ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ
ข่าว ธปท. สภน. ฉบับที่ 9/2568 | 30 มิถุนายน 2568
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร ขยายตัว จากผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นมากจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย รวมทั้งลิ้นจี่ที่เพิ่มขึ้นจากฐานต่ำปีก่อนที่ผลผลิตน้อยเป็นประวัติการณ์ ด้านราคายังหดตัวจากราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ลดลงตามการส่งออก มันสำปะหลังลดลงตามความต้องการของจีนที่ลดลงและอุปทานของประเทศคู่แข่งที่มากกว่าคาด และราคาลิ้นจี่ลดลงตามคุณภาพ ประกอบกับปีนี้มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว ตามการผลิตอาหารแปรรูปที่ความต้องการจากต่างประเทศยังดีต่อเนื่อง ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ขยายตัวตามการเร่งส่งออก จากการที่คู่ค้าเร่งสต็อกก่อนมาตรการภาษีสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะตลาดพรีเมียม อาทิ เครื่องนุ่งห่มปรับดีขึ้นจากการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์จากไม้และกระดาษแปรรูปปรับดีขึ้นในตลาดสหรัฐฯ
ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นสำคัญจากผลของวันหยุดยาวและการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหดตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ ชาวไทยที่ขยายตัวสะท้อนจากเครื่องชี้จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและรถยนต์ที่เดินทางเข้าภาคเหนือเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมยังขยายตัวได้จากเดือนก่อน
การบริโภคภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย ตามกำลังซื้อที่ลดลง พฤติกรรมการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากฝนที่มาเร็วและนานกว่าปีก่อน ทำให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนและสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง ด้านสินค้าคงทนยังหดตัวต่อเนื่อง แม้จะมีการเร่งส่งมอบยานยนต์บางรุ่นเพิ่มขึ้นภายหลังงาน Motor show อย่างไรก็ดี สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการปรับดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนเพื่อการก่อสร้างในหมวดยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ยังหดตัว สอดคล้องกับการลดลงของโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ ขณะที่การลงทุนเพื่อการผลิตทรงตัว โดยหมวดการนำเข้าสินค้าทุนชะลอลงต่อเนื่องจากการเร่งนำเข้าไปมากในช่วงก่อน ด้านยอดจำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและการเกษตรยังคงหดตัว ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ
การค้าชายแดน ขยายตัว ตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีน น้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคไป สปป.ลาว ขยายตัว ขณะที่หลายหมวดสินค้าไปเมียนมา ยังหดตัว เนื่องจากการขนส่งสินค้าเข้าพื้นที่ชั้นในเมียนมาทำได้น้อยลงจากภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ด้านการนำเข้าขยายตัว ตามแร่พลวงจากเมียนมาและผักจากจีน ขณะที่กระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว หดตัว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบต่อเนื่อง จากราคาหมวดพลังงานและอาหารสดที่ลดลงต่อเนื่อง
ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน ตามจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ทรงตัว จากการจ้างงานของกลุ่มโรงงานน้ำตาลลดลงเพราะหมดฤดูหีบอ้อย ขณะที่ การจ้างงานของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเอทานอล เพิ่มขึ้น
ประเด็นที่ตัองติดตาม
- นโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก
- กำลังซื้อของผู้บริโภค
- มาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
30 มิถุนายน 2568