เป็นหนี้แล้ว จัดการอย่างไรให้เป็นสุข
หากการได้รับอนุมัติสินเชื่อได้เงินมาใช้ตามที่ต้องการเปรียบเสมือนความสมปรารถนาที่ได้แต่งงานในตอนจบของละคร เราทุกคนต่างก็รู้ว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางชีวิตที่จะมีหนี้อยู่คู่ตัวเราไป จากบทความที่แล้ว “รู้ก่อนแบบนี้ เป็นหนี้ได้สบายใจ” ที่ได้พาทุกคนไปเรียนรู้วิธีการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นหนี้ บทความนี้จะพาไปรู้จักวิธีการบริหารจัดการหนี้เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ไม่ให้หนี้เป็นปัญหาหรือสร้างความเดือดร้อนให้เราได้
สิ่งที่เราในฐานะที่เป็นลูกหนี้ต้องทำ คือ บริหารจัดการเงินของตัวเองให้เพียงพอสำหรับจ่ายหนี้ ใช้จ่าย และเก็บออมได้ในแต่ละเดือน วินัยทางการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ เริ่มจากเรามีหลักในใจว่าจะ (1) จ่ายหนี้ให้เต็มจำนวนและตรงเวลาทุกครั้ง จะได้ไม่เสียประวัติเครดิตในข้อมูลเครดิตบูโร และจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระหรือค่าปรับใด ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่ลูกหนี้ต้องแบกรับกรณีจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลาหรือจ่ายไม่ครบตามที่ตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ (2) หากมีรายได้เป็นเงินก้อนเข้ามา เช่น เงินโบนัส ให้เอามาโปะหนี้ เราก็จะหมดหนี้ไว เสียดอกเบี้ยน้อยลง มีประโยชน์ในการช่วยประหยัดเงินและเพิ่มความสบายใจของเรา (3) เพิ่มความรอบคอบในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง คิดทบทวนว่าจะซื้อของชิ้นนั้นเพราะอะไร หรือใช้วิธีตั้งงบประมาณแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ ทั้งของที่จำเป็นและของที่อยากได้ และใจแข็งตัดใจไม่ซื้อของตามใจตัวเองเพิ่มอีกหากใช้เงินตามงบหมดแล้ว และ (4) เรื่องของการออมที่ลูกหนี้หลายคนบอกว่าทำไม่ได้ (เพราะถ้ามีเงินออม ก็คงไม่ต้องกู้แล้ว) ไม่อยากให้หยุดหรือเลิกออม แต่สามารถยืดหยุ่นลดจำนวนเงินที่จะออมลงได้บ้างหากหนี้ทำให้รู้สึกตึงมือ เพราะเคล็ดลับของความสำเร็จในการออมอย่างหนึ่งก็คือความสม่ำเสมอ เราจะได้มีเงินไว้ทำตามเป้าหมายให้ลุล่วงในวันข้างหน้า และยิ่งเป็นการออมเผื่อฉุกเฉินก็ยิ่งควรทำต่อไป เพราะเงินก้อนนี้อาจช่วยเราให้ผ่านพ้นวิกฤตได้ในอนาคต หากรายได้ของเราสะดุดหรือมีรายจ่ายกะทันหันเกิดขึ้น
แต่หากมีปัญหาจ่ายหนี้ไม่ไหว ชีวิตก็ยังมีทางออก การบริหารจัดการหนี้มี 2 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการที่ตนเอง และการหาตัวช่วยเพิ่มหรือเข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ ของทางการ
3 วิธีสำคัญในการบริหารจัดการที่ตนเอง คือ
(1) การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รายจ่ายที่ไม่จำเป็นของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการกินอาหารหรูนอกบ้าน หรือหมดไปกับการซื้อหวยหรือลอตเตอรี่ในแต่ละงวด การจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวันจะช่วยให้เราหาเจอว่ารายจ่ายไม่จำเป็นของเราคืออะไร (แม้บางคนจะรู้แก่ใจและมีเหตุผลประกอบก็ตาม) เห็นจำนวนชัดเจนว่าใช้ไปแค่ไหน และใช้พิจารณาว่าจะลดลงมาเพื่อนำมาจ่ายหนี้ได้เท่าไหร่
(2) การขายทรัพย์สินที่เรามี เพื่อนำเงินก้อนมาชำระหนี้หรือปิดหนี้บางส่วน ให้หาข้อมูลราคาทรัพย์สินที่เรามี (หรือที่เรียกว่า “ราคาตลาด”) เพื่อที่เราจะสามารถพิจารณาเลือกขายทรัพย์สินบางรายการ เช่น ทองที่เราเก็บสะสมไว้ สลากออมทรัพย์ที่ซื้อไว้ หรืออาจถอนเงินจากบัญชีที่เราฝากไว้ และ
(3) การหารายได้เสริมเพิ่มเติม หากใครมีความสามารถพิเศษ ก็สามารถหารายได้เสริมเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น สอนพิเศษ รับแปลภาษา ทำขนมขาย หรือหากสนใจอาชีพเสริมใดเป็นพิเศษ สมัยนี้ก็หาเรียนเพิ่มได้ไม่ยากทั้งแบบที่เป็นโครงการของภาครัฐหรือทางสื่อสังคมออนไลน์
ส่วนการบริหารจัดการหนี้โดยหาตัวช่วยเพิ่มหรือเข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ ของทางการนั้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญในการช่วยลูกหนี้บริหารจัดการหนี้ เพราะบางครั้งปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่อาจมีความยากลำบากในการแก้หากใช้เพียง 3 วิธีที่เล่าไป ต้องขอตัวช่วยเพิ่ม ซึ่งก็คือ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ หรือการขอเปลี่ยนเงื่อนไขในการชำระหนี้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ที่มีในปัจจุบันหรือเพื่อให้เราสามารถจ่ายหนี้ได้ เพราะไม่สามารถทำตามเงื่อนไขเดิมในสัญญาได้แล้ว โดยสามารถทำได้กับหนี้ทุกประเภทและทุกสถานะการเป็นหนี้ ตั้งแต่เริ่มรู้สึกฝืดเคืองว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 1-90 วัน ค้างชำระหนี้มากกว่า 90 วัน หรือเป็นหนี้เสียแล้ว (NPL) และอยู่ระหว่างศาลพิพากษาบังคับคดี
ในการไปเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เราต้องเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ให้พร้อม เช่น รายละเอียดและเอกสารส่วนตัวต่าง ๆ ประกอบการอธิบายสาเหตุและปัญหาที่เกิดขึ้นที่ทำให้ชำระหนี้ตามเงื่อนไขเดิมไม่ได้ (อาทิ ถูกให้ออกจากงานแล้วหางานใหม่ได้แต่รายได้ลดลง ก็ใช้สลิปเงินเดือนใหม่ หรือมีคนในบ้านเจ็บป่วยต้องผ่าตัดฉุกเฉิน ก็ใช้ใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงิน) และรูปแบบความช่วยเหลือที่ต้องการหรือวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องการ สิ่งสำคัญคือต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองด้วยว่าสามารถจ่ายไหวเท่าไหร่ต่องวด และอย่าตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ถ้าประเมินตัวเองแล้วเห็นว่าจะจ่ายไม่ไหวตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้เสนอมาเด็ดขาด เพราะถึงแม้ตกลงไปเราก็ทำไม่ได้ ทำให้เสียประวัติและเสียเวลาต้องมาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่อีกรอบ
วิธีการปรับโครงสร้างหนี้มีหลายวิธี ลูกหนี้ควรเลือกให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินในปัจจุบันของตัวเอง เช่น ถ้าจ่ายไหวแค่บางส่วนเพราะรายได้ลดลงแต่คาดว่าน่าจะเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ก็อาจเลือกวิธีการปรับโครงสร้างหนี้แบบขั้นบันได (step up) คือ จ่ายหนี้ในจำนวนน้อยก่อนในช่วงแรก ๆ และทยอยจ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตตามรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หรือหากลูกหนี้มีเงินก้อนจากการขายทรัพย์สินจำนวนหนึ่งแต่ไม่พอปิดหนี้ ก็อาจลองเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอจ่ายหนี้ด้วยจำนวนเงินก้อนที่มี และขอส่วนลดหนี้ด้วย หรือที่เราเรียกว่าการ haircut เช่น มีเงินก้อนจากการขายทรัพย์สิน 100,000 บาท แต่ยอดหนี้มูลค่า 120,000 บาท ลูกหนี้เจรจาขอส่วนลดหนี้จำนวน 20,000 บาทจากเจ้าหนี้ โดยจ่ายหนี้ 100,000 บาทเพื่อปิดหนี้ทันที
สำหรับลูกหนี้ที่จ่ายได้ตามปกติ แต่อยากปลดหนี้ได้ไวขึ้น หรืออยากลดภาระจ่ายหนี้ในแต่ละงวด เช่น ถ้ามีหนี้บ้านกับสถาบันการเงินและอยู่ในช่วงที่ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากในช่วงโปรโมชัน หรือที่เรียกว่า teaser rate ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้รายเดิมเพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือที่เรียกว่า “รีเทนชัน (retention)” หรืออาจจะไปติดต่อสถาบันการเงินอื่น เพื่อขอ “รีไฟแนนซ์ (refinance)” ซึ่งหมายถึงการไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่าเดิม เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง เพื่อนำเงินก้อนมาปิดหนี้กับสถาบันการเงินเดิมและไปผ่อนกับที่ใหม่แทน อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจ refinance ต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการ refinance เช่น ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าจดจำนอง ค่าอากรแสตมป์ กับภาระค่างวดที่ลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน
เมื่อพูดถึงหนี้บ้านแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าครึ่งหนึ่งของหนี้บ้านที่พวกเราหลายคนต้องจ่ายเป็นภาระดอกเบี้ย เช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท ผ่อน 25 ปี อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ผ่อนงวดละ 12,886 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดที่เราต้องจ่ายเท่ากับ 3.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 2 ล้านบาทและอีกครึ่งหนึ่งเป็นดอกเบี้ยมากถึง 1.9 ล้านบาททีเดียว
