คู่มือการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของ ธปท.

     ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ออกธนบัตรของรัฐบาล ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา โดยปริมาณธนบัตรนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและความต้องการใช้ธนบัตรชนิด ราคาต่าง ๆ ของประชาชน ส่วนอัตราเพิ่มของมูลค่าธนบัตรที่ออกใช้จะเป็นอัตราที่เหมาะสมกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการนำธนบัตรออกใช้จะทำได้เพียง 2 กรณี คือ 1) การแลกเปลี่ยนทันทีกับธนบัตรที่ออกใช้ ไปก่อนแล้วถอนคืนจากการออกใช้ในมูลค่าเท่ากันและ 2) การแลกเปลี่ยนทันทีกับสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีค่าเท่ากัน ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

     ธปท. ได้จัดตั้งศูนย์จัดการธนบัตรของ ธปท. 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อการกระจายธนบัตรออกสู่ประชาชน โดยมีธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวแทนในการกระจายธนบัตรสู่มือประชาชน นอกจากนี้ ศูนย์จัดการธนบัตรของธปท. ยังทำหน้าที่ครอบคลุมถึงการทำลายธนบัตรที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานอีกด้วยเพื่อให้มีธนบัตรสภาพดีหมุนเวียนใช้อย่างเพียงพอในระบบเศรษฐกิจ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

     ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ สาขาของธนาคารต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ช่วยกำกับดูแล โดยกำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์ฐานะและการดำเนินงาน  ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเพื่อให้มีเสถียรภาพ

     ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด ผ่านช่องทางและเครื่องมือนโยบายต่าง ๆ โดยในการดูแลเสถียรภาพราคาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นเครื่องมือหลัก ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) นอกจากนี้ ธปท. สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อดูแลปริมาณเงินในระบบการเงิน

     เป็นนายธนาคารของรัฐบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ในการรับจ่ายเงินเพื่อบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง การรับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล การเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการซื้อขายโลหะทองคำและเงิน การซื้อขายและโอนตั๋วแลกเงิน หลักทรัพย์และใบหุ้น การควบคุมและการรวมไว้ในแหล่งกลางซึ่งเงินปริวรรตต่างประเทศ หรืออาจเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ นอกจากนี้ อาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีอำนาจกระทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีอำนาจกระทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย

คู่มือหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.   
>> การเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน
>> บริการด้านพันธบัตร

     ธปท. พัฒนาระบบการชำระเงินโดยนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ระบบการชำระเงินของประเทศมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ ธปท. ดำเนินการมี 2 ระบบ ได้แก่
     1. ระบบการโอนเงินรายใหญ่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ BAHTNET) เป็นระบบที่ให้บริการโอนเงินไปยังผู้รับที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ต่างธนาคารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ ธปท. เพื่อประโยชน์สำหรับการโอนเงินมูลค่าสูงซึ่งมีผลสมบูรณ์ในวันเดียวกัน และผู้รับสามารถใช้เงินได้ทันทีที่เงินเข้าบัญชี
     2. ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพ (ระบบ Imaged Cheque Clearing and Archive System: ICAS) เป็นระบบการหักบัญชีเช็คที่ใช้ภาพเช็คในกระบวนการเรียกเก็บและการอนุมัติจ่ายเงินตามเช็คแทนการใช้ตัวเช็คจริงเพื่อย่นระยะเวลาการเรียกเก็บเช็คทั่วประเทศให้เหลือ 1 วันทำการ

     ธปท. ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) โดยจะไม่กำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยน ณ ค่าใดค่าหนึ่ง โดยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะตลาด สะท้อนอุปสงค์และอุปทานของเงินบาทเทียบกับเงินตราต่างประเทศ แต่จะดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวผันผวนมากหรือเร็วเกินไป หรือเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ แต่ในกรณีที่เห็นว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวบิดเบือนไปจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ธปท. อาจเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนผ่านกลไกตลาดบ้างเป็นครั้งคราว

      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ ธปท. เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดย ธปท. ได้ดำเนินการออกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการกำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศและการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไทย