ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ

25 มกราคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนมกราคม 2565

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคเหนือ หดตัวจากเดือนก่อน  
  • จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้กิจกรรมในภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคปรับลดลง
  • ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอลงจากปัญหา Supply Disruption ประกอบกับรายได้เกษตรกรกลับมาหดตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวน้อยลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย

รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว

ตามปริมาณการเลี้ยงสุกรที่ลดลง ประกอบกับอ้อยโรงงานชะลอลง จากการเก็บเกี่ยวเหลื่อมเดือนทำให้ฐานปีก่อนสูง และฝนตกทำให้ลำเลียงไม่สะดวก ส่วนมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ปลูก ขณะที่ราคาหดตัวต่อเนื่อง จากราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ลดลง เนื่องจากสต็อกข้าวยังอยู่ในระดับสูง

 

ภาคอุตสาหกรรม ชะลอลง

ตามหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรลดลงจากปัญหา Supply Disruption ที่ยืดเยื้อ รวมถึงการปิดโรงงานชั่วคราวของประเทศคู่ค้า ขณะที่หมวดอาหารขยายตัวจากการผลิตน้ำตาล ด้านหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยหดตัว จากค่าขนส่งที่สูงและการแพร่ระบาดของโอมิครอนในประเทศคู่ค้า

 

การท่องเที่ยว ชะลอลง

ตามการแพร่ระบาดของโอมิครอน ทำให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยลดลง สะท้อนจากยอดจองห้องพัก และปริมาณการเดินทาง ทั้งโดยเครื่องบินและรถยนต์ปรับลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังหดตัวสูงต่อเนื่อง

 

การอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัวเล็กน้อย

ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำปีก่อน และปัญหาการส่งมอบกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทุเลาลง ทำให้หมวดยานยนต์หดตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโอมิครอน ประกอบกับราคาสินค้าสูงขึ้น และมาตรการกระตุ้นฯ ของภาครัฐลดลง ทำให้การใช้จ่ายซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันปรับลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัวเล็กน้อย

ตามการลงทุนผลิตเพื่อส่งออกมีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลงทุนซื้อรถยนต์บรรทุกและรถกระบะปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนก่อสร้างเริ่มมีสัญญานปรับดีขึ้น สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร 

การส่งออก ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกไปเมียนมา และ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ในหมวดน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี อาหารและยา ขณะที่การส่งออกผลไม้ไปจีนตอนใต้หดตัวน้อยลง จากปัญหาความล่าช้าในการส่งออกผ่านด่านโม่ฮาน (Mohan) เริ่มคลี่คลาย การนำเข้า ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว การนำเข้าสินค้าเกษตรจากเมียนมา และการนำเข้าผลไม้จากจีนกลับมาขยายตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้น ตามราคาหมวดอาหารสดและราคาพลังงาน

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมยังคงเปราะบาง 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 กุมภาพันธ์ 2565

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
โทรศัพท์ : 0 5393 1158
E-mail : Pimchany@bot.or.th