เสริมแกร่งท้องถิ่นไทย

หัวใจใหม่ของการพัฒนา 

monetary policy box

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายศักยภาพในการเติบโต เป็นหนึ่งในคำตอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยประชากรและธุรกิจราว 80% ของประเทศ อยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล การสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็งและแข่งขันได้จึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 

 

ท้องถิ่นที่แข่งขันได้ต้องมีหลายองค์ประกอบ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มจากเอกลักษณ์ของท้องถิ่น การเชื่อมกับตลาดโลก การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ การสนับสนุนเมืองน่าเที่ยว การที่ท้องถิ่นบริหารจัดการตัวเองได้ การมีระบบติดตามความเจริญ1 และหนึ่งในองค์ประกอบที่จำเป็น คือ ความเข้มแข็งทางการเงิน

 

สำหรับด้านการเงิน สิ่งที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นมีอยู่ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) หนี้  (2) ภัยการเงิน และ (3) การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่ผ่านมา ธปท. ทั้งที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ รวมถึงส่วนกลาง ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ผลักดันโครงการที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งทางการเงินให้กับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ครูสตางค์

โครงการครูสตางค์

สำหรับการแก้หนี้และการป้องกันภัยการเงิน นอกจากการให้คำปรึกษาทางการเงินผ่านสายด่วน 1213 และการลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้โดยตรงในแต่ละภูมิภาคแล้ว ธปท. ยังเพิ่มความเข้มข้นในการทำงาน 3 ด้าน คือ

 

(1) สร้างความตระหนักรู้เรื่องการจัดการทางการเงิน แก้หนี้ และภัยการเงิน ผ่านผู้แทนในพื้นที่ เช่น กลุ่มครูอาจารย์ ผ่านการดำเนินโครงการครูสตางค์ ในพื้นที่ 15 จังหวัดในภาคเหนือ 17 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 8 จังหวัดในภาคใต้ เพื่อให้นำองค์ความรู้ไปสอนต่อให้กับนักเรียนนักศึกษา รวมถึงทำโครงการเสริมแกร่งกองทุนหมู่บ้าน ร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว

(2) สร้างระบบการให้ความรู้ทางการเงินแบบยั่งยืน ด้วยการผลักดันวิชา “ความรู้ด้านการเงินเพื่อชีวิตประจำวัน” เป็นวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd) เพื่อให้นิสิตนักศึกษาทุกคณะในมหาวิทยาลัยสามารถเข้าเรียนได้ โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยแกนนำในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจะเริ่มเปิดสอนวิชา GenEd ในภาคเรียนที่ 1 ปี 2568 เป็นต้นไป ควบคู่กับการผลักดันเชิงนโยบายผ่านกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อขยายผลการสอนวิชานี้ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นทั่วประเทศต่อไป และ

(3) สื่อสารเรื่องมาตรการแก้หนี้และการเตือนภัยการเงินให้เข้าถึงคนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยใช้ภาษาถิ่น และสื่อในช่องทางที่เข้าถึงคนในท้องถิ่นได้ง่าย ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เช่น ใช้รถขยายเสียงเตือนภัยทางการเงินในตลาด ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจผ่านพันธมิตรในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา กองทุนหมู่บ้าน อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) อาสาสาธารณสุข (อสม.) อินฟลูเอนเซอร์ท้องถิ่น รวมถึงออก spot วิทยุภาษาท้องถิ่นทั้งภาษาเหนือ อีสาน ใต้ และมลายูสำหรับเผยแพร่ในชุมชนมุสลิม

โครงการเสริมแกร่ง SMEs

โครงการเสริมแกร่ง SMEs

ส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ได้เพิ่มความเข้มข้นใน 2 ด้าน คือ

 

(1) สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ผ่านโครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการเพิ่มโอกาสให้รายย่อยและ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเองมากขึ้น

(2) ลงพื้นที่จับมือกับ SMEs พัฒนาองค์ความรู้ทางการเงิน ผ่านโครงการนำร่องเสริมศักยภาพ SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อสร้างความเข้าใจสาเหตุที่เข้าถึงสินเชื่อยาก และหาแนวทางช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม โดยพูดคุยกับ SMEs และผู้บริหารสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้างพื้นที่ทดลอง “คลินิกเสริมแกร่งการเงิน SMEs”  ในภาคเหนือ ซึ่ง SMEs ที่ผ่านเกณฑ์จะสามารถเข้าสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับธนาคารได้ ขณะที่ SMEs ที่ยังไม่พร้อมจะได้รับการช่วยเหลือเพื่อเสริมด้านที่เป็นจุดอ่อน ก่อนยื่นขอสินเชื่อใหม่ นอกจากนี้ ยังร่วมกับแพลตฟอร์มสาธารณะเผยแพร่หลักสูตรที่จัดทำขึ้นสำหรับ SMEs เช่น FinDi ของสมาคมธนาคารไทยและ Lifelong ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่3

ธปท. หวังว่า การเสริมความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นไทยในด้านการเงินจะช่วยสร้างการเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนไทย อย่างทั่วถึงและยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้นในอนาคต

ดีใจมากที่ทางแบงก์ชาติลงมาสัมผัสกับประชาชนตรงนี้ พอหน่วยงานลงมาก็ได้ใกล้ชิดกัน มีอะไรก็สอบถามกัน เป็นกันเองมาก ๆ

คุณโสดา เพชรมณี

เกษตรกรปลูกปาล์มยาง จ.สงขลา

หมายเหตุ

 

ปาฐกถาพิเศษผู้ว่า ธปท. ในหัวข้อ ท้องถิ่นที่สากล : อนาคตประเทศไทย (Globally Competitive Localism: Future of Thailand) ในงานเสวนา Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน เนื่องในโอกาสสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขึ้นสู่ปีที่ 14 วันที่ 13 กันยายน 2567

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีผู้ลงทะเบียนและเรียนจบหลักสูตร จำนวน 3,834 คน

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีผู้ลงทะเบียนและเรียนจบหลักสูตร จำนวน 1,818 คน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี