เปิดโลกจริงสู่ห้องเรียน :
ผู้ว่าแบงก์ชาติใช้วิชาเศรษฐศาสตร์อย่างไร
นักเรียนเศรษฐศาสตร์มักมีคำถามอยู่เสมอว่าแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยข้อสมมุติ (assumptions) แท้จริงแล้วสะท้อนเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ข้อมูลสถิติอย่าง GDP และเงินเฟ้อบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงได้ดีแค่ไหน และความรู้ในห้องเรียนเอาไปใช้ในการทำงานจริงได้อย่างไร โดยเฉพาะท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน
การทำนโยบายเศรษฐกิจทุกเรื่องต้องอยู่บนฐานความรู้ แต่ความยากคือการเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการเข้ากับโลกแห่งความจริง
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเปิดห้องเรียนเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกว่า “BOT EconClass” ให้กับนิสิตนักศึกษาปริญญาโท/เอก สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รับบทเป็นครูผู้มาแบ่งปันประสบการณ์ในการทำนโยบายการเงินในโลกจริง ให้กับคนจากหลากหลายแวดวงที่สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและการดูแลเศรษฐกิจมหภาค
นี่เป็นเนื้อหาบางส่วนจาก BOT EconClass ที่หยิบเอาปัญหาจริงมาตั้งเป็นโจทย์ โดยมีครูเศรษฐพุฒิ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างออกรส
“บทบาทและหน้าที่ของ ธปท.” คืออะไร ดร.เศรษฐพุฒิตั้งคำถามใหญ่ชวนคุยกับนักเรียนในชั้น ซึ่ง คำตอบนั้นมีหลากหลาย เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย การกำกับธนาคารพาณิชย์ หรือการวางเป้าหมายของนโยบายการเงิน ฯลฯ แต่คำตอบส่วนใหญ่ก็สะท้อนว่าผู้เรียนรู้จัก ธปท. และนโยบายการเงินดีอยู่แล้วระดับหนึ่ง
ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายว่า ธปท. มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ 3 ด้าน ได้แก่ เสถียรภาพทางการเงิน เช่น การดูแลเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เช่น การกํากับดูแลสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบการชําระเงิน เช่น การกำกับดูแลระบบพร้อมเพย์ แต่ในห้องเรียนนี้จะเน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินด้วยหลากหลายเครื่องมือของ ธปท. ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ Flexible Inflation Targeting Framework ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน
ด้านแรกคือเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งกำหนดเป้าหมายโดยกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งตั้งเป้าเป็นช่วง (range) ไว้ที่ 1-3% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะตั้งเป้าเงินเฟ้อเป็นจุดอยู่ที่ 2% ซึ่งหากเงินเฟ้อสูงก็จะส่งผลให้สินค้าโดยทั่วไปมีราคาแพงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังสัญญาณที่จะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดอย่างใกล้ชิด โดยเงินฝืด คือ ภาวะเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องที่เกิดจากด้านอุปสงค์ เพราะครัวเรือนบริโภคและใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้การหมุนเวียนของเงินลดลงและเศรษฐกิจชะลอตัว
ผู้ว่าการ ธปท. ขยายความต่อว่า ภาคครัวเรือนที่รายได้น้อยและไม่มีรายได้ประจำ เช่น คนขับแท็กซี่ แรงงานรับจ้างรายวัน ฯลฯ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักที่สุด เพราะรายได้มักไม่ได้ปรับขึ้นสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งรายได้ส่วนใหญ่มักถูกใช้ไปกับสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ดังนั้น ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เหมาะสม ตามบริบทของเศรษฐกิจไทยในแต่ละช่วงเวลา
ด้านที่สองคือการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดร.เศรษฐพุฒิเน้นย้ำว่า ธปท. ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สอดคล้องกับศักยภาพ (ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3%) และมีความยั่งยืน โดยไม่ได้ดูแค่ตัวเลข GDP แต่ยังดูข้อมูลเชิงลึกจากภาคธุรกิจและครัวเรือนร่วมด้วย ซึ่งการเติบโตที่ยั่งยืน ไม่อาจใช้แค่เพียงความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ต้องอาศัยการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยพื้นฐาน (fundamental factors) ในด้านทุน เครื่องจักร แรงงาน และเทคโนโลยีในการผลิต เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
“หากตื่นขึ้นมาวันหนึ่งแล้วรู้สึกเชื่อมั่นในประเทศไทยมาก และมีความมั่นใจอยากบริโภคใช้จ่ายเต็มไปหมด GDP เราจะขยับขึ้นไปเท่ากับเกาหลีใต้ไหม คำตอบคือ “ไม่” เพราะว่าศักยภาพการผลิตเราก็มีอยู่เท่านี้ และประชากร กำลังแรงงานของเราไม่ได้มีกำลังการผลิตและเทคโนโลยีเท่าเขา” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
ด้านสุดท้ายคือเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเล่าไปถึงวิกฤตการเงินไทยในปี 2540 ที่สถาบันการเงินล้มไปหลายแห่ง หนี้เสียสูงถึง 47% ดอกเบี้ยสูงขึ้นถึง 20% นับเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดของไทย ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของระบบเศรษฐกิจ
ดร.เศรษฐพุฒิสรุปทั้ง 3 เป้าหมายว่า “ธปท. ต้องการรักษาเงินเฟ้อให้กลับเข้าไปในกรอบ ดูแลให้เศรษฐกิจโตเข้าใกล้กับศักยภาพไม่หลุดออกจากแนวโน้มการเติบโต และต้องรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ให้หนี้ครัวเรือนและสินเชื่อมีปัญหา”
ดร.เศรษฐพุฒิ เล่าต่อไปว่าการดำเนินนโยบาย ไม่สามารถดูแค่เงินเฟ้อเรื่องเดียวได้ และต้องใช้หลากหลายเครื่องมือร่วมกันเพื่อให้บรรลุหลายเป้าหมาย ซึ่งเป็นหลักการที่องค์กรระหว่างประเทศเห็นพ้องตรงกัน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เรียกวิธีนี้ว่า Integrated Policy Framework หรือ IPF ถ้าเป็นธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlement: BIS) เรียกวิธีนี้ว่า Macro-Financial Stability Framework หรือ MFSF ซึ่งแม้ชื่อเรียกจะต่างกันแต่หลักการสำคัญตรงกัน และสอดคล้องกับสิ่งที่แบงก์ชาติกำลังทำอยู่
ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ต้องตอบโจทย์หลายอย่าง เช่น โจทย์เรื่องเงินเฟ้อ โจทย์เรื่องสินเชื่อทั้งในแง่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ โจทย์เรื่องค่าเงิน เช่น ถ้าเกิดเงินเฟ้อสูงมากจนต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ก็ทำให้ลูกหนี้กู้ได้น้อยลง ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่สูงก็ทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลเข้าประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินแข็งขึ้นด้วย นี่เป็นตัวอย่างว่าดอกเบี้ยตัวเดียวต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง ถ้ามีเครื่องมืออันเดียวก็เหมือนต้องรับภาระเยอะเกินไป ดังนั้น วิธีของ IPF ก็คือ การใช้เครื่องมืออื่นมาเสริม เช่น สมมุติว่าดอกเบี้ยสูง ลูกหนี้มีภาระเยอะ คนอยากให้ดอกเบี้ยลดลง แต่เมื่อประเมินแล้วเห็นว่าดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็สามารถตอบโจทย์สินเชื่อโดยใช้เครื่องมืออื่นมาดูแล เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการคุณสู้เราช่วย ที่ดูแลกลุ่มเปราะบางได้ตรงจุดกว่า ที่สำคัญตอนที่ชั่งน้ำหนักเรื่องของนโยบายการเงิน ต้องไม่ดูแค่เฉพาะเรื่องดอกเบี้ย แต่ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงให้รอบด้าน และต้องดูทางเลือกในการใช้มาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย
ระหว่างการเรียนการสอน ครูเศรษฐพุฒิยังได้ให้นักเรียนได้ทดลองรับบทเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยพิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินในการประชุม กนง. รอบล่าสุด
ครูเศรษฐพุฒิได้อธิบายเบื้องหลังกระบวนการตัดสินใจของ กนง. ให้ฟังว่า กนง. มีทั้งหมด 7 คน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 4 คน มากกว่ากรรมการที่เป็นคน ธปท. ที่มีอยู่ 3 คน โดยจะประชุมกัน 2 เดือน/ครั้ง และตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยการโหวต ทั้งนี้ ในการประชุมแต่ละครั้งจะประชุมกัน 2 วัน วันแรกจะถกกันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและประเด็นที่ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และหลังจากนั้นจะทิ้งช่วงเพื่อให้กรรมการมีเวลาไตร่ตรองจนตกผลึก และให้ทีมงานฝ่ายเลขานุการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการประชุมวันที่ 2
จากข้อมูลเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2567 ที่แจกให้ทุกคนในห้องได้ศึกษาและวิเคราะห์ ครูเศรษฐพุฒิได้กระตุ้นให้นักเรียนในชั้นได้แสดงความเห็นในมุมที่แตกต่างหลากหลาย และถกกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า กนง. ควรตัดสินใจอย่างไร
ตัวเลขเหล่านี้กำลังบอกอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย? ครูเศรษฐพุฒิชวนให้คิด
ภาคท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย
ไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดยภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึงประมาณ 12% ของ GDP และมีแรงงานทำงานอยู่จำนวนมาก ซึ่งการวิเคราะห์ต้องดูทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนด้วย ซึ่งระยะหลังมานี้ แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นขึ้นกลับมาแล้วก็ตาม (ปี 2567 ไทยมีนักท่องเที่ยว 35.5 ล้านคน) แต่นักท่องเที่ยวยังใช้จ่ายต่อคนน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งการท่องเที่ยวทั่วโลกต่างก็เจอสถานการณ์แบบเดียวกันนี้
เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ยังคงขยายตัว
GDP ด้านอุปสงค์ ในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแหล่งที่มาของการขยายตัว (contribution) จากการบริโภค การส่งออกสินค้า การส่งออกบริการ ที่ยังขยายตัวได้ (ราว 6%) แต่ส่วนหนึ่งเป็นการซื้อหรือส่งออกจากสินค้าที่ผลิตไว้แล้วเก็บอยู่ในโกดัง ซึ่งถ้าหักสินค้าคงคลังที่มี contribution ราว 2% กว่าออกไป ก็จะเท่ากับ GDP ในด้านอุปทานที่เติบโต 3.2%
เศรษฐกิจด้านอุปทานเติบโตช้า
เศรษฐกิจด้านอุปทานก็มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งการพึ่งพาภาคบริการที่สูง ทำให้ไทยเราฟื้นตัวจากวิกฤตได้ค่อนข้างช้า ขณะเดียวกันไทยก็มีแรงงานที่ทำงานเป็นรายวันและแรงงานนอกระบบจำนวนไม่น้อย เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้า รับจ้างรายวัน ซึ่งรายได้ของคนกลุ่มนี้หายไปมากในช่วงโควิด
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมแทบจะไม่โตเลย (ขยายตัว 0.2%) ขณะที่ภาคเกษตรที่เคยเป็นจุดแข็งก็โตค่อนข้างต่ำ (ขยายตัว 1.2%) ซึ่งปัญหาสำคัญของทั้งสองภาคการผลิตนี้ก็คือ ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงยังมีความเสี่ยงอีกมากที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้น
ปัญหาของครัวเรือนคือหนี้สูง ขณะที่ปัญหาของ SMEs คือการเข้าถึงสินเชื่อ
เมื่อมาถึงข้อมูลภาวะการเงิน ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ว่า หนี้ครัวเรือนไทยเคยพุ่งถึง 95% ของ GDP ในช่วงโควิด ปัจจุบันลดลงมาที่ 89% ของ GDP ก็ถือว่ายังสูง ที่น่าเป็นห่วงคือฝั่งลูกหนี้ครัวเรือนรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีหนี้สูงและรายได้ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ขณะที่ฝั่ง SMEs ซึ่งแบกภาระหนี้อยู่เช่นกัน ก็ทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และการเข้าถึงสินเชื่อแย่ลง
ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า ปัญหาสำคัญที่สินเชื่อชะลอลงมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้หนี้ครัวเรือนสูงเกินไป ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความสมดุลระหว่างการเข้าถึงสินเชื่อที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเพิ่มคุณภาพของสินเชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพในการชําระหนี้ของลูกหนี้
เงินเฟ้อต่ำไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ
ระดับเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันอยู่ค่อนข้างต่ำ โดยแตะกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1% สาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาได้ยากเพราะการแข่งขันที่สูงของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
คำถามต่อมา คือ ช่วงที่เงินเฟ้อต่ำในลักษณะนี้ หากลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ดอกเบี้ยที่ต่ำอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้บ้าง แต่ประเด็นคือการบริโภคไม่ใช่ปัญหาหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การบริโภคยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญคือการตัดสินนโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับคาดการณ์แนวโน้มในระยะข้างหน้า (outlook dependent) โดยไม่อาจดูแค่ข้อมูลตัวเลขและสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น (data dependent) ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เงินเฟ้อสูงถึง 8% กนง. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป เพราะธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ พากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเร็วและแรง ซึ่งเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังก็คือ กนง. เห็นข้อมูลแล้วว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่เป็นเรื่องชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในไม่ช้า เพราะเราต้องให้น้ำหนักกับทิศทางในระยะข้างหน้ามากกว่าความผันผวนในระยะสั้น
พอเข้าสู่ช่วงถาม-ตอบ คำถามหนึ่งที่นักเรียนหลายคนสงสัยก็คือ ความเป็นอิสระของธนาคารกลางกับการดำเนินนโยบายการเงิน ว่า ธปท. จะวางสมดุลในเรื่องนี้อย่างไร?
ดร.เศรษฐพุฒิเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโครงสร้างการกำกับดูแล ธปท. และการทำนโยบายของ ธปท. ว่ามีคณะกรรมการ ธปท. เป็นบอร์ดบริหารทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและการดำเนินงานทั่วไปของ ธปท. ซึ่งถูกแยกออกจากคณะกรรมการนโยบายทั้ง 3 คณะ (กนง. กนส. และ กรช.) อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การทำงานมีอิสระเพียงพอในการออกแบบนโยบายและมาตรการ
“ความเป็นอิสระของ ธปท. ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ (credibility) ขององค์กรเป็นสำคัญ เราต้องทำให้สาธารณชนมีความเชื่อมั่นต่อ ธปท. ว่าเราทำทุกอย่างภายใต้ข้อมูล ความรู้ และหลักการที่ถูกต้อง โดยไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องยึดติดกับตัวบุคคลว่าเป็นใครที่ดำรงตำแหน่งอยู่ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่หลอมรวมขึ้นมาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย” ดร.เศรษฐพุฒิตอบ
อีกหนึ่งเรื่องที่มาไขความเข้าใจกันในครั้งนี้คือ ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยเล่าให้เห็นภาพว่า ในอดีตการเติบโตของการบริโภคและการผลิตค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เวลาภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นการบริโภค การผลิตก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ทั้งประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำ ต้นทุนการผลิตที่สูง จึงทำให้เราแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ยาก ดังนั้น แม้การบริโภคจะเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลดีไปยังการผลิตในประเทศ แต่มูลค่าการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทางออกที่ยั่งยืนจึงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทยเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อีกเรื่องที่น่าสนใจในช่วงท้ายของการเรียนการสอนก็คือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่น้อยลง ว่าส่วนหนึ่งมาจากธนาคารขาดสภาพคล่อง เนื่องจาก ธปท. ดูดสภาพคล่องออกจากระบบ เพราะอาจคิดว่าสภาพคล่องเหมือนน้ำในแก้วที่เวลาดูดออกก็จะหายไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาพคล่องในระบบกับสินเชื่อของธนาคารเป็นคนละเรื่องกัน หากดูจากข้อมูลสิบปีที่ผ่านมา ยอดคงค้างของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร (Bilateral repo) และยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลสภาพคล่อง เพิ่มจาก 4 ล้านล้านบาท มาสูงสุดที่ราว 6 ล้านล้านบาท แล้วลดลงมาอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่ยอดสินเชื่อธนาคารทั้งระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดสิบปี จาก 13 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 18 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อกลับมาจากตัวผู้กู้เองที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น
“ที่สำคัญจริง ๆ เป็นเรื่องความเสี่ยงของผู้กู้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารไม่อยากปล่อยสินเชื่อ เพราะผลตอบแทนในการให้สินเชื่อกับ SMEs อยู่ที่ 8-10% แต่ต้นทุนของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ SMEs อยู่ที่ 11-13% โดยเป็นค่าความเสี่ยงจากหนี้เสีย 6-8% ในบางกรณีธนาคารจึงมองว่าไม่คุ้มความเสี่ยง” ดร.เศรษฐพุฒิอธิบาย
ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของ SMEs ในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ธปท. อยู่ระหว่างผลักดันร่าง พรบ. สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA (National Credit Guarantee Agency) เพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น
สุดท้ายนี้ พระสยาม BOT Magazine หวังว่าเนื้อหาและบรรยากาศการเรียนการสอนใน BOT EconClass ที่นำมาเล่านี้ จะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นภาพการนำวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการดำเนินนโยบายจริงมากขึ้น
สำหรับคนที่สนใจข่าวสารและสาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ธปท. ทุกช่องทาง