ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ

29 กุมภาพันธ์ 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนมกราคม 2567

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคเหนือเดือนมกราคม 2567 ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน 
  • ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น และผลผลิตเกษตรหดตัวน้อยลง
  • อย่างไรก็ตาม ทิศทางรายได้เกษตรกร และการจ้างงาน
    ที่ชะลอลง เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคให้ขยายตัวได้เล็กน้อย

รายได้เกษตรกร กลับมาขยายตัว จากผลผลิตอ้อยกลับมาเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผลผลิตหดตัว ทั้งอ้อยโรงงาน ข้าวนาปี และมันสำปะหลัง จากผลของเอลนีโญ ขณะที่ด้านราคาขยายตัวดี ตามราคาอ้อยโรงงานที่ปรับสูงขึ้นตามราคาอ้อยขั้นต้น ประกอบกับราคาข้าวและมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการต่อเนื่อง

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว จากหมวดอาหารกลับมาขยายตัว ตามการผลิตน้ำตาลที่โรงงานกลับมาเปิดหีบครบทุกแห่ง หมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมาผลิตเพิ่มสต็อกหลังช่วงเทศกาล และหมวดผักและผลไม้กระป๋องส่งออกไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันเพิ่มขึ้น ด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทรงตัว โดยกลุ่มชิ้นส่วนในรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่ชิ้นส่วน IT ยังหดตัวต่อเนื่อง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวเกาหลีไต้ ไต้หวัน และยุโรป ด้านนักท่องเที่ยวไทยชะลอลงหลังผ่านช่วงเทศกาล และวันหยุดยาว สะท้อนจากการเดินทางด้วยรถยนต์ปรับลดลง ขณะที่การเดินทางทางอากาศยังขยายตัวจากเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวเล็กน้อย จากการใช้จ่ายหมวดบริการและสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังมีทิศทางดี และสินค้ากึ่งคงทนปรับดีขึ้นเล็กน้อย จากมาตรการ Easy E-Receipt อย่างไรก็ตาม หมวดยานยนต์หดตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์และกำลังซื้อที่ชะลอลง ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นในทุกหมวด ทั้งการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยอดจำหน่ายเครื่องจักรเพื่อการเกษตร และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ประเภทรถแทรกเตอร์ ขณะที่การลงทุนด้านก่อสร้างปรับลดลงเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ลดลง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว จากการส่งออกขยายตัว ตามสินค้าอุปโภคบริโภคไป สปป.ลาว และเมียนมา แต่การส่งออกไปเมียนมาโดยรวมยังหดตัว จากความไม่สงบบริเวณชายแดน ขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวน้อยลง จากมังคุดที่ขยายตัวมากขึ้น ด้านการนำเข้าหดตัว ตามการนำเข้าผลไม้และผักจากจีนหดตัว ส่วนการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ยังขยายตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลงต่อเนื่อง ตามราคาอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิง

 

ตลาดแรงงาน ชะลอลงต่อเนื่อง ตามจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ปรับฤดูกาล มีทิศทางลดลงสอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานใหม่ตามมาตรา 38 ที่เพิ่มขึ้น

 

ปัจจัยที่ตัองติดตาม

- ผลกระทบของเอลนีโญต่อภาคเกษตร
- การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
- นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 กุมภาพันธ์ 2567

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

0 5393 1166

งานเศรษฐกิจสำนักงานภาคเหนือ