ธปท. กับภารกิจพิชิตภัยการเงิน
ธปท. มุ่งมั่นในการจัดการภัยทุจริตทางการเงินมาโดยตลอด และได้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยป้องกัน ตรวจจับ และจัดการผู้ที่กระทำผิด ให้ครบวงจรตลอดเส้นทางการใช้บริการทางการเงินของประชาชน
สำหรับภัยการเงินที่เกิดจากการโจมตีอุปกรณ์เพื่อเข้าถึง ควบคุม และสวมรอยทำธุรกรรมของมิจฉาชีพโดยที่ผู้เสียหายไม่รู้ตัว หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “แอปดูดเงิน” นั้น ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียหายลดลงอย่างมาก จากประมาณ 3,000 บัญชี ในเดือนมกราคม 2567 เหลือเพียง 1 บัญชี ในเดือนธันวาคม 2567 แม้จำนวนผู้เสียหายจากแอปดูดเงินลดลง แต่การหลอกลวงให้โอนเงินรูปแบบอื่น ๆ ยังคงมีอยู่ โดย ณ เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 23,717 ราย จากช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ 26,575 ราย ซึ่ง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมดำเนินการผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
สาเหตุที่ทำให้แอปดูดเงินลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ธปท. ได้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่การผนึกกำลังกันของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคทั้งในภาคการเงินและระดับประเทศ เช่น TB-CERT สกมช. และ Google ในการหาวิธีป้องกันแอปดูดเงินเพิ่มเติม ตลอดจนการยกระดับมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการใช้บริการ mobile banking ของ ธปท. โดยไม่อนุญาตให้ใช้งานแอปพลิเคชันหากมีการตรวจพบพฤติกรรมผิดปกติ อย่างเช่น การใช้งานเครือข่ายเสมือน (VPN) หรือการสร้างหน้าจอซ้อนทับเพื่อหลอกให้คลิกลิงก์หรือเว็บไซต์ที่ซ่อนอยู่และดาวน์โหลดมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ออกแนวนโยบายบริหารจัดการภัยทุจริตเพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงิน ทั้งสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับทุกรายนำไปปฏิบัติ เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน โดยได้คำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสะดวกสบายกับความปลอดภัย เช่น การงดส่ง SMS ที่มีลิงก์แนบ การให้สแกนใบหน้าเมื่อโอนเงิน 50,000 บาทขึ้นไป และให้ใช้งาน mobile banking ได้เพียง 1 บัญชีต่อธนาคารเท่านั้น ที่สำคัญทุกธนาคารจะต้องจัดให้มีสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับแจ้งเหตุภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินและจัดการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ธปท. สื่อสารการงดส่ง sms หรืออีเมลที่มีลิงก์แนบ
ธปท. สื่อสารเกี่ยวกับการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน กรณีโอนเงิน 50,000 บาทขึ้นไป
บัญชีม้าถือเป็นเครื่องมือสำคัญของมิจฉาชีพในการหลอกลวงและปกปิดตัวตนไม่ให้เหยื่อรู้ ฉะนั้น การกวาดล้างบัญชีม้าจึงถือเป็นช่องทางสำคัญหนึ่งที่จะช่วยป้องกันภัยทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากสามารถหยุดการเปิดบัญชีม้าหรือจำกัดการใช้งานได้ก็จะทำให้มิจฉาชีพทำงานได้ยากขึ้น และหากยับยั้งการถอนเงินออกได้ด้วยก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการติดตามเงินคืนให้กับผู้เสียหายได้
ที่ผ่านมา ธนาคารทุกแห่งสามารถร่วมกันระงับบัญชีม้าได้ถึง 1,750,000 บัญชีในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 โดยเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของ ธปท. กับพันธมิตรอีกหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้ให้บริการทางการเงินกลุ่มต่าง ๆ
ก้าวสำคัญในการปราบปรามบัญชีม้าก็คือ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) ภายใต้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในการรับแจ้งเหตุและระงับธุรกรรมต้องสงสัยให้กับผู้เสียหาย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินผ่านระบบ CFR ซึ่งช่วยทำให้ตำรวจสามารถสืบสวนสอบสวนและอายัดบัญชีของผู้ต้องสงสัยได้เร็วขึ้น
อีกมาตรการสำคัญก็คือ การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ โดยให้ทุกธนาคารจัดการบัญชีบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง จากเดิมที่ตรวจจับเฉพาะ “บัญชี” ที่กระทำผิด มาเป็นตรวจจับทุกบัญชีที่อยู่ภายใต้ “รายชื่อ” ของผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าของบัญชีเปิดบัญชีใหม่ได้อีก รวมถึงกำหนดมาตรฐานการจัดการบัญชีม้า (ม้าดำ ม้าเทา ม้าน้ำตาล) ให้เป็นแนวทางเดียวกันโดยมีความเข้มงวดลดหลั่นกันไปตามระดับความเสี่ยง เช่น ห้ามโอนเงินเข้า ห้ามโอนเงินออก ระงับการเปิดบัญชีใหม่ ขณะที่แต่ละธนาคารก็สามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้ mobile banking ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นเพิ่มเติมได้ด้วย
มาตรการจัดการภัยทุจริตของ ธปท. นั้น แม้มีความจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาภัยการเงินให้ได้เร็วและมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อน้อยที่สุด แต่ก็ได้คำนึงถึงการรักษาสมดุลที่ต้องไม่กระทบต่อการใช้บริการทางการเงินโดยสุจริตจนเกินสมควรด้วยเช่นกัน