ช่วงเวลาในการเปิดรับฟังความคิดเห็น
10 - 24 พฤษภาคม 2567
วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืนโดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนจากการวางภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) ของ ธปท. ที่เน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลความเสี่ยงเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนผ่านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นซึ่งต้องการเงินทุนในการประกอบธุรกิจได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ธปท. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโครงสร้างและขอบเขตธุรกิจของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ดังนี้
1) ขยายขอบเขตธุรกิจให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นธนาคารพาณิชย์และบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (green-related business) ได้ ประกอบด้วย
1.1) ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
1.2) ธุรกิจการแนะนำสินค้าหรือบริการด้านสิ่งแวดล้อม
1.3) ธุรกิจการคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์
1.4) ธุรกิจส่งข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์
1.5) ธุรกิจรวบรวมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นคาร์บอนเครดิต
โดยบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ต้องมีการกำกับดูแลและการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
2) ปรับปรุงขอบเขตการประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital: VC) ให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยไม่จำกัดประเภทของธุรกิจที่ VC เข้าร่วมลงทุน เพื่อให้สามารถสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