ปี 2564 คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์

-

 

        ปี 2564 คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากถึง 19.1 % yoy จนมียอดคงค้างสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกเอื้ออำนวย ประกอบกับการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ภายใต้แผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ของ ธปท. ช่วยให้คนไทยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อย โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดสามารถสรุปได้ ดังนี้ 

 

ภาพรวมการลงทุนในหลักทรัพย์ปี 2564

 

การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2559-2562 พบว่าคนไทยนิยมลงทุนในหน่วยลงทุนและหุ้นต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ลงทุนตราสารหนี้และเงินฝากต่างประเทศลดลง โดยที่การลงทุนมีแนวโน้มกระจุกตัวในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และลักเซมเบิร์ก และหากพิจารณาในมิติผู้ลงทุน พบว่ากองทุนรวมในไทย กองทุนเพื่อการเกษียณ และบริษัทประกันยังเป็นนักลงทุนกลุ่มหลัก อย่างไรก็ดี กลุ่มนักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มที่น่าจับตาเพราะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากต่อเนื่อง

       ด้านการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน พบว่าการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจาก FX มีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ที่ลงทุน ผลตอบแทน และความต้องการป้องกันความเสี่ยงของผู้ลงทุน จึงเห็นได้ว่า กลุ่มกองทุนรวมที่ต้องการรักษาระดับผลตอบแทนให้คงที่ตามความต้องการของผู้ลงทุน และกลุ่มบริษัทประกันที่บริหารความเสี่ยงตามภาระผูกพันตามกรมธรรม์ จะมีสัดส่วน FX hedging ที่สูง ขณะที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีสัดส่วน FX hedging น้อย เนื่องจากลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก

เจาะลึกพฤติกรรมการลงทุนรายกลุ่ม

 

        กองทุนรวม ในปี 2564 พบว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2564 มีสัดส่วนเกินครึ่งของกองทุนรวมทั้งหมด และมีมูลค่าการลงทุนต่างประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ โดยปี 2564 คนไทยนิยมลงทุนใน feeder fund มากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น

       บริษัทประกัน ในปี 2564 พบว่า บริษัทประกันมียอดคงค้างหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 %yoy ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการเพิ่มผลตอบแทนและเพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทประกันเสนอขาย ประกอบกับการปรับปรุงเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในช่วงปี 2563 – 2564 โดยการขยายสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศจากเดิมร้อยละ 15 เป็น 30 ของสินทรัพย์ลงทุน และการปรับเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม ทำให้บริษัทประกันกระจายการลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศมากขึ้นแตกต่างจากเดิมที่นิยมลงทุนในหลักทรัพย์ไทย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทประกันลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นตราสารหนี้ระยะยาวและหน่วยลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะภาระผูกพันของผลิตภัณฑ์ประกัน

       ผู้ลงทุนรายย่อย ในปี 2564 พบว่า ผู้ลงทุนรายย่อยมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนผ่านตัวแทนในประเทศที่เติบโตประมาณ 70 – 80 %yoy ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหุ้นและหน่วยลงทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันการลงทุนโดยไม่ผ่านตัวแทนในประเทศเริ่มมีบทบาทมากขึ้น หลังจากที่ ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์การลงทุนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

เหตุใดการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศจึงเพิ่มขึ้น?

 

        การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจาก 1) ความต้องการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนมีมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ ตามจังหวะและโอกาสการลงทุน 2) การลดขั้นตอนก่อนออกไปลงทุน โดยการปรับเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ผู้ลงทุนสามารถทำได้คล่องตัว และการขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ 3) การลงทุนทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการทางการเงินเสนอผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถลงทุนต่างประเทศได้โดยใช้เงินจำนวนไม่มาก

อยากลงทุนต่างหลักทรัพย์ต่างประเทศต้องทำอย่างไร?

 

        หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของ ธปท. แตกต่างกันตามประเภทผู้ลงทุนและช่องทางการลงทุน กล่าวคือ

  • กรณี ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนโดยไม่ผ่านตัวแทน ก่อนไปลงทุน ต้อง 1) ยื่นแบบแจ้งความประสงค์ที่จะลงทุนต่างประเทศ และ  2) รายงานข้อมูลการลงทุนต่อ ธปท. ตามระยะเวลาที่กำหนด
  • กรณี ผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวแทนในประเทศ ผู้ลงทุนรายย่อยไม่ต้องลงทะเบียนกับ ธปท. 

       ทั้งนี้ บทความฉบับเต็มสามารถ download ได้ตามลิงก์ที่ปรากฏด้านล่าง ซึ่งได้ฉายภาพการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศปี 2564 พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของ ธปท. อันเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ที่สนใจเริ่มลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลยอดคงค้างหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย ซึ่งจัดเก็บโดย ธปท. ประกอบกับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ในรูปแบบ Interactive PDF เพื่อให้สามารถอ่านบทความได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

 

How to ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

 

 

 

อ่านบทความฉบับเต็ม

  • การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศปี 2564

 

ผู้จัดทำ

กัญฐณา โสภณพนา สายตลาดการเงิน

รัตติยากร ลิมัณตชัย สายนโยบายการเงิน