จากบัญชีธนาคาร สู่บัญชีคริปโทฯ

เมื่อบัญชีม้ากลายพันธุ์

จากบัญชีธนาคาร สู่บัญชีคริปโทฯ.. เมื่อบัญชีม้ากลายพันธุ์

2-3 ปีที่ผ่านมาหลายคนคงเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “บัญชีม้า” ที่เป็นช่องทางสำคัญที่มิจฉาชีพใช้ในการปกปิดเส้นทางการเงินและเชื่อมโยงไปสู่ผู้กระทำผิดตัวจริง จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2567 เพียงปีเดียว คนไทยถูกหลอกให้โอนเงินกว่า 37,582 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นเงิน 103 ล้านบาทต่อวัน นี่จึงไม่ใช่ปัญหาที่สามารถมองข้ามได้

 

ที่ผ่านมา มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อจัดการบัญชีม้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่มิจฉาชีพก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบของบัญชีม้าไปเรื่อย ๆ จนล่าสุดไม่ได้หยุดอยู่แค่บัญชีเงินฝากในธนาคารอีกต่อไป แต่เริ่มเห็นแนวโน้มของ “บัญชีม้าคริปโทฯ” ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่องวิวัฒนาการบัญชีม้า การพัฒนาของมิจฉาชีพ

 

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการกวาดล้างบัญชีม้าในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยปรับจากการดำเนินการระดับ "บัญชี" เป็นระดับ "บุคคล" และช่วงต้นปี 2568 ได้ยกระดับการจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม ทำให้สมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินสามารถอายัดบัญชีม้าได้มากกว่า 2 ล้านบัญชี หรือมากกว่า 1 แสน 5 หมื่นรายชื่อ (ยอดสะสม ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568) การกวาดล้างอย่างเข้มข้นครั้งนี้ส่งผลให้มิจฉาชีพหาบัญชีม้าใหม่ ๆ ได้ยากขึ้น และต้องหาช่องทางอื่นที่ติดตามได้ยากกว่าเดิม

 

หนึ่งในพฤติกรรมที่เห็นได้มากขึ้นในระยะหลังของมิจฉาชีพ คือ การพัฒนาจากบัญชีม้าระดับบุคคลไปเป็นบัญชีม้านิติบุคคล เนื่องจากมีเพดานการโอนเงินสูงกว่าบัญชีบุคคลธรรมดา ทำให้สามารถโอน-รับเงินมูลค่าสูง ๆ และยังดูมีความน่าเชื่อถือเมื่อนำไปใช้หลอกเหยื่ออีกด้วย

 

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะปัจจุบันจะเริ่มเห็นการโอนเงินระหว่างบัญชีม้าเป็นทอด ๆ ที่สั้นลง จากเดิมที่เคยโอนเงินผ่านบัญชีม้า 4-5 ทอด แต่ละทอดกระจายไปในหลายบัญชี เปลี่ยนมาเป็นการโอนเงินเพียง 1-2 ทอด ในบัญชีม้าธนาคารแล้วโอนไปสู่บัญชีม้าคริปโทเคอร์เรนซีเลย ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล เนื่องจากการตรวจสอบต้นสายปลายทางจะทำได้ยากขึ้นแบบทวีคูณ

พัฒนาการของบัญชีม้า

ม้าคริปโทฯ : บัญชีม้าพันธุ์ใหม่ที่ร้ายกว่าเดิม

 

จากข้อมูลในระบบ Central Fraud Registry (CFR) พบว่าช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 เพียง 3 เดือน มิจฉาชีพใช้บัญชีคริปโทเคอร์เรนซีเป็นช่องทางหลักในเส้นทางเงินทุจริต โดย 75% ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด หรือเท่ากับ 6,700 ล้านบาท ถูกแปลงสภาพจากเงินบาทเป็นคริปโทฯ ซึ่งการโอนย้ายดังกล่าวสามารถทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที ก่อนจะขายกลับคืนเป็นเงินบาทหรือเงินสกุลอื่น ๆ เรียกว่าสามารถจบกระบวนการ “ฟอกเงิน” ได้ภายในวันเดียว

