ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 11/2567 | 02 สิงหาคม 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร ขยายตัว จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาข้าวเปลือกขยายตัวดี ตามความต้องการของตลาดต่าง ประเทศ ราคาลิ้นจี่และสับปะรดขยายตัว เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ด้านผลผลิตยังหดตัว ตามผลผลิตข้าวนาปรัง ลิ้นจี่ และสับปะรด จากผลของเอลนีโญที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกน้อยกว่าปีก่อน และบางช่วงมีสภาพอากาศแปรปรวน
ภาคอุตสาหกรรม หดตัวเล็กน้อย หมวดอาหารลดลงจากผลผลิตข้าวและน้ำตาลตามภาวะแล้ง ผักและผลไม้กระป๋องลดลงจากคู่ค้ายังมีสต็อก ด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ปรับลดลงเล็กน้อยหลังเร่งผลิตและส่งออกไปในช่วงก่อน อย่างไรก็ดี ผลผลิตเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเพื่อสต็อกในช่วงเทศกาล
การท่องเที่ยว ขยายตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ประกอบกับการจัดกิจกรรมในพื้นที่มากกว่าปีก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้การเดินทางทางอากาศและรถยนต์ที่ขยายตัว สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
การอุปโภคบริโภค หดตัว ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับลดลงจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงและระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับสินค้าคงทนลดลงต่อเนื่อง จากสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการปรับดีขึ้น สอดคล้องกับกิจกรรมภาคท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล
การลงทุนภาคเอกชน หดตัว จากการลงทุนก่อสร้างลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ส่วนการลงทุนเพื่อผลิตลดลง ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ประเภทรถกระบะลดลงต่อเนื่อง และยอดจำหน่ายเครื่องจักรลดลง หลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนโดยธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทยอยปรับดีขึ้น
การค้าชายแดน ขยายตัว จากการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีน รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้างไป สปป.ลาว ขณะที่การส่งออกไปเมียนมาหดตัว จากความไม่สงบบริเวณชายแดน ด้านการนำเข้าขยายตัว จากการนำเข้าผักและผลไม้จากจีน และกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาหดตัว
อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น จากหมวดพลังงานและอาหารสดเพิ่มขึ้น
ตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ปรับฤดูกาล) เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการจ้างงานโดยภาครัฐ หลังได้รับจัดสรรงบประมาณ
แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2567 คาดว่ามีทิศทางทรงตัว การบริโภคยังคงถูกกดดันจากค่าครองชีพและราคาพลังงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมทั้งการลงทุนยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังมีทิศทางทยอยปรับดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลผลิตเกษตรปรับดีขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และผลผลิตอุตสาหกรรมคาดว่าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามความต้องการของคู่ค้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 สิงหาคม 2567
.