หากเราอยากหมดหนี้เร็วขึ้นและประหยัดดอกเบี้ย ก็อาจเก็บเงินดาวน์ให้มากที่สุดก่อนกู้ซื้อบ้าน หรือถ้าหากกำลังผ่อนอยู่ แนะนำให้ลูกหนี้ผ่อนหนี้ต่อเดือนเพิ่ม จะช่วยลดดอกเบี้ยและหมดหนี้เร็วขึ้นด้วย จากตัวอย่างนี้ ถ้าเราผ่อนเพิ่มจากเดิม 10% หรือผ่อนเพิ่มงวดละ 1,289 บาท จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้มากถึง 392,708 บาท และผ่อนหนี้หมดไวขึ้นถึง 4 ปี 7 เดือนเลยทีเดียว เพราะหนี้บ้านคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ยิ่งเงินต้นเหลือน้อยลงเท่าไหร่ ดอกเบี้ยที่เสียก็น้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ หากโชคดีมีเงินก้อนเข้ามา เช่น โบนัสออก ขายทรัพย์สินบางอย่างได้ หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริม ลูกหนี้สามารถนำเงินดังกล่าวไปโปะหนี้บ้าน ก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยและทำให้หมดหนี้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งจะโปะหนี้ระหว่างทางหรือจะโปะปิดหนี้ทีเดียวก็แล้วแต่ความสะดวกของลูกหนี้เลย และสิ่งสำคัญที่ลูกหนี้ต้องรู้คือ สำหรับการโปะหนี้แบบนี้ซึ่งไม่ใช่การ refinance เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์คิดค่าธรรมเนียมใด ๆ กับลูกหนี้ เห็นแบบนี้ เมื่อมีเงินก้อนเข้ามาหรือมีรายได้เพิ่ม ก็อย่าลืมจัดสรรแบ่งเงินบางส่วนมาโปะหนี้บ้านเพิ่ม จะได้ช่วยให้หมดหนี้เร็วขึ้นอีกทาง
ขอเน้นย้ำอีกสักนิดเรื่องหนี้บัตรเครดิตว่าการใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราควรจ่ายหนี้ให้เต็มจำนวนและตรงเวลา ลูกหนี้หลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่าการจ่ายขั้นต่ำ ไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะนอกจากจะเสียดอกเบี้ยจำนวนมากแล้ว ยังเป็นหนี้นานกว่าจะหมดหนี้ด้วย ตามที่ได้เล่าไปแล้วในบทความ “รู้แบบนี้ เป็นหนี้ได้สบายใจ”
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญที่ลูกหนี้ต้องรู้ นอกเหนือจากวิธีการบริหารจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้เล่าไปแล้ว ก็คือวิธีการติดตามทวงถามหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากวันใดลูกหนี้พลาดพลั้งจะด้วยสาเหตุใดก็ตามจนจ่ายหนี้ไม่ไหว แล้วเกิดค้างชำระ ไม่มีเงินจ่าย เจ้าหนี้ต้องทำการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้แน่นอน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงหนี้ในลักษณะประจาน ดูหมิ่น ข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงต่อลูกหนี้ และสามารถทวงหนี้ได้เพียงวันละ 1 ครั้งตามวันเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ได้แก่ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-18.00 น.
นอกจากนี้ ค่าติดตามทวงถามหนี้ที่เกิดขึ้นก็มีลิมิตในการเรียกเก็บจากลูกหนี้ด้วย โดยหากลูกหนี้ค้างชำระหนี้ 1 งวด เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกเก็บไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงหนี้ และถ้าลูกหนี้ค้างมากกว่า 1 งวด เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกเก็บไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงหนี้
เป็นเรื่องธรรมดาที่เส้นทางและบทสรุปของการดำเนินชีวิตคู่กับหนี้ของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันเพราะขึ้นกับปัจจัยเฉพาะตัว ขอแสดงความยินดีกับคนที่ชำระหนี้ได้อย่างราบรื่นและได้ประโยชน์จากหนี้ตามที่หวัง ส่วนคนที่มีปัญหาหนี้ ก็อย่ารอช้า รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะมีหนี้น้อยหรือมาก หรือมีหนี้ที่จ่ายไม่ไหวอยู่บนหน้าตัก อย่ามัวกังวลหรือหมดหวัง หากได้รับคำแนะนำ** หรือแก้ปัญหาได้ถูกวิธี เราย่อมมีสุขภาพการเงินดีและมีความสุขได้อย่างแน่นอน
** เช่น โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนของธนาคารแห่งประเทศไทย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bot.or.th หัวข้อ ช่วยเหลือ/ร้องเรียน
เรื่อง : ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน