัว ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ยานยนต์และอะไหล่ไปเมียนมายังลดลง จากความไม่สงบบริเวณชายแดน ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการนำเข้าผักและผลไม้จากจีน และกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาหดตัว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง จากหมวดอาหารสดและพลังงานลดลง
ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ปรับฤดูกาล) เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการจ้างงานโดยภาครัฐ หลังได้รับจัดสรรงบประมาณ
ประเด็นที่ตัองติดตาม
- แรงกดดันจากค่าครองชีพ
- การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
- ความผันผวนของสภาพอากาศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
31 กรกฎาคม 2567