ส่งเสริมระบบการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมระบบการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดการดำเนินการ

สถาบันการเงิน : “กำหนดกลยุทธ์รองรับความเสี่ยงและสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม”

policy

การวางรากฐานที่สำคัญ (building blocks)

 

1. การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ

ธปท. ได้ออกแนวนโยบายที่เป็นแนวปฏิบัติมาตรฐาน (standard practice) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) และแนวนโยบายของผู้กำกับดูแลภาคการเงินในต่างประเทศ เพื่อให้สถาบันการเงินคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

2. มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (taxonomy)

ธปท. เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงาน Thailand Taxonomy ซึ่งได้จัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำไปใช้อ้างอิงในการจัดทำกลยุทธ์ วางแผน และออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีมาตรฐาน (อ่านต่อ)

3. ฐานข้อมูลที่เป็นระบบและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล

ธปท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการพัฒนาฐานข้อมูลและ data platform ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ และบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลของ SMEs เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธปท. ยังผลักดันให้สถาบันการเงินไทยทยอยเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 

4. มาตรการสร้างแรงจูงใจ

ธปท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม ให้เข้าถึงแหล่งงเงินทุนต้นทุนต่ำด้วยขนาดวงเงินที่เหมาะสม เช่น มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว (transformation loan) ภายใต้ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พ.ศ. 2564 

5. องค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน

ธปท. ร่วมมือกับหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในการจัดอบรมให้บุคลากรในภาคการเงินมีความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการจัดอบรมเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และ climate scenario analysis and stress testing 

Financing the Transition การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ

 

ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินพัฒนาโครงการผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (financing product for transition to environmental sustainability) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์การปรับตัวตามบริบทอุตสาหกรรมไทย และสอดคล้องความต้องการและความพร้อมของธุรกิจ  โดยเน้นการทำจริง เห็นผลจริง และขยายผลได้ (อ่านต่อ)

ความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลในหลายประเทศได้จัดตั้งเครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อผลักดันระบบการเงินให้รับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว โดย ธปท. เข้าร่วมเป็นสมาชิก NGFS ในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ธปท. ได้ร่วมเป็นสมาชิกของคณะทำงานด้าน sustainable finance ของเครือข่ายธนาคารกลางต่างๆ เช่น Executives’ Meeting of East Asia-Pacific Central Banks (EMEAP) และร่วมขับเคลื่อน ASEAN Taxonomy

การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้

 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) และสายงานที่เกี่ยวข้องใน ธปท.  ร่วมกับพันธมิตรทางวิชาการ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อในการสื่อสารนโยบายและสร้างการมีส่วนร่วม อาทิ การฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจการเงินตลอดจนหาแนวทางการปรับตัวของธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่โลกใหม่ภายใต้กระแสความยั่งยืน (อ่านต่อ)

การชำระเงิน : "ลดการใช้เงินสด เพิ่มการใช้งาน Digital Payment"

 

ธปท. มีเป้าหมายให้ประชาชนใช้ digital payment เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการลดการใช้เงินสดและเช็ค ตามวิสัยทัศน์ของนโยบายระบบชำระเงินที่จะให้ “การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักที่เข้าถึงผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพ และการแข่งขันของไทย พร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง” ซึ่งการใช้เงินสดน้อยลง จะลดความจำเป็นในการผลิต การบริหารจัดการ และการขนส่งธนบัตร ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

 

นอกจากนี้ ธปท. กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดตู้ ATM ที่เกินความจำเป็น โดยอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้ White Label Smart Machine (WSM) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งและกดเงินสด ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

 

digital payment

การบริหารจัดการธนบัตร : “ยืดอายุการใช้งานธนบัตรลดการบริหารจัดการที่ไม่จำเป็น”

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ธปท. ได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท ซึ่งผลิตจากวัสดุพลาสติกประเภท biaxially oriented polypropylene (BOPP) ที่มีอายุการใช้งานนานกว่าธนบัตรกระดาษประมาณ 2.5 - 3.3 เท่า ดังนั้นการใช้ธนบัตรพอลิเมอร์จึงส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าธนบัตรกระดาษ เมื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามวงจรชีวิตธนบัตรตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนสิ้นสุดการใช้งานแล้ว (Life Cycle Assessment) และในระยะต่อไป ธปท. ได้วางแผนการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์เพิ่มเติมในชนิดราคาอื่นเพื่อทยอยทดแทนธนบัตรกระดาษ ซึ่งในระยะยาวคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตธนบัตรโดยรวมลดลงด้วย

 

นอกจากนี้ ธปท. ได้จัดตั้งศูนย์เงินสดกลาง (Consolidated Cash Center: CCC) เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนในการนับคัดธนบัตร รวมทั้งลดจำนวนเที่ยวการขนส่งธนบัตร ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 

 

banknote polymer