ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 16/2567 | 29 พฤศจิกายน 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร หดตัว จากราคาสินค้าเกษตรหดตัว ตามราคาข้าวเปลือกจากผลของฐานสูงปีก่อนและการส่งออกที่ชะลอลง ประกอบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและมีคุณภาพลดลง ส่วนผลผลิตขยายตัวเล็กน้อยตามข้าวนาปีและลำไยมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากกว่าปีก่อนและราคาสูงในช่วงก่อนหน้าจูงใจให้เกษตรกรดูแลดี
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว ตามการผลิตและส่งออกอาหารแปรรูปจากความต้องการที่ยังมีต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์ข้าวอบกรอบ ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับดีขึ้นเพื่อเพิ่มสต็อกก่อนเข้าช่วงเทศกาล และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้นเพื่อรองรับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่
ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัว จากผลอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ ช่วงต้นเดือนทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยลดลง สะท้อนจากผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและจำนวนรถยนต์ที่เดินทางมาภาคเหนือลดลง อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติยังขยายตัวได้โดยเฉพาะเกาหลีและจีนจากช่วงวันหยุดยาวและเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ด้านอัตราการเข้าพักแรมเพิ่มขึ้นในกลุ่มโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม
การบริโภคภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย จากผลของอุทกภัยทำให้การใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง รวมทั้งมีการเร่งซื้อไปช่วงก่อนหน้า ด้านสินค้าหมวดยานยนต์ปรับดีขึ้นตามรถยนต์ที่มีการเลื่อนส่งมอบจากช่วงอุทกภัยในบางพื้นที่ อาทิ เชียงราย มาส่งมอบในเดือนนี้ ขณะที่รถจักรยานยนต์ได้รับผลดีจากโครงการกระตุ้นฯ เงิน 10,000 บาท ช่วยให้ยอดขายปรับดีขึ้นชั่วคราว
การลงทุนภาคเอกชน หดตัว จากจากการลงทุนเพื่อการผลิต ทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ประเภทรถกระบะและรถแทรกเตอร์ยังลดลงต่อเนื่อง และการนำเข้าสินค้าทุนลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อน ประกอบกับการลงทุนก่อสร้างหดตัว จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ตามการชะลอการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ
การค้าชายแดน กลับมาขยายตัว จากการส่งออกทุเรียนและลำไยสดไปจีน ตามความต้องการในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน แต่การส่งออกไปเมียนมาหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าจากความไม่สงบบริเวณชายแดน ด้านการนำเข้าขยายตัว ตามกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ขณะที่การนำเข้าผลไม้และผักจากจีนยังหดตัว ส่วนหนึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในจีน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น จากราคาหมวดพลังงาน และเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น
ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตาม ม.33 ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยการจ้างงานในพื้นที่ท่องเที่ยวและการค้ายังมีทิศทางดี
ประเด็นที่ตัองติดตาม
- การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคหลังอุทกภัยคลี่คลาย
- ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
- ความผันผวนของสภาพอากาศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
29 พฤศจิกายน 2567