สนามทดลองแก้หนี้ จากโลกความรู้ สู่โลกความจริง
ข้อมูลสินเชื่อกว่าทศวรรษจากเครดิตบูโรแสดงให้เห็นว่า เกษตรกรไทยมีหนี้สินในวงกว้าง และกว่า 50% ที่มีหนี้ในระบบกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้เรื้อรัง ชำระหนี้ได้เพียงดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ในระยะยาว
ทว่ามาตรการแก้หนี้ที่ผ่านมาของภาครัฐและสถาบันการเงินเกษตรกร มักให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ NPL หรือพยุงปัญหาหนี้ในระยะสั้นอย่างมาตรการพักชำระหนี้ แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้ในระยะยาว เพราะแท้จริงแล้วควรต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขที่ตรงจุดและครบทุกต้นตอของปัญหาหนี้ ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างหนี้ที่ไม่ตรงกับศักยภาพ การดำเนินงานของสถาบันการเงินเกษตรกรและระบบการเงินฐานรากที่ยังขาดประสิทธิภาพ นโยบายภาครัฐ รวมถึงปัญหารายได้ ภูมิคุ้มกัน และการขาดความตระหนักรู้ของเกษตรกรเอง
ทั้งหมดนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการวิจัย “สนามทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน ธปท. ภาครัฐ และภาควิชาการ ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และผลักดันการออกแบบมาตรการแก้หนี้ที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน
โครงการวิจัยฯ นี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. ธ.ก.ส. และนักวิชาการจากทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีพันธกิจร่วมกันเพื่อศึกษาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้เรื้อรัง และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมวิจัยเพื่อการแก้หนี้ที่ครบวงจรใน 5 ด้านหลัก คือ
(1) การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อให้สามารถสะท้อนปัญหา ศักยภาพ และพฤติกรรมของเกษตรกรได้รอบด้านมากขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลรายเกษตรกรจากหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ธปท. ธ.ก.ส. และอีก 13 หน่วยงานภาครัฐ การมีข้อมูลที่สามารถสะท้อนปัญหาและศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกรได้ จะช่วยในการแก้หนี้เดิมได้ตรงจุดขึ้น ช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้มีประสิทธิภาพขึ้น และจะเป็นรากฐานในการสร้าง credit scoring เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยหนี้ใหม่ได้ตรงศักยภาพความเสี่ยงได้
(2) การแก้หนี้เก่า หนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ทดลองมาตรการกระตุ้นชำระหนี้กับลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 10 เดือน (มีนาคม-ธันวาคม 2567) ครอบคลุมตัวอย่างกว่า 14,400 ราย จาก 120 สาขานำร่องที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการแรก ๆ ที่มีการทดลองมาตรการขนาดใหญ่ระดับประเทศเพื่อวัดผลก่อนนำไปใช้จริง โดยมาตรการที่ทดลองประกอบด้วย การสื่อสารมาตรการพักหนี้รูปแบบใหม่อย่างเข้มข้น การสื่อสารและกระตุ้นด้วยมาตรการชำระดีมีโชค และการออกให้บริการธนาคารใกล้บ้าน
การทดลองมาตรการกระตุ้นชำระหนี้ร่วมกับ ธ.ก.ส. ใน 96 สาขานำร่องทั่วประเทศ
บทเรียนสำคัญที่ได้จากการทดลอง คือ (1) การสื่อสารมาตรการคือหัวใจของการดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิผล เพราะแม้มาตรการจะถูกออกแบบมาดี แต่หากไม่ได้ถูกสื่อสารให้เข้าใจ อาจทำให้เกษตรกรไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของมาตรการ (2) การสร้างเครื่องมือกระตุ้นชำระหนี้และลดอุปสรรคของลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถมีวินัย และชำระหนี้ได้ถี่และสม่ำเสมอขึ้น และ (3) การเปลี่ยนแนวทาง “รัฐช่วยพักหนี้” เป็น “รัฐ-ธนาคาร-ลูกหนี้ ช่วยกันจ่ายหนี้” อาจเป็นรูปแบบของการร่วมมือแก้หนี้ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนขึ้นได้ โดยมาตรการรัฐจะต้องถูกออกแบบมาสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังชำระหนี้อยู่ เครื่องมือของสถาบันการเงินต้องช่วยกระตุ้น สร้างวินัย และทำให้การชำระหนี้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะกระตุ้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ได้ในระยะยาว
(3) การปล่อยหนี้ใหม่อย่างยั่งยืน โครงการวิจัยฯ ร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงจากหลากหลายฐาน เพื่อศึกษาแนวทางการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งมีงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการศึกษา 3 งานได้แก่ การประเมินความเสี่ยงด้านสินเชื่อของลูกหนี้เกษตรกรและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษากลไกและการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อค้ำประกันกลุ่ม และการศึกษาการออกแบบสินเชื่อที่มีประกันภัยพิบัติ
(4) การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการส่งเสริมทักษะทางการเงิน และหมอหนี้ชุมชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมทางการเงินที่ดีให้แก่ลูกหนี้เกษตรกร คณะนักวิจัยร่วมกันถอดบทเรียนจากประสบการณ์การแก้หนี้ของภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสังเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรตลอดเส้นทางการมีหนี้ เพื่อนำมาใช้ออกแบบแนวทางที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม รวมถึงการขยายผลหมอหนี้ในชุมชนเกษตรกร
(5) การผสานการแก้หนี้กับการสร้างรายได้และนโยบายของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการทำงานกับภาครัฐในการปรับปรุงแนวทางการประกันภัยพืชผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการออกแบบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ตรงจุดและรักษาแรงจูงใจในการชำระหนี้และพัฒนาตนเอง