การพัฒนาภาคการเงิน…เพื่อตอบโจทย์ “Resiliency”
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 27 พฤษภาคม 2568
เรารับทราบกันดีอยู่แล้วนะคะว่าปัจจุบัน โลกมีความผันผวนสูงมาก ซึ่งมีสาเหตุหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ นโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก พัฒนาการเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ซ้ำเติมปัจจัยภายในประเทศ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่เดิม โจทย์ที่สำคัญภายใต้สถานการณ์โลกใหม่นี้ คือ การป้องกันตัวเองด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของทุกภาคส่วน
ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของแบงก์ชาติที่ได้ดำเนินการมา คือ การวางรากฐานให้ภาคการเงินช่วยสนับสนุนให้ลูกค้า มี “Resiliency” สามารถปรับตัวและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ว่าการ ธปท. เคยเล่าถึงความหมายของ “Resiliency” ในงานสัมมนาปลายปีที่แล้ว ว่า “Resiliency” ไม่ใช่แค่เสถียรภาพ (stability) แต่กว้างกว่านั้น คือ “ทนทาน + ยืดหยุ่น + ล้มแล้วลุกเร็ว” โดยเศรษฐกิจจะ resilient ได้ ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. เสถียรภาพ (stability) 2. มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน (buffer) และ 3. การสร้างโอกาสจากกระแสโลกใหม่ (digital and transition)
แบงก์ชาติ ทำอะไร เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมี Resiliency
1. การดำเนินนโยบายแบบยืดหยุ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน (Integrated Policy Framework)
2. การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน สิ่งที่แบงก์ชาติเร่งทำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนค่ะ
2.1 มาตรการ Responsible Lending (RL) และ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
แบงก์ชาติได้ออกมาตรการ RL เมื่อปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร โดยให้สถาบันการเงิน (สง.) “เจ้าหนี้รับผิดชอบ” ช่วยลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ “ลูกหนี้มีวินัย” ทางการเงินที่ดีขึ้น
จากบทสัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว ของ ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบนโยบายและกำกับ สง. สะท้อนถึง การทำความเข้าใจว่า หนี้ส่วนหนึ่งของคนไทย เป็นผลจากประเทศเผชิญวิกฤติหลากหลายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติโควิด ที่กระทบภาคบริการอย่างรุนแรง รายได้ที่หายไปทำให้คนไทยตกหลุมหนี้พอควร ต่อมาเศรษฐกิจที่ฟื้นช้า รายได้ต่ำกว่าคาด ทำให้การชำระคืนหนี้ยากขึ้น จึงเป็นที่มาของการออกนโยบายช่วยเหลือที่ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์
สำหรับ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ดร. รุ่งฯ ได้ให้ความเห็นว่า จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารหนี้ได้ง่ายขึ้น ไม่เสียประวัติ ไม่ถูกยึดทรัพย์ แต่เมื่อเข้าโครงการแล้ว จะขอสินเชื่อเพิ่มไม่ได้ระยะหนึ่งและต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงต้องชั่งน้ำหนัก ทั้งนี้ ในระยะสั้น ช่วงที่รายได้ยังไม่เข้ามา การมีมาตรการเพื่อช่วยผ่อนเรื่องภาระหนี้ให้กับกลุ่มที่รายได้ฟื้นช้า แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนกว่า จะต้องมาจากรายได้ การเสริมทักษะของคนไทยให้ตอบโจทย์โลกข้างหน้าจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ รวมทั้งยังต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีอุตสาหกรรมหรือภาคบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงความรู้ของคนไทยในเรื่องบริหารจัดการหนี้
2.2 มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภัยทางการเงินมีหลายรูปแบบ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการภัยทุจริตทางการเงินมาโดยลำดับ อาทิ มาตรฐาน Mobile Banking Security (MBS) และยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการที่ทำไปแล้ว โดยเฉพาะ MBSช่วยให้ภัยทุจริตจาก “แอปดูดเงิน” ลดลงอย่างมากจนแทบไม่เหลือภัยจากแอปดูดเงินในปัจจุบัน ขณะที่การถูกหลอกให้โอนเงินเอง ยังคงมีความเสียหายปรากฏอยู่ โดยมิจฉาชีพปรับเปลี่ยน จากการโอนเงิน
หลายทอดภายในระบบธนาคาร เป็นการโอนเงินทอดเดียวออกไปบัญชีม้าคริปโทอย่างรวดเร็ว การปิดช่องโหว่บัญชีม้าคริปโท จึงต้องอาศัยวิธีจัดการให้มีมาตรฐานเดียวกันกับบัญชีธนาคารค่ะ
แบงก์ชาติยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ผลักดัน พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งทุกฝ่ายทั้ง ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telco) ผู้ให้บริการทางการเงินรวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง (shared responsibility) หากฝ่ายไหนไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่ผู้กำกับดูแลกำหนด จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ เกราะป้องกันที่ดีที่สุด คือ ประชาชน อย่ากดลิงก์ อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว ค่ะ
เป้าประสงค์หลักของมาตรการต่างๆ ที่แบงก์ชาติทำ สะท้อนในคำให้สัมภาษณ์ ดร. รุ่งฯ ที่ว่า “ความฝันของเรายังเป็นการทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี มีหนี้ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ มีภัยทางการเงินที่น้อยลง มีความมั่งคั่งที่ยั่งยืน แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดจาก ธปท. เพียงแห่งเดียวไม่ได้ บางงานมีองค์กรอื่นเป็นผู้นำ บางงานเราก็ปูพื้นให้ระบบ สง. ช่วยตอบโจทย์ เราจะทำเต็มที่ แต่มีอีกหลายๆ เรื่องที่สังคมประเทศชาติก็คงต้องจับมือและช่วยกันทำ เราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการเงินที่มั่นคง ยั่งยืน และทั่วถึงสำหรับคนไทยทุกคน”
3. สนับสนุนการสร้างโอกาสจากกระแสโลกใหม่ ประกอบด้วย
3.1 วางรากฐานการเงินดิจิทัล ภายใต้หลัก “3 Open” คือ Open Infrastructure/ Open Data/ Open Competition
3.2 สนับสนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ในฐานะผู้วางรากฐานภูมิทัศน์ทางการเงิน ดร. รุ่งฯ ได้พูดถึง สิ่งที่อยากเห็นในภาคการเงินไทย คือ อยากจะเห็นนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ควรมีความหลากหลายมากขึ้น คนควรได้รับบริการที่ดีขึ้น และเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ทุกวันนี้อาจจะยังใช้บริการอยู่นอกระบบ น่าจะเข้ามาสู่ในระบบธนาคารได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังอยากจะเห็น ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ให้คำนึงถึงผลกระทบให้มากขึ้น อย่างโลกร้อน แผ่นดินไหว อยากจะเห็น สง. ที่เข้มแข็ง มีบทบาทช่วยเหลือให้ลูกค้าอยู่ได้แบบยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มบริษัทขนาดเล็กให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด
ท้ายสุดนี้ ขอฝากงานสัมมนา Thailand Taxonomy 2.0: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนนะคะ ส่วนเรื่องการสนับสนุนการสร้างโอกาสจากโลกใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนจะขอเล่ารายละเอียดในบทความฉบับหน้าค่ะ
** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย”
ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2568