ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ

02 พฤศจิกายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคเหนือ ขยายตัวจากไตรมาสก่อน
  • จากการท่องเที่ยวและการผลิตขยายตัว การจ้างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรยังขยายตัวได้ ช่วยสนับสนุนการบริโภค
  • อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนหดตัว

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง จากผลผลิตที่หดตัว ตามการลดลงของข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปีก่อน รวมทั้งผลผลิตลำไยลดลง จากสภาพอากาศผันผวนทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และบางส่วนปรับไปปลูกพืชอื่น ส่วนด้านราคาขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามราคาข้าวที่มีอุปสงค์ต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และราคาลำไยสูงขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง จากหมวดอาหารแปรรูป ในกลุ่มอาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล ประกอบกับหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว จากการเร่งผลิตรองรับโทรศัพท์รุ่นใหม่ และชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ด้านหมวดเครื่องดื่มลดลงในกลุ่มสุราขาว น้ำดื่ม และโซดา ส่วนหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยหดตัวต่อเนื่องทั้งเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และเฟอร์นิเจอร์ ตามอุปสงค์คู่ค้าที่ยังอ่อนแอ

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ต่ำกว่าคาด ประกอบกับชาวไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน ผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน และชาวต่างชาติผ่านด่าน ตม. เชียงใหม่ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน  สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมปรับฤดูกาลที่เพิ่มขึ้นจากไ่ตรมาสก่อน

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวเล็กน้อย ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดบริการ และหมวดน้ำมันปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ค. และ ส.ค. ที่มีวันหยุดยาว อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อน หมวดยานพาหนะลดลงจากรถกระบะและรถจักรยานยนต์หดตัว ส่วนรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเลนส์ ประกอบกับรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวต่อเนื่อง ในกลุ่มรถกระบะ ส่วนการลงทุนก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหดตัวน้อยลง โดยปรับดีขึ้นบ้างในประเภทพื้นที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว ตามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์และน้ำมันไปเมียนมา จากความไม่สงบบริเวณชายแดนและเส้นทางเสียหายจากฝนตกหนัก ทำให้ขนส่งสินค้าได้จำกัด อย่างไรก็ดี ผลไม้ทุเรียนและมังคุดไปจีนขยายตัว ด้านการนำเข้าหดตัวน้อยลง จากผลไม้และผักจากจีนขยายตัว แต่กระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว หดตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดอาหารสด และเงินเฟ้อพื้นฐาน

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับ
ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 ที่ลดลง

 

 

แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าอยู่ในทิศทางฟื้นตัว จากการเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยวของภาคเหนือ ทำให้แนวโน้มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตอุตสาหกรรมมีทิศทางขยายตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การจ้างงานปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรคาดว่าชะลอลงตามผลผลิตที่ลดลง รวมทั้งค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการบริโภค

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 พฤศจิกายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
โทรศัพท์ : 0 5393 1162
E-mail : Thaveesc@bot.or.th

 

 

.