การปรับปรุงดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย
(The Improvement of Thailand’s Residential Property Price Index)

02

บทนำ

    

     ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในเครื่องชี้เศรษฐกิจที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlement) ให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในเครื่องชี้เสถียรภาพทางการเงินของประเทศ (Financial Soundness Indicators) รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ สำหรับนักลงทุน ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องชี้ที่จะช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้สามารถระบุโอกาสการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงได้แม่นยำมากขึ้น สำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สามารถใช้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในการวางแผนและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ โดยการติดตามแนวโน้มของราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมาย ทำให้สามารถกำหนดราคาขายที่เหมาะสมและคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้ สำหรับผู้บริโภค ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเป็นข้อมูลหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจซื้อบ้าน โดยการเปรียบเทียบราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้สามารถเลือกซื้อบ้านในราคาที่คุ้มค่าในทำเลและเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ยังสามารถใช้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยประกอบการวางแผนและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่นและการวางผังเมือง

 

     ดังนั้น การมีดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องแม่นยำ ทันสมัย และครอบคลุม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่ใช้งานสามารถติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มของราคาที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องด้วยที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย ราคาจึงขึ้นกับคุณลักษณะต่าง ๆ ของที่อยู่อาศัย เช่น ขนาดที่ดิน ขนาดพื้นที่ใช้สอย จำนวนชั้น ทำเล ฯลฯ การติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาที่แท้จริง (pure price) ของที่อยู่อาศัย ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเหล่านี้1 จึงต้องใช้วิธีการทางสถิติเพื่อจัดทำดัชนีที่สะท้อนภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของราคาจากปัจจัยอื่น อาทิ ปัจจัยด้านอุปสงค์ อุปทาน การเก็งกำไร และต้นทุน

     ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยโดยใช้ข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันจากธนาคารพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2554 และได้ปรับปรุงมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2558 และ 2564 ตามลำดับ โดยในการปรับปรุงครั้งล่าสุดปี 2564 ได้จัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัย 3 ประเภท ได้แก่ 1) ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน 2) ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน และ 3) ดัชนีราคาอาคารชุด ดัชนีเหล่านี้สร้างขึ้นจากฐานข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 1 แห่ง โดยใช้วิธี Hedonic Regression แบบ Rolling Window and Time Dummy ซึ่งเป็นการสร้างแบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างราคาที่อยู่อาศัยกับลักษณะที่อยู่อาศัย และควบคุมการเคลื่อนไหวของราคาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะหรือคุณภาพของที่อยู่อาศัย

 

     ในการทบทวนการจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยครั้งนี้ ยังคงใช้วิธี Hedonic Regression แบบ Rolling Window and Time Dummy เช่นเดิม แต่มีการปรับปรุงใน 3 ประเด็นสำคัญ เพื่อให้ดัชนีราคาฯ สะท้อนโครงสร้างตลาดที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น

 

     ประเด็นแรก คือ การขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ทุกแห่งที่มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากเดิมที่มีเพียง 1 รายซึ่งจะช่วยให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีความครอบคลุม และสะท้อนภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

     ประเด็นที่สอง คือ การปรับปรุงข้อมูลตัวแปรระยะห่างจากสถานที่สำคัญในแบบจำลองของแต่ละภูมิภาค เพื่อให้สะท้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากการขยายความเจริญไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมืองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ห้างสรรพสินค้า การขนส่งสาธารณะ และอื่น ๆ การพัฒนาพื้นที่และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นนี้ มีผลกระทบทางบวกอย่างมากต่อราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นั้น ๆ จากความต้องการที่สูงขึ้นของผู้ที่ต้องการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยหรือทำธุรกิจในพื้นที่นั้น รวมทั้งทำให้มีการกระจายตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ไปยังพื้นที่รอบนอกมากขึ้น การปรับปรุงในส่วนนี้จึงช่วยให้ดัชนีราคาฯ สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาที่อยู่อาศัยในแต่ละภูมิภาคได้สอดคล้องกับโครงสร้างการกระจายตัวของเมืองมากยิ่งขึ้น

 

     และประเด็นสุดท้าย คือ การเพิ่มการจัดทำดัชนีราคารวมทุกประเภทอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มการเผยแพร่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยรายภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

     การปรับปรุงเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีความแม่นยำและทันสมัยมากขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภค หรือหน่วยงานภาครัฐ สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้ว

 

     สำหรับบทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการปรับปรุงดัชนีราคาที่อยู่อาศัย (Residential Property Price Index) โดยประกอบด้วย 1) การขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหมด 2) การเพิ่มข้อมูลตัวแปรสถานที่สำคัญในแบบจำลอง 3) สรุปผลการปรับปรุงดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่จากการขยายฐานข้อมูลและเพิ่มข้อมูลตัวแปรสถานที่สำคัญ และ 4) การจัดทำดัชนีราคารวมทุกประเภทที่อยู่อาศัยของประเทศไทย

 

            

1. การขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

     

     การจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเดิมใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage loan: MGL) ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เพียง 1 แห่ง แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจรายอื่น ๆ ที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่มีสัดส่วนมูลค่าร้อยละ 5 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ในปี 2567 และสัดส่วนตามจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2567 (ภาพที่ 1) โดยเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ต่างจังหวัดที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากกว่าธนาคารพาณิชย์ (ภาพที่ 2)

 

     การปรับปรุงครั้งนี้จึงจะขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่เริ่มมีข้อมูลครบถ้วนและพร้อมใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลที่ใช้ในแบบจำลองดัชนีราคาที่อยู่อาศัยครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่าง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ภาพที่ 1 สัดส่วนมูลค่าราคาประเมินรวมและจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปี 2564 - 2567

3

ภาพที่ 2 สัดส่วนมูลค่าราคาประเมินรวมและจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัย รายภูมิภาค ปี 2567

3

     เมื่อขยายฐานข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ SFIs ทุกแห่งแล้ว ข้อมูลที่ใช้จัดทำดัชนีราคาฯ จะมีความครอบคลุมมากขึ้นเป็นร้อยละ 61 จากเดิมร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2564 - 25662 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 15 แล้วแต่ประเภทที่อยู่อาศัยและภูมิภาค (ภาพที่ 3) ทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่สะท้อนภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาค

ภาพที่ 3 ความครอบคลุมข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธพ. และ SFIs เทียบกับจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งระบบปี 2566

1

2. การปรับปรุงข้อมูลตัวแปรระยะห่างจากสถานที่สำคัญในแบบจำลอง

 

     ในแบบจำลองดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ตัวแปรระยะทาง (ln(location)) จะคำนวณจากระยะห่างจากจุดศูนย์กลางตำบลของที่อยู่อาศัยไปยังสถานที่สำคัญ (Point of Interest: POI) ที่ใกล้ที่สุด ซึ่งเป็นตัวแปรอิสระที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของลักษณะภูมิภาคนั้น ๆ โดยมีรูปแบบสมการทั่วไปของแบบจำลองที่ใช้จัดทำดัชนีราคา3 ดังนี้

 

3

     การปรับปรุงครั้งนี้มีการทบทวนการกำหนดสถานที่สำคัญในแต่ละภาคที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิง เพื่อเพิ่มข้อมูลตัวแปรระยะทางให้ครอบคลุมระยะทางจากที่อยู่อาศัยไปถึงสถานที่สำคัญให้ครบถ้วนมากขึ้น โดยจะพิจารณาและทดสอบนัยสำคัญทางสถิติจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละสำนักงานภาคของ ธปท. เพื่อให้ได้สถานที่สำคัญที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิงที่เหมาะสม และสะท้อนโครงสร้างตลาดอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลาได้มากที่สุด สรุปผลการปรับปรุงสถานที่สำคัญได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สรุปเปรียบเทียบสถานที่สำคัญแบบเดิมและแบบใหม่ที่ใช้จัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัย

2

     การปรับปรุงตัวแปรสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นการอัปเดตสถานีรถไฟฟ้าตามเส้นทางสายใหม่ทั้ง BTS MRT และ ARL เพื่อนำมาคำนวณระยะทางที่ใกล้ที่สุดจากจุดกึ่งกลางตำบลของที่อยู่อาศัย โดยที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามักจะมีราคาสูงกว่าที่อยู่อาศัยที่อยู่ไกลออกไป 

 

     สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบ สถานีรถไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาเมื่อสร้างเสร็จและเปิดพร้อมให้บริการ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีสถานีรถไฟฟ้าสร้างเสร็จใหม่พร้อมให้บริการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ และในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล การเพิ่มสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดพร้อมให้บริการสำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยรถไฟฟ้า 7 สาย รวม 85 สถานี โดยมีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 (ภาพที่ 4 ด้านซ้าย)

 

     ส่วนที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง (อาคารชุด) สถานีรถไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาห้องชุดตั้งแต่มีการประกาศเริ่มการก่อสร้าง ซึ่งการประกาศเริ่มก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยแนวดิ่งในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยรถไฟฟ้า 3 สาย รวม 31 สถานี โดยมีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 (ภาพที่ 4 ด้านขวา)

ภาพที่ 4 ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าใหม่ที่ส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

3

    การปรับปรุงตัวแปรสถานที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะอิงตามสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยมีหลักคิดว่า ที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้พื้นที่ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ จะมีราคาสูงกว่าที่อยู่อาศัยอื่นที่อยู่ไกลออกไป

 

    สำหรับที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่น การเพิ่มสถานที่สำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนการเติบโตของที่อยู่อาศัยในตำบลในเมืองฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ตำบลศิลา และบริเวณโดยรอบ ขณะที่การเพิ่มสถานที่สำคัญที่สนามบินขอนแก่น สะท้อนการเติบโตของที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินขอนแก่นและเมืองขอนแก่นฝั่งตะวันตก โดยสะท้อนจากการขยายตัวของโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่

 

    ส่วนที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา การเพิ่มสถานที่สำคัญที่เซ็นทรัลโคราช สะท้อนการเติบโตของที่อยู่อาศัยในเมืองนครราชสีมาฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณโดยรอบ ขณะที่การเพิ่มสถานที่สำคัญที่สถานีรถไฟปากช่อง สะท้อนการเติบโตของที่อยู่อาศัยในอำเภอปากช่อง โดยสะท้อนจากการขยายตัวในธุรกิจการท่องเที่ยวและบ้านพักตากอากาศในอำเภอปากช่อง

    

     การปรับปรุงตัวแปรสถานที่สำคัญในภาคใต้ พิจารณาจากสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจในจังหวัดสำคัญ ซึ่งทำให้มีการขยายของเมือง และมีที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่หนาแน่นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในจังหวัดสงขลา ได้เพิ่มห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสสงขลา สะท้อนการเติบโตของที่อยู่อาศัยในอำเภอเมืองสงขลาที่ขยายออกรอบนอกตั้งแต่ตำบลเขารูปช้างจนถึงห้าแยกน้ำกระจาย และเพิ่มสนามบินหาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง สำหรับจังหวัดภูเก็ต เพิ่มห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง ที่กระจายตัวอยู่ในตำบลต่าง ๆ ได้แก่ Porto de Phuket เซ็นทรัลภูเก็ตฟลอเรสต้า โรบินสันไลฟ์สไตล์ฉลอง ที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ตั้งใหม่หนาแน่นมากขึ้น และผลดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้มีอุปสงค์จากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช เพิ่มห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสุราษฎร์ธานี บิ๊กซีนครศรีธรรมราช และเซ็นทรัลพลาซ่า นครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งในบริเวณตำบลมีที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่หนาแน่น

    

     สำหรับเขตภาคกลางอื่น (ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล) และภาคเหนือ ได้ทบทวนแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่สำคัญเพิ่มขึ้นที่ส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3. ผลการปรับปรุงดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย

    

    จากการปรับปรุงข้อมูลให้ครอบคลุมมากขึ้นตามข้อ 1) และข้อ 2) โดยเพิ่มฐานข้อมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจครบทุกแห่ง และเพิ่มข้อมูลตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับระยะทาง (ln(location)) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคำนวณดัชนีราคาฯ ผลการปรับปรุงในแต่ละภูมิภาคมีความสอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่าแบบจำลองดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดใหม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของราคาที่อยู่อาศัยได้ดี ค่าสถิติ Root Mean Square Error (RMSE) ระหว่างดัชนีชุดเดิมและชุดใหม่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ดัชนีชุดใหม่ยังสามารถสะท้อนเหตุการณ์และแนวโน้มในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละภูมิภาคได้ดี โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

 

3.1 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

    

    ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดใหม่มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิม (ภาพที่ 5) สะท้อนสถานการณ์ด้านราคาที่อยู่อาศัยได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2563 หลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอุปสงค์คงค้างทยอยหมดลง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยชะลอลงจนหดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และทยอยปรับตัวขึ้นหลังจากนั้นตามอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่มากขึ้นตามแนววิถีใหม่ (new normal) ที่คนในเมืองต้องการซื้อบ้าน โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ จากความต้องการพื้นที่ส่วนตัวและแนวโน้มการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ที่มากขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยที่ลดลง รวมทั้งมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว (20 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565) ในช่วงนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีในการซื้อบ้าน อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากอุปทานเหลือขายสะสมที่เพิ่มสูงขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ภาพที่ 5 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

5

3.2 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล)

 

    เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิม ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดใหม่ของภาคกลางมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง (ภาพที่ 6) สะท้อนสถานการณ์ด้านราคาที่อยู่อาศัยได้ดี แม้ว่าระดับราคาจะชะลอลงในช่วงปี 2563 ถึงกลางปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ได้กลับมามีการขยายตัวตามอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่มากขึ้นหลังจากนั้น จากการฟื้นตัวของเขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงในช่วงนั้นมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยที่ลดลง มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และการผ่อนคลายมาตรการ LTV อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวลงในปี 2566 ด้วยปัจจัยด้านภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ภาพที่ 6 เปรียบเทียบดัชนีที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคกลาง

6

3.3 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคเหนือ

 

    ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวชุดใหม่สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาบ้านเดี่ยวในภาคเหนือได้ดีขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปี 2564 - 2565 ราคาบ้านเดี่ยวในภาคเหนือปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ตามความต้องการบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น และเป็นช่วงผ่อนคลายมาตรการ LTV รวมทั้งมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือร้อยละ 0.01 ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) ส่วนในช่วงตั้งแต่ปี 2566 ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวชุดปรับปรุงใหม่มีระดับราคาและอัตราการเติบโตต่ำกว่าดัชนีราคาบ้านเดี่ยวชุดเดิมเล็กน้อย (ภาพที่ 7)  สามารถสะท้อนภาพราคาบ้านเดี่ยวในภาคเหนือได้ดีขึ้น ทั้งผลจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่หลัง COVID-19 สถาบันการเงินเริ่มระมัดระวังการให้สินเชื่อในกลุ่มบ้านเดี่ยวราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และอุปทานคงค้างในตลาดมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ราคาบ้านเดี่ยวปรับเพิ่มขึ้นได้น้อยลง และเริ่มมีทิศทางทรงตัวในช่วงต้นปี 2567

ภาพที่ 7 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคเหนือ

6

3.4 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

    ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวชุดใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาได้ดีกว่าดัชนีราคาบ้านเดี่ยวชุดเดิม โดยหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามความต้องการที่อยู่อาศัยที่มากขึ้น สอดคล้องกับแรงงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กลับมาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการลดค่าโอน การผ่อนคลายมาตรการ LTV ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยฯ ชะลอตัวในปี 2566 ตามภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้จำนวนสินเชื่อของบ้านเดี่ยวระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทหดตัว ส่งผลกระทบไปยังดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาพที่ 8)

ภาพที่ 8 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

7

3.5 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคใต้

 

     ดัชนีราคาฯ ของภาคใต้ที่ปรับปรุงใหม่มีอัตราการเติบโตชะลอลงกว่าชุดเดิมโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว โดยหลังเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตเติบโตกว่าจังหวัดอื่นในภาคใต้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยภาคใต้เติบโตเร็วตามไปด้วยโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว (ภาพที่ 9) ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงตัวแปรโดยเพิ่มสถานที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตที่กระจายตัวในตำบลต่าง ๆ รวมทั้งจังหวัดหลักในบริเวณที่มีที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่หนาแน่น ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดใหม่สามารถสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาได้สอดคล้องกับภาวะอสังหาริมทรัพย์ในภาคใต้มากขึ้น

ภาพที่ 9 เปรียบเทียบดัชนีราคาที่อยู่อาศัยชุดเดิมและชุดใหม่ในภาคใต้

7

4. การจัดทำดัชนีรวมทุกประเภทที่อยู่อาศัยของประเทศไทย

 

    การปรับปรุง RPPI ในครั้งนี้ ได้พัฒนาดัชนีราคาที่อยู่อาศัยระดับประเทศแบบรวมทุกประเภทที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ในการติดตามภาวะที่อยู่อาศัยในภาพรวมของประเทศ (ภาพที่ 10) โดยใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักดัชนีของแต่ละประเภทตามมูลค่าที่อยู่อาศัย (Value Weight) สะท้อนความสำคัญของที่อยู่อาศัยแต่ละประเภทในตลาด การคำนวณน้ำหนักนี้ใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ย้อนหลัง 12 เดือน (Rolling Weight 12 Months) เพื่อให้สะท้อนโครงสร้างตลาดที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป ลดผลกระทบจากฤดูกาล และช่วยให้ดัชนีมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะไม่บิดเบือนผลของการคำนวณดัชนีราคาฯ จากความผันผวนในช่วงเวลาสั้น วิธีการนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางที่ใช้ในต่างประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ยังคงกำหนดให้ปี 2554 เป็นปีฐาน เช่นเดิม โดยมีสูตรการคำนวณดัชนีราคาที่อยู่อาศัยระดับประเทศของไทย ดังนี้

7

    สำหรับการรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยระดับภูมิภาคแบบรวมทุกประเภทที่อยู่อาศัย จะถูกจัดทำด้วยวิธีการเดียวกัน โดยสรุปการจัดทำและเผยแพร่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่ ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 จังหวัดที่ใช้จัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในแต่ละภูมิภาค และการจัดทำดัชนีราคารวม

7

ภาพที่ 10 ดัชนีราคารวมทุกประเภทที่อยู่อาศัย

7

บทสรุป

 

    การปรับปรุงการจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทั้งธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง (SFIs) ที่มีการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจากเดิมที่เพียง ธพ. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพียงแห่งเดียว  2) การทบทวนสถานที่สำคัญในแต่ละพื้นที่เพื่อปรับปรุงตัวแปรระยะทางที่ใกล้ที่สุดจากที่อยู่อาศัยไปยังสถานที่สำคัญในแบบจำลอง เพื่อให้ได้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่สะท้อนราคาที่แท้จริง (pure price) ที่ทันสมัยอยู่เสมอ และครอบคลุมสะท้อนภาพรวมได้มากที่สุด และ 3) การจัดทำดัชนีรวมทุกประเภทที่อยู่อาศัยของประเทศไทย เพื่อเป็นดัชนีตัวแทนที่ดีสำหรับใช้อ้างอิงในการติดตามราคาที่อยู่อาศัยในภาพรวมของประเทศ

    สำหรับการทบทวนการจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยครั้งถัดไป ควรพิจารณาทบทวนอีกครั้งหากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของแต่ละภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การมีทำเลย่านเศรษฐกิจเกิดใหม่ การขยายตัวของเมือง การขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น หรือการมีสถานที่สำคัญใหม่ที่ส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพิจารณาเพิ่มเติมตัวแปรด้านคุณภาพบ้านและคุณภาพของทำเลที่อยู่อาศัย (ถ้ามี) รวมถึงพิจารณาแหล่งข้อมูลอื่นที่สะท้อนราคาที่อยู่อาศัยที่ทันการณ์มากกว่าข้อมูลสินเชื่อ 

บรรณานุกรม

    

ชาครีย์ อักษรถึง และ คธาฤทธิ์ สิทธิกูล (2559). การพัฒนาดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย.

 

ชาครีย์ อักษรถึง, ณฐพร สัจวิทย์วิศาล, เกียรติคุณ สัมฤทธิ์เปี่ยม, ธนพร ตั้งตระกูล, ภัทรียา นวลใย, สุทธิดา พาณิชย์พัฒนกิจ, สุตาภัทร ม่วงนา และ มณฑล ศิริธนะ. (2564). ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย.

 

Central Statistics Office. (2024). Residential Property Price Index Technical Paper.

 

Eurostat, ILO, IMF, OECD, UNECE, and World Bank (2013). Handbook on Residential Property Prices Indices (RPPIs). Eurostat Methodologies & Working papers.

 

HM Land Registry. (2023). Comparing House Price Indices in the UK.

 

Jaruphan Wanitthanankun, Kiattikhun Samritpiam, and Poonna Pipatpanukul (2023). Thailand’s RPPI Technical Pape. Bank of Thailand.

 

Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism. (2020). Methodology of JRPPI: Japan Residential Property Price Index.

[1] ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ การพัฒนาดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของไทย (The Developing of Thailand Residential Property Price Index) ปี 2559 https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/research-and-publications/statistical-articles/2016-RPPI.pdf และ Thailand’s RPPI Technical Paper https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/statistical-articles/Stat_Article_01dec23.html

 

[2] ข้อมูลสถิติการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย เฉพาะเอกสารสิทธิ์ประเภท โฉนด และ น.ส.3 ก และการจดทะเบียนประเภทขาย ไม่รวมขายฝากและจำนอง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) https://www.reic.or.th/Product/AllChart

 

[3] ศึกษารูปแบบสมการทั่วไปของแบบจำลองที่ใช้จัดทำดัชนีราคาของแต่ละภูมิภาคได้จากบทความ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/statistical-articles/Stat_Article_29nov21.html

บทความนี้เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างทีมงานพัฒนาเครื่องชี้เศรษฐกิจ สำนักดาต้าอนาไลติกส์ ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ และสำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานภาคเหนือ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานภาคใต้ คณะผู้เขียนขอขอบพระคุณคุณจารุพรรณ วานิชธนันกูล คุณสุวัชชัย ใจข้อ คุณปุณฑริก ศุภอมรกุล คุณนัฐพงษ์ เจริญอาภารัศมี คุณณวรา สกุล ณ มรรคา คุณศราวัลย์ อังกลมเกลียว และคุณจิดาภา ช่วยพันธุ์ สำหรับคำแนะนำ และความช่วยเหลือ ที่ทำให้การพัฒนาดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและบทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คณะผู้จัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย

 

เกียรติคุณ    สัมฤทธิ์เปี่ยม

ปุณณ        พิพัฒน์ภานุกูล

สุรเชษฐ์      ศรีภูริรักษ์

คณิศร       เรืองแสน

ธนภัทร      จามพฤกษ์

ธีรพัฒน์     เขื่อนปัญญา

ธัญญารัตน์  แพงเกาะ

Stat-Horizon

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

 

บทคัดย่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ
“หนี้ครัวเรือน” ให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เครื่องชี้สามารถสะท้อนภาพภาระหนี้ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และยังเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกนโยบายหรือมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดย
มีการปรับปรุงด้านขอบเขตของผู้ให้กู้ จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงินและ
ไม่รับฝากเงิน ได้เพิ่มความครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ให้กู้อื่น ๆ ด้วย ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์) และสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งได้รวมอยู่ในสถิติเดิมแล้ว

สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ปรับปรุงแล้วมีข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ไตรมาส 1/2555 เป็นต้นไป โดย
การปรับปรุงครั้งนี้ ทำให้ยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 16.0 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 90.6 ต่อ
GDP เพิ่มขึ้นจากก่อนการปรับปรุง 7.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 ของ GDP อย่างไรก็ตาม โครงสร้างสัดส่วนเงินให้กู้ยืมที่จำแนกตามวัตถุประสงค์ยังคงใกล้เคียงกับโครงสร้างเดิมก่อน
การปรับปรุง โดยเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก รองลงมาคือการกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป และการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ

 

 

การปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน*

1.      บทนำ

หนี้ครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐทุกประเทศ รวมถึงไทย โดย ธปท. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงความมีเสถียรภาพหรือความเปราะบางทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ยังสามารถสะท้อนโครงสร้างของตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือน

ประเทศไทยมีระบบการเงินที่พึ่งพิงธนาคารเป็นหลักหรือที่เรียกว่า Bank-based economy ดังนั้นผู้ให้กู้หลักแก่ภาคครัวเรือนจึงเป็นธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จากรูปที่ 1 เห็นได้ว่าธนาคารเป็นผู้ให้กู้
ที่ครองสัดส่วนตลาดมากกว่าร้อยละ 70 ของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งหมดมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปี
ที่ผ่านมา บทบาทของธนาคารมีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลง และถูกแทนที่ด้วยเงินให้กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์และ
สถาบันการเงินอื่น โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ลีสซิ่ง และบริษัทบัตรเครดิต ค่อย ๆ เพิ่มบทบาทมากขึ้น สังเกตได้จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

รูปที่ 1  แผนภูมิยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามผู้ให้กู้และเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP ก่อนการปรับปรุงความครอบคลุม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การศึกษาเชิงประจักษ์หลายชิ้นบ่งชี้ว่า การขยายตัวของระดับหนี้ครัวเรือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยง
การเกิดวิกฤตการเงินและสามารถนำไปสู่การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในบทความเรื่องหนี้ครัวเรือนและเสถียรภาพทางการเงินของ
IMF ปี 2017 ระบุว่า อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมีทั้งผลดีและผลเสีย
อย่างไรก็ตาม ผลดีจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น แต่กลับส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลางและระยะยาว โดยในระยะสั้น หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับการบริโภคและการจ้างงานที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัว
ทางเศรษฐกิจ แต่ผลดีเหล่านี้จะกลับสู่สภาพเดิมภายใน 3 - 5 ปี การขยายตัวมากขึ้นของหนี้ครัวเรือนในระยะกลางและระยะยาวนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตในระบบการเงิน เนื่องจากอาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนไม่สามารถ
ชำระหนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ในที่สุด ผลเสียเหล่านี้
จะยิ่งมากขึ้นเมื่อระดับหนี้ครัวเรือนยิ่งสูงและเห็นชัดเจนในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (
Advanced market economies) มากกว่าเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging market economies) ที่ส่วนใหญ่มีระดับหนี้ครัวเรือนและ
การมีส่วนร่วมในตลาดสินเชื่อต่ำกว่าตามรูปที่ 2

 

%

รูปที่ 2 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ ไตรมาส 4/2565 ของเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่

ที่มา: BIS (ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ) / จัดทำแผนภูมิ: ธปท.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ธปท. รวมทั้งหน่วยงานผู้ให้กู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกับ
งานศึกษาตามที่กล่าวมาข้างต้น  ประกอบกับการให้กู้ยืมของผู้ให้กู้กลุ่มอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงินมีบทบาทและขนาดที่มีนัยสำคัญ รวมถึงหน่วยงานผู้ให้กู้อื่น ๆ มีความพร้อมของข้อมูลมากขึ้น ธปท. จึงได้ทบทวนและปรับปรุงข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ให้ครอบคลุมมากกว่าเงินกู้ยืมจากกลุ่มผู้ให้กู้ที่จัดเก็บอยู่เดิม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่
สะท้อนภาพภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนให้ครบถ้วนใกล้เคียงจริงมากที่สุด เพื่อใช้ในการดำเนินนโยบาย
ทางเศรษฐกิจ และนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ให้แก่ครัวเรือนที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

2.      นิยามและขอบเขตของข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

 ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (Loans to Household) สถิติทางการที่ ธปท. เผยแพร่ มักถูกนำไปใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลหนี้ครัวเรือน (Household debts) จนผู้ใช้บางส่วนเข้าใจว่า ข้อมูลทั้ง 2 ชุด คือข้อมูลเดียวกัน อย่างไรก็ดี ตามมาตรฐานสากลสถิติทั้ง 2 ชุด มีนิยามและองค์ประกอบความครอบคลุมแตกต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ยังมิได้มีนิยามหรือองค์ประกอบที่เป็นสากล ในแต่ละประเทศจึงมีรายละเอียด ความครอบคลุมที่ต่างกันทั้งในมิติของผู้ให้กู้และวัตถุประสงค์การกู้ยืม เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล หน่วยงานผู้จัดทำข้อมูลจึงใช้ความพยายามอย่างที่สุด (best effort) ในการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลเท่าที่จะทำได้ โดยมิติผู้ให้กู้ ข้อมูลของบางประเทศครอบคลุมแค่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์เนื่องจากกำกับดูแล
โดยธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้จัดทำสถิติ บางประเทศขอความร่วมมือจากภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สถาบันการเงินอื่น หน่วยงานราชการ หรือภาคธุรกิจร่วมด้วย ทำให้มีความครอบคลุมในมิติของผู้ให้กู้กว้างมากขึ้น สำหรับมิติ
ด้านวัตถุประสงค์ ข้อมูลของบางประเทศครอบคลุมเฉพาะการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และบางประเทศครอบคลุมถึงการนำไปประกอบอาชีพด้วย ความครอบคลุมของข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนของไทย และตัวอย่างคำศัพท์
และนิยามของประเทศต่าง ๆ แสดงดังตารางที่
1

ตารางที่ 1 ตัวอย่างคำศัพท์ที่ใช้เรียกเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของประเทศต่าง ๆ

ประเทศ/
กลุ่มประเทศ

คำศัพท์ที่ใช้เรียก
เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน
(Term)

ความหมาย

ไทย

Loans to Households

เงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ให้แก่บุคคลธรรมดาที่อยู่อาศัยในประเทศ (resident) ทั้งเงินเบิกเกินบัญชี เงินให้กู้ยืมทั่วไป ตั๋วเงินที่เปลี่ยนมือไม่ได้ และเงินลงทุนในลูกหนี้ รวมทุกสกุลเงินในทุกวัตถุประสงค์ โดยรวมเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้น (ไม่รวมดอกเบี้ยคงค้าง)

ญี่ปุ่น

Loans to Households

เงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุปโภคบริโภค

สหภาพยุโรป

Loans granted to households

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนและองค์กรไม่แสวงหากำไร

มาเลเซีย

Loans to Household sector

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาของธนาคาร (ไม่รวม non-bank)
โดยไม่รวมเงินกู้เพื่อประกอบกิจการ

ฝรั่งเศส

Loans to individuals

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาจากสถาบันการเงินในประเทศ

อังกฤษ

Lending to Individuals (excluding student loans)

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาจากสถาบันการเงิน โดยไม่รวมเงินกู้ยืม
เพื่อการศึกษาและเพื่อประกอบกิจการ

แคนาดา

Credit liabilities of households

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (รวมกิจการที่ไม่จดทะเบียนเป็น
นิติบุคคล) จากทุกภาคเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้

Credit to households

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน สถาบันการเงินที่ไม่รับฝากเงิน และสินเชื่อการค้า

สิงคโปร์

Consumer loans

เงินให้กู้ยืมและเงินทดรองจากธนาคารแก่บุคคลธรรมดา โดยไม่รวม
เงินให้กู้ยืมเพื่อประกอบกิจการ

สหรัฐอเมริกา

Consumer Credit

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน โดย
ไม่รวมเงินกู้ยืมที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน

ขณะที่ หนี้ครัวเรือน (Household debt) ตามนิยามขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น BIS (ธนาคาร
เพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ)
IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) หรือ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) หมายถึง หนี้สินรวมทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือทางการเงินทุกประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ (debt securities) เงินกู้ยืม (loans) รวมถึงหนี้สินอื่น ๆ ของภาคครัวเรือน ที่มีต่อทุกภาคเศรษฐกิจ
ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเงินกู้ยืมเป็นหนี้สินที่รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้าง ส่วนตราสารหนี้
เป็นหนี้สินตามมูลค่าตลาด

หนี้ครัวเรือนที่มีความครอบคลุมครบถ้วนตามนิยามสากลข้างต้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในระบบบัญชีประชาชาติ หรือ System of National Accounts จากส่วนที่เป็นงบแสดงฐานะการเงินแบบจำแนกภาคเศรษฐกิจของคู่สัญญาของภาคครัวเรือน หรือ Household and NPISHs Sectoral Balance Sheet  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลงบแสดงฐานะการเงินดังกล่าวที่สมบูรณ์ ดังนั้น ถึงแม้ว่าความครอบคลุมของข้อมูลชุด
เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจะแคบกว่า แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีขอบเขตใกล้เคียงมากที่สุดที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ ประเทศไทยจึงใช้ข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนและสถิติหนี้ครัวเรือนเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่ง
การเปรียบเทียบความครอบคลุมของหนี้ครัวเรือน ตามนิยามสากล และเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนของไทย
แสดงดังตารางที่
2

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบความครอบคลุมของหนี้ครัวเรือน (ตามนิยามสากล) และเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน
ของไทย (ก่อนการปรับปรุง)

มิติต่าง ๆ ของความครอบคลุม

หนี้ครัวเรือน

(นิยามสากล)

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ หนี้ครัวเรือนของไทย
(ก่อนการปรับปรุง)

1.      ผู้กู้

 

 

 

ครัวเรือน

P

P

 

องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้บริการครัวเรือน (NPISHs*)

P

Î

2.      ผู้ให้กู้

 

 

 

สถาบันการเงิน

P

P

 

ภาครัฐบาล

P

Î

 

ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

P

Î

 

เจ้าหนี้ต่างประเทศ

P

Î

3.      เครื่องมือทางการเงิน

 

 

 

เงินกู้ยืม

P

P

 

ตราสารหนี้

P

Î

 

หนี้สินอื่น ๆ เช่น หนี้สินทางการค้า

P

Î

4.      การวัดมูลค่า

 

 

 

เงินกู้ยืม

 

 

 

 

เงินต้น

P

P

 

 

ดอกเบี้ยค้างรับ

P

Î

 

ตราสารหนี้

 

 

 

 

มูลค่าตลาด

P

-

*ตัวอย่างขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้บริการครัวเรือน หรือ NPISHs ได้แก่ วัด โบสถ์ องค์กรทางศาสนา มูลนิธิเพื่อการกุศล สโมสรกีฬา สหภาพแรงงาน และพรรคการเมือง

ทั้งนี้ แต่ละประเทศมักนำสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนหรือหนี้ครัวเรือนมาจัดทำเป็นอัตราส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศ เพื่อประเมินระดับหนี้ของภาคครัวเรือนมีมาก-น้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากฐานข้อมูลของ BIS ประเทศต่าง ๆ มีอัตราส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ตามตารางที่
3

ตารางที่ 3 ตัวอย่างอัตราส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศต่าง ๆ ณ ไตรมาส 4/2565 จากฐานข้อมูลของ BIS

ประเทศ/กลุ่มประเทศ

หนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP*
  ณ ไตรมาส 4/2565

ไทย**

87.7

ญี่ปุ่น

68.2

สหภาพยุโรป

57.4

มาเลเซีย

66.8

ฝรั่งเศส

66.2

สหราชอาณาจักร

83.5

แคนาดา

102.4

เกาหลีใต้

105.0

สิงคโปร์

48.6

สหรัฐอเมริกา

74.4

จีน

61.3

                                   *Total credit to households (core debt) to GDP (BIS) ซึ่งผู้กู้รวมองค์กรไม่แสวงหากำไร
                                   ** ก่อนการปรับปรุง

3.      การปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของ ธปท. ก่อนการปรับปรุง ประกอบด้วย สถิติเงินให้กู้ยืมแก่
ภาคครัวเรือนที่จำแนกตามสถาบันผู้ให้กู้และตามวัตถุประสงค์การกู้ โดยมิติของผู้ให้กู้ ธปท. ได้จัดเก็บและขยายความครอบคลุมข้อมูลการให้กู้ยืมของผู้ให้กู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถิติชุดล่าสุดก่อนการปรับปรุงมีองค์ประกอบของผู้ให้กู้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่รับฝากเงิน บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนี้ ธปท. ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานกำกับดูแลอื่นและจากสถาบันการเงินโดยตรง เช่น ธุรกิจสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร (
Non-bank) บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต
บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โรงรับจำนำ เป็นต้น ดังรายละเอียดตามตารางที่
4 สถิติชุดนี้เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2556 โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2546

ส่วนมิติวัตถุประสงค์การกู้ยืม ธปท. เห็นว่า ข้อมูลที่จำแนกวัตถุประสงค์จะช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึง
การนำเงินกู้ยืมไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมทั้งช่วยในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของสินเชื่อ
แต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำและเผยแพร่สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์
เมื่อต้นปี
2563 โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2555  โดยวัตถุประสงค์ที่จำแนกได้มีดังต่อไปนี้

Ø เพื่ออุปโภคบริโภค

·      เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

·      ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

·      เพื่อการศึกษา

·      อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น

§  บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท.

§  สินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ (ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.)

Ø เพื่อประกอบอาชีพ

Ø อื่น ๆ

สำหรับการปรับปรุงสถิติในครั้งนี้เป็นการขยายความครอบคลุมของผู้ให้กู้เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเฉพาะ
สถาบันการเงิน โดยมีปัจจัยหรือเกณฑ์ในการเลือกแหล่งข้อมูล ได้แก่ ความคุ้มค่า (
cost and benefit)
ความมีสาระสำคัญของข้อมูล (
materiality) คุณภาพของข้อมูล ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ความสม่ำเสมอ
ของการเผยแพร่จากแหล่งข้อมูล ภาระของผู้รายงาน ความต่อเนื่องเพียงพอของข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์
อนุกรมเวลา (
time series) รวมถึงการทำประมาณการเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้รับที่จะต้องสามารถทำได้โดยใช้
หลักสถิติที่สมเหตุสมผล จากการพิจารณาปัจจัยตามที่กล่าวถึงข้างต้น ธปท. ได้เลือกข้อมูลจาก
4 แหล่งเพื่อนำมาปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ซึ่งรวมทั้งผู้ให้กู้ที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชนด้วย ได้แก่

Ø การเคหะแห่งชาติ

Ø กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

Ø ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ พิโกไฟแนนซ์

Ø สหกรณ์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์นิคม และสหกรณ์บริการ

กลุ่มผู้ให้กู้เหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการให้เงินกู้ยืมแก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 50 กล่าวคือเพิ่มขึ้นจากราว 5 แสนล้านบาท ณ ไตรมาส 1
ปี
2555 มาเป็น 7.7 แสนล้านบาท ณ ไตรมาส 1 ปี 2566

ความครอบคลุมของกลุ่มผู้ให้กู้สำหรับสถิติชุดที่ปรับปรุงแล้ว สามารถจำแนกเป็นสถาบันรับฝากเงิน สถาบันการเงินอื่น และภาคเศรษฐกิจอื่น ดังรายละเอียดตามตารางที่ 4 โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1
ปี
2555 ในขณะที่ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ภายหลังการปรับปรุงไม่มี
การเปลี่ยนแปลงรายการวัตถุประสงค์จากเดิม อย่างไรก็ตาม การขยายความครอบคลุมของผู้ให้กู้ทำให้จำเป็นต้องสร้างชุดข้อมูลใหม่อีกหนึ่งชุด โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส
1 ปี 2555 เช่นกัน เพื่อให้แนวโน้มของข้อมูล
มีความต่อเนื่องและมีข้อมูลในช่วงระยะเวลาที่ยาวเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์และการพยากรณ์ได้

ตารางที่ 4 การเปรียบเทียบความครอบคลุมในมิติของผู้ให้กู้ในชุดข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

ความครอบคลุมก่อนปรับปรุง

ความครอบคลุมหลังปรับปรุง

Ø สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน

Ø สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน

·      ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

·      ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

·      สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน

·      สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน

·      สหกรณ์ออมทรัพย์

·      สหกรณ์ออมทรัพย์

·      สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ

 

·      สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ (รวมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน)

Ø สถาบันการเงินอื่น

Ø สถาบันการเงินอื่น

·      บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล

·      บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล

·      บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต

·      บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต

·      บริษัทหลักทรัพย์

·      บริษัทหลักทรัพย์

·      ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

·      ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

·      โรงรับจำนำ

·      โรงรับจำนำ

·      สถาบันการเงินอื่นๆ

 

·      สถาบันการเงินอื่นๆ (รวมธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ พิโกไฟแนนซ์)

 

Ø ภาคเศรษฐกิจอื่น 
(กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, การเคหะแห่งชาติ, สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์บริการ, สหกรณ์นิคม, สหกรณ์ประมง, สหกรณ์ร้านค้า)

เมื่อปรับปรุงความครอบคลุมของสถาบันผู้ให้กู้แล้ว ยอดคงค้างรวมของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ
ไตรมาส
1 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 7.7 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 86.3 เป็นร้อยละ 90.6

 

รูปที่ 3  แผนภูมิเปรียบเทียบยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน และหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ก่อนและหลังการปรับปรุงความครอบคลุม

รูปที่ 4  แผนภูมิเปรียบเทียบสัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกวัตถุประสงค์ ณ ไตรมาส 1/2566
ก่อนและหลังการปรับปรุงความครอบคลุม

สำหรับวัตถุประสงค์การกู้ยืมที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา โดย
ณ ไตรมาส 1 ปี
2566 เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นจากสถิติชุดเดิม 4.8 แสนล้านบาทหรือมากกว่า 2 เท่า
แต่โดยรวมแล้วสัดส่วนของเงินกู้ยืมแต่ละวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยวัตถุประสงค์หลักยังคง
เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาคือการกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

 

4.      บทสรุป

สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน เป็นข้อมูลที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจติดตามอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นเครื่องชี้ที่ช่วยสะท้อนถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนในประเทศ ที่ผ่านมา ธปท. จึงมีการปรับปรุงขยายความครอบคลุมสถิติดังกล่าวอยู่เป็นระยะ ๆ สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ เพื่อให้สถิติดังกล่าวสะท้อนระดับหนี้ของภาคครัวเรือนที่ใกล้เคียงจริงมากที่สุด ธปท. และหน่วยงานผู้ให้กู้มีความพยายามในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่งที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งได้เพิ่มความครอบคลุมเงินให้กู้ยืมของกลุ่มผู้ให้กู้อื่น ๆ  ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ และสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ เข้ามาด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่มีบทบาทการให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพของข้อมูล และ
การให้ข้อมูลที่เพียงพอเพื่อให้สามารถใช้งานและเผยแพร่ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถิติเงินให้กู้ยืมแก่

ภาคครัวเรือนของไทยมีนิยามและขอบเขตใกล้เคียงกับข้อมูลของต่างประเทศแต่ยังไม่ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ เท่ากับหนี้สินของภาคครัวเรือนตามนิยามสากลขององค์กรระหว่างประเทศ

ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP หลังการปรับปรุงมีการปรับเพิ่มขึ้นจากข้อมูลก่อนปรับปรุงเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ตลอดทั้งชุดข้อมูล โดยในข้อมูลที่จำแนกตามผู้ให้กู้มีการเพิ่มผู้ให้กู้ภาคอื่น ๆ เข้ามาด้วยนอกเหนือจากภาคสถาบันการเงิน ส่วนข้อมูลที่จำแนกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมมีความใกล้เคียงกับสัดส่วนเดิม มีเพียงสัดส่วนของเงินกู้เพื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 4 ของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งหมด

ทั้งนี้ ธปท. กำหนดการเผยแพร่ข้อมูลสถิติชุดใหม่ที่จำแนกตามกลุ่มสถาบันผู้ให้กู้และวัตถุประสงค์การกู้
เป็นรายไตรมาส ล่าช้า
1 ไตรมาส เริ่มตั้งแต่ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2566 โดยมีข้อมูลย้อนหลังถึงงวดไตรมาส 1
ปี 2555 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และสำหรับสถิติชุดปัจจุบันจะเผยแพร่จนถึงข้อมูลงวดไตรมาส 4
ปี
2566

 

ภาคผนวก

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามผู้ให้กู้ชุดเดิมกับข้อมูลปัจจุบัน
หลังการปรับปรุงความครอบคลุมสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2566

(หน่วย: ล้านบาท)

 

 

 

ก่อนปรับปรุง

หลังปรับปรุง

 

 

Q1/2566

Q1/2566

1

สถาบันรับฝากเงิน

12,834,383

12,890,446

2

       ธนาคารพาณิชย์

6,327,510

6,327,510

3

       สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน

4,262,938

4,262,938

4

       สหกรณ์ออมทรัพย์

2,241,722

2,241,722

5

       สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ

2,213

58,276

6

สถาบันการเงินอื่น

2,359,634

2,366,114

7

       บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล

1,848,409

1,848,409

8

       บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต

179,401

179,401

9

       บริษัทหลักทรัพย์

116,460

116,460

10

       ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

87,955

87,955

11

       โรงรับจำนำ

82,264

82,264

12

       สถาบันการเงินอื่นๆ

45,145

51,625

13

อื่น ๆ

-

703,741

14

รวม

 15,194,016

 15,960,301

15

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP (%)

 86.3

90.6

16

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP ปรับฤดูกาล (%)

86.2

90.6

ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมชุดเดิมกับข้อมูลปัจจุบันหลังการปรับปรุงความครอบคลุมสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2566

(หน่วย: ล้านบาท)

 

 

 

ก่อนปรับปรุง

หลังปรับปรุง

 

 

Q1/2566

Q1/2566

1

เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

11,615,763

 12,140,717

2

   เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

5,341,316

 5,352,505

3

   ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

1,809,336

 1,809,336

4

   เพื่อการศึกษา

211,858

 696,449

5

   อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น

4,253,253

 4,282,427

6

      of which บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้
      การกำกับของธปท.

1,233,927

 1,233,927

7

เพื่อประกอบอาชีพ

2,714,557

 2,897,568

8

อื่นๆ

863,697

 922,015

9

รวม

15,194,016

 15,960,301

10

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP (%)

 86.3

 90.6

 

 

เอกสารอ้างอิง

Bank for International Settlements. (2 มิถุนายน 2566). Total credit to households (core debt): BIS. เรียกใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2566 จาก เว็บไซต์ Bank for International Settlements: https://stats.bis.org/statx/srs/table/f3.1

Bank for International Settlements. (ม.ป.ป.). About credit statistics: BIS. เรียกใช้เมื่อ 20 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank for International Settlements: https://www.bis.org/statistics/about_credit_stats.htm?m=2673

Bank Negara Malaysia. (ม.ป.ป.). Publications - Monthly Highlights & Statistics in April 2022. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank Negara Malaysia: https://www.bnm.gov.my/-/monthly-highlights-statistics-in-april-2022

Bank of England. (14 กุมภาพันธ์ 2562). Further details about total lending to individuals data. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank of England: https://www.bankofengland.co.uk/statistics/details/further-details-about-total-lending-to-individuals-data

Bank of Japan. (ม.ป.ป.). [Notes on Statistics] Monetary Aggregates (Market volume, outstanding) / Outstanding of Deposits and Loans. เรียกใช้เมื่อ 28 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank of Japan: https://www.boj.or.jp/en/statistics/outline/note/notest33.htm/#08

Bank of Korea. (28 พฤษภาคม 2565). Economic Statisitics System - Search Stat. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Economic Statisitics System: https://ecos.bok.or.kr/#/SearchStat

Banque de France. (1 เมษายน 2565). Loans to individuals, France 2022Feb. เรียกใช้เมื่อ 20 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ Banque de France: https://www.banque-france.fr/en/statistics/loans-individuals-france-2022feb

Board of Governors of the Federal Reserve System. (5 มิถุนายน 2563). The Fed - Consumer Credit - G.19 - About. เรียกใช้เมื่อ 13 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Federal Reserve Board: https://www.federalreserve.gov/releases/g19/about.htm

European Central Bank. (18 สิงหาคม 2563). European Central Bank - Statistical Data Warehouse - Quick View. เรียกใช้เมื่อ 18 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ European Central Bank: https://sdw.ecb.europa.eu/quickview.do?SERIES_KEY=332.QSA.Q.N.I8.W0.S1M.S1.N.L.LE.F4.T._Z.XDC_R_B1GQ_CY._T.S.V.N._T

Monetary and Financial Dept. International Monetary Fund. . (ตุลาคม 2560). Global Financial Stability Report, October 2017 Is Growth at Risk? Washington, D.C.: International Monetary Fund.

Monetary Authority of Singapore. (26 กุมภาพันธ์ 2563). MAS Monthly Statistical Bulletin - I.5A Commercial Banks: Loans and Advances to Residents by Industry. เรียกใช้เมื่อ 13 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Monetary Authority of Singapore: https://eservices.mas.gov.sg/statistics/msb-xml/Report.aspx?tableSetID=I&tableID=I.5A

OECD. (ม.ป.ป.). Household accounts - Household debt - OECD Data. เรียกใช้เมื่อ 18 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ OECD: https://data.oecd.org/hha/household-debt.htm

Statistics Canada. (18 ธันวาคม 2563). Guide to the Monthly Credit Aggregates. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Statistics Canada: https://www150.statcan.gc.ca/n1/en/pub/13-605-x/2020001/article/00004-eng.pdf?st=C41h4j3e

Statistics Canada. (13 มิถุนายน 2565). Credit liabilities of households. doi:https://doi.org/10.25318/3610063901-eng

ธนาคารแห่งประเทศไทย.ทีมสถิติการเงินการคลัง 1-2. (ม.ป.ป.). คำอธิบายข้อมูล: EC_MB_039 เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน. เรียกใช้เมื่อ 18 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย: https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/DownloadFile.aspx?file=EC_MB_039_TH.PDF

รชต ตั้งนรารัชชกิจ. (18 มกราคม 2565). หนี้ครัวเรือน: ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้. เข้าถึงได้จาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย: https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_18Jan2022-2.aspx

 

 

ผู้จัดทำ

  พิชามญชุ์ กิตติอัครเสถียร

  ผู้วิเคราะห์อาวุโส

  ธนาคารแห่งประเทศไทย

  PichamKi@bot.or.th

 

 



* ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณสุวัชชัย ใจข้อ คุณคุณทิพย์ ตรงธรรมกิจ คุณวิชชวรรณ วรฉัตราวณิช และคุณชญากัญจน์ ประเสริฐบัญชาชัย สำหรับความร่วมมือ การสนับสนุน และคำแนะนำที่มีค่าตลอดระยะเวลาการศึกษาปรับปรุงในครั้งนี้