ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 12/2567 | 30 สิงหาคม 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร ขยายตัว ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเป็นสำคัญ โดยการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวเปลือกจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ และราคาสับปะรดเพิ่มขึ้นเพราะผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ด้านผลผลิตขยายตัวเล็กน้อยตามผลผลิตลำไย เนื่องจากปีก่อนราคาสูงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการบำรุงดูแลรักษามากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว จากหมวดอาหารแปรรูปในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าวส่งไปตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ และผักผลไม้กระป๋องที่ปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในช่วงครึ่งปีแรก หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มยานยนต์ยังขยายตัว และในโทรศัพท์มือถือเห็นสัญญาณปรับดีขึ้นเพื่อรองรับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ หมวดสิ่งทอปรับดีขึ้นหลังจากสต็อกคู่ค้าเริ่มลดลง และเซรามิกยังขยายตัวได้ในตลาดระดับบน
ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงหยุดยาว และช่วงปิดเทอมของต่างประเทศ ส่งผลให้ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจีนและเกาหลี สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านด่านท่าอากาศยานเชียงใหม่และเที่ยวบินตรงที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่ปรับฤดูกาลขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว ทำให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการปรับดีขึ้น ประกอบกับหมวดยานยนต์หดตัวน้อยลงจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และมีการส่งมอบรถยนต์กลุ่ม Eco Car และรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับราคาลงในช่วงก่อนหน้า
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว จากการลงทุนเพื่อการผลิต ทั้งการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตเครื่องดื่มและชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น และยอดจำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรม ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงลดลง ด้านการลงทุนก่อสร้างทรงตัว โดยยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดล
การค้าชายแดน ขยายตัว ตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีน สินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิงไป สปป.ลาว ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปเมียนมาหดตัว จากความไม่สงบบริเวณชายแดนและการขนส่งทำได้จำกัด ด้านการนำเข้าขยายตัวเล็กน้อย จากการนำเข้าผักและผลไม้จากจีน และกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ส่วนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาหดตัว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น จากหมวดอาหารสดและเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น
ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ปรับฤดูกาล) เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการจ้างงานโดยภาครัฐ หลังได้รับจัดสรรงบประมาณ ประกอบกับการจ้างงานในภาคก่อสร้างและการผลิตปรับดีขึ้น
ประเด็นที่ตัองติดตาม
- แรงกดดันจากค่าครองชีพ
- การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
- ความผันผวนของสภาพอากาศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
30 สิงหาคม 2567