เติมพลัง SMEs เพื่อให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าที่เคย

เติมพลัง SMEs เพื่อให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าที่เคย

ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ SMEs มีข้อจำกัด ในการเข้าถึงสินเชื่อ ได้แก่

 

(1) มีศักยภาพการแข่งขันที่จำกัดและอาจยังไม่มีความพร้อมในการปรับธุรกิจให้สอดรับกับกระแสโลก

(2) มีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ เช่น