Thailand inflation อัตราเเงินเฟ้อทั่วไปของไทย

บัญชีม้าคริปโทฯ มีความซับซ้อนกว่าบัญชีม้าธนาคาร การโอนเงินจากบัญชีธนาคารไปยังบัญชีคริปโทฯ ทำได้ผ่านบัญชีซื้อขายคริปโท 2 รูปแบบ ได้แก่

 

(1) บัญชีซื้อขายผ่านตัวกลาง เช่น ผ่านกระดานเทรด (exchange) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีการทำ KYC/CDD ตามเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 

 

(2) บัญชีซื้อขายผ่านแพลทฟอร์มต่างประเทศแบบ Peer to Peer (P2P) ที่เป็นการซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล  อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาออกฎหมายเพื่อกำกับดูแล P2P*

 


 

หมายเหตุ : *บทความฉบับนี้เผยแพร่เมื่อ 8 เมษายน 2568 อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ซึ่งมีผลครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนอกราชอาณาจักรที่ให้บริการซื้อขายแบบ P2P แก่บุคคลที่อยู่ในประเทศไทยด้วย


 

การย้ายเงินจากบัญชีธนาคารไปบัญชีคริปโต

บางท่านอาจเคยได้ยินว่าการทำธุรกรรมการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมีความโปร่งใส เพราะมีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมย้อนหลังได้ แต่ในความเป็นจริง แม้เราจะตรวจสอบการซื้อขายบนบล็อกเชนได้ แต่หากซื้อขายคริปโทฯ แบบ P2P ที่บัญชีต้นทางหรือปลายทางอาจไม่ได้มีการ KYC หรือ CDD เอาไว้ ก็จะรู้เพียงเหรียญคริปโทฯ จำนวนนี้ถูกโยกย้ายไปกระเป๋า “ใบไหน” แต่ไม่ทราบว่ากระเป๋าใบนั้นเป็น “ของใคร” ดังนั้น การติดตามเส้นทางเงินเพื่อจับมิจฉาชีพ และนำเงินมาคืนเหยื่อจึงเป็นไปได้ยากมาก

 

รู้จัก KYC และ CDD

การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) คือ กระบวนการที่สถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลใช้เพื่อตรวจสอบตัวตนของลูกค้า และตรวจสอบข้อมูลที่ลูกค้าให้ไว้กับผู้ให้บริการ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ธปท. และ ก.ล.ต. กำหนด

การทำ KYC/ CDD ทำให้ทราบวัตถุประสงค์และธุรกรรมที่ดำเนินการอยู่ของผู้ใช้บริการ ป้องกันการปลอมแปลงหรือใช้ข้อมูลบุคคลอื่นในการทำผิดกฎหมาย โดยผู้ให้บริการจะขอข้อมูลบางอย่างของลูกค้า เช่น บัตรประชาชน หนังสือรับรองเงินเดือน ข้อมูลเครดิตบูโร 

จับให้ได้ ไล่ให้ทัน รวมพลังปราบม้า

 

ที่ผ่านมา ภาครัฐร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการและกฎหมายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาบัญชีม้า และเพิ่มความเข้มข้นในการจัดการบัญชีม้า แต่มิจฉาชีพก็มีการปรับตัวและขยายออกไปไกลกว่าขอบเขตบัญชีธนาคาร หน่วยงานที่กำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องประสานความร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้าเพื่อตรวจจับและอายัดให้ทันการณ์

 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อให้มีมาตรการป้องกันและคุ้มครองประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อ รวมถึงยังอาจต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ

 

นอกจากการทำงานสอดประสานกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องผ่านการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์กลลวงใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องมุ่งมั่นทำต่อไป ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องติดตามข่าวสาร และระมัดระวังการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการลงทุน การร่วมทุน หรือการซื้อขายเหรียญคริปโทฯ ก็ควรทำอย่างมีสติ และตรวจสอบว่าเป็นการทำผ่านผู้ให้บริการภายใต้การกำกับเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อ และไม่ได้กลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ

เรื่อง : งานจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