ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ

31 ตุลาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนกันยายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคเหนือเดือนกันยายน 2566 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน
  • จากการท่องเที่ยวและการบริโภคปรับลดลง หลังผ่านช่วงหยุดยาวและมีฝนตกมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ประกอบกับการผลิตชะลอลง
  • อย่างไรก็ดี การจ้างงานยังทยอยปรับดีขึ้น

รายได้เกษตรกร ขยายตัว จากด้านราคาขยายตัวดี ตามราคาข้าวเปลือกที่อุปสงค์ดีต่อเนื่อง ประกอบกับราคาลำไยเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ด้านผลผลิตหดตัว จากผลผลิตข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะปริมาณฝนน้อยกว่าปีก่อน ผลผลิตลำไยลดลงจากสภาพอากาศผันผวนช่วงออกดอก และบางส่วนปรับไปปลูกพืชอื่น

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวชะลอลง จากหมวดอาหารแปรรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโทรศัพท์มือถือชะลอลง หลังเร่งผลิตไปในช่วงก่อน ประกอบกับหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องประดับ หดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์คู่ค้าที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี หมวดเครื่องดื่มขยายตัว รวมทั้งหมวดชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในยานยนต์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

 

การท่องเที่ยว ชะลอลง จากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ จำนวนชาวต่างชาติที่ผ่านด่าน ตม. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวมทั้งการเดินทางด้วยรถยนต์ปรับลดลงจากเดือนก่อน หลังผ่านช่วงหยุดยาว สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่ปรับลดลง

 

การอุปโภคบริโภค หดตัว ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง หลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้าที่มีวันหยุดยาว ประกอบกับในเดือนนี้มีฝนตกมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลง รวมทั้งการใช้จ่ายในหมวดยานพาหนะลดลง อย่างไรก็ดี สินค้ากึ่งคงทนขยายตัวได้ ในกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัว ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนลดลง หมวดรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวต่อเนื่อง ด้านการก่อสร้างหดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยหมวดวัสดุก่อสร้างลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยหดตัวน้อยลง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาขยายตัว ตามการส่งออกทุเรียนและมังคุดไปจีนขยายตัว และเมียนมาปรับดีขึ้น หลังเส้นทางขนส่งกลับมาใช้ได้ปกติ ด้านการนำเข้าหดตัว ตามกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จากการปิดซ่อมบำรุงประจำปี ขณะที่ผลไม้และผักจากจีนขยายตัว ตามความต้องการในประเทศ

 

อัตราเงินเฟ้อ ติดลบเล็กน้อย จากราคาในหมวดอาหารสดที่ติดลบ เนื่องจากฐานสูงในปีก่อน และหมวดพลังงานที่ลดลง

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 ที่ลดลง

 

ปัจจัยที่ตัองติดตาม
-  ผลผลิตเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญและสภาพอากาศผันผวน
-  การฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและสถานการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศ
-  นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 ตุลาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
โทรศัพท์ : 0 5393 1165
E-mail : RossukoS@bot.or.th

 

 

เอกสารประกอบการแถลงข่าวทั้งหมด