กรอบเงินเฟ้อสำคัญต่อนโยบายการเงินอย่างไร?

กรอบเงินเฟ้อสำคัญอย่างไร

ความสำคัญของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

 

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะปานกลางที่ช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเงินเฟ้อที่ต่ำและไม่ผันผวน ทำให้ประชาชนและธุรกิจสามารถวางแผนการออมและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปี 2543 ที่ไทยนำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อลดลงเกินครึ่งจาก 5.2% เป็น  2.0% ต่อปีและมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ

 

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินผ่านกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ซึ่งเน้นดูแลเงินเฟ้อที่ระยะปานกลาง (เงินเฟ้อในระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า) ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเพราะไม่จำเป็นต้องรักษาเงินเฟ้อระยะสั้นให้อยู่ในกรอบตลอดเวลา แต่สามารถชั่งน้ำหนักและรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินทั้งสามด้าน นั่นคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา การส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

 

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพด้านราคาผ่านการเป็นกรอบยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง (medium-term inflation expectations) ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเงินเฟ้อคาดการณ์ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนและธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยึดเหนี่ยวได้ดี เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การปรับขึ้นของราคาน้ำมันโลก จะส่งผลต่อเงินเฟ้อเพียงชั่วคราวแต่ไม่กลายเป็นเงินเฟ้อที่สูงค้างนาน เพราะหากธุรกิจเชื่อว่าในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ ธุรกิจจะไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราว  ในทางตรงกันข้าม หากธุรกิจเชื่อว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อเนื่อง ธุรกิจอาจเร่งปรับขึ้นราคาตามกันเป็นวงกว้าง ทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นไปตามที่คาดการณ์ 

ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน แถลงผลการประชุม กนง.

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไทยที่เหมาะสม

 

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 1-3% ซึ่งสอดรับกับปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทยที่เป็นเศรษฐกิจที่เล็กและเปิด พึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูง อีกทั้งตะกร้าเงินเฟ้อไทยยังมีสัดส่วนการบริโภคอาหารที่ค่อนข้างสูง ปัจจัยเชิงโครงสร้างดังกล่าว ทำให้เงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยภายนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยความผันผวนของเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมา มาจากหมวดพลังงานและอาหารสดมากกว่า 90% และมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเกือบครึ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่เหมาะสมกับไทยจึงควรเป็นกรอบเป้าหมายแบบช่วงที่มีความยืดหยุ่น เพื่อช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อไทยมักผันผวนในระยะสั้นจากปัจจัยดังกล่าว

 

ระดับของกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ยังสอดรับกับแนวโน้มเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำจาก (1) ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มไม่เร่งตัวมากเท่าในอดีตตั้งแต่มีการค้นพบเทคโนโลยีขุดเจาะ shale oil ในปี 2558 (2) ราคาอาหารที่มีแนวโน้มต่ำลงตามราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและขนส่ง รวมถึงการไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากนักเนื่องจากไทยสามารถผลิตอาหารเพื่อบริโภคได้เอง และ (3) การแข่งขันจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องชะลอการขึ้นราคาสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการที่จีนมีอุปทานส่วนเกินและส่งออกสินค้ามายังไทยและประเทศในอาเซียนมากขึ้น

 

ที่ผ่านมา กรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ดี ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยมีเสถียรภาพด้านราคาแล้ว ยังส่งผลดีต่อเสถียรภาพโดยรวมของประเทศด้วย โดยในช่วงปี 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อสูงเกือบ 8% แต่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ ทำให้เงินเฟ้อไทยปรับลดลง และกลับมาอยู่ในกรอบได้ภายในเวลาเพียง 7 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วโดยเฉพาะหากเทียบกับต่างประเทศ นอกจากนี้ เงินเฟ้อคาดการณ์ที่ยึดเหนี่ยวได้ดี ทำให้ไทยไม่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงจนกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า 

 

ดร.ปิติ ดิษยทัต

ดร.ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินและผู้บริหาร ธปท. รับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินและเศรษฐกิจ ร่วมกับกลุ่มนักวิเคราะห์ในงาน Monetary Policy Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกไตรมาส

หมายเหตุ

 

1 ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อก่อนใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ปี 2537-2542 เปรียบเทียบกับหลังใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2543-ปัจจุบัน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี กรอบเงินเฟ้อ