อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาวุธสำคัญของธนาคารกลาง

คงไม่มีใครเชื่อแน่ หากพูดว่าการปรับตัวเลขค่าหนึ่งขึ้นหรือลงเพียง 0.25 อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่ถ้าขยายความว่าตัวเลขนั้น คือ "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ที่พิจารณาโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คำบอกเล่าดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว คอลัมน์ VocabStory ฉบับนี้ จะมาเล่าสู่กันฟังถึงบทบาทของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยชนิดอื่น ๆ และส่งผ่านไปที่เศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ 

         

ธนาคารกลางเป็นผู้ดูแลเสถียรภาพราคา ควบคู่กับเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงิน โดยมี "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" เป็นเหมือนอาวุธคู่ใจในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มาทำธุรกรรมกับธนาคารกลาง สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีระยะ 1 วัน เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ฝาก / กู้ดอกเบี้ยนโยบาย

ธนาคารพาณิชย์ ตัวกลางการส่งผ่านนโยบายการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ย


เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อการทำธุรกรรมและบริหารสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ เมื่อ กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งย่อมปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและทำกำไร ยิ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับขึ้นสูง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ซึ่งประกอบไปด้วย MOR MLR MRR ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม และหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลง ธนาคารพาณิชย์ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตนเองเช่นกัน

อัตราดอกเบี้ยชนิดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น สภาพคล่อง อัตราเงินเฟ้อ ปริมาณเงินฝาก ต้นทุนในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ขนาดการปรับดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์จึงไม่เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเสมอไป

 

ผลกระทบที่ส่งผ่านไปถึงประชาชน  


เมื่ออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลให้พฤติกรรมของประชาชนและธุรกิจเปลี่ยนแปลงตาม ทั้งปริมาณการใช้จ่าย การออม และการลงทุน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อไป ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้

          

หากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง ผู้ฝากเงินอาจเลือกนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเมื่อพบว่าอัตราผลตอบแทนจากการฝากเงินนั้นน้อยเหลือเกิน ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลงก็ส่งผลให้ผู้คนอยากกู้เงินมาอุปโภคบริโภคหรือขยับขยายกิจการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อยยังเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น หุ้นกู้ อสังหาริมทรัพย์ ปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบเพิ่มขึ้นดังที่กล่าวมา จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในเวลาที่เศรษฐกิจซบเซา

          

หากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนที่มากขึ้นคงเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้เรานำเงินไปฝากเพิ่ม ในทางกลับกัน หากเราเป็นผู้กู้คงรู้สึกใจเสียไม่น้อยเพราะต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เองก็ลดการปล่อยสินเชื่อเพราะต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยจึงมักจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตมากเกินไป จึงต้องลดปริมาณเงินในระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อค้างในระดับที่สูงเป็นระยะเวลานานจนมูลค่าของเงินลดลง และอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในอนาคต

          

นอกจากช่องทางดอกเบี้ยแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลกระทบไปยังประชาชนผ่านช่องทางอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางสินเชื่อ ช่องทางราคาสินทรัพย์ ช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน และช่องทางการคาดการณ์

ทำความรู้จักอัตราตอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการส่งผ่านนโยบายการเงินได้ทางเว็บไซต์ ธปท.

ผู้เขียน นภัส พริ้งศุลกะ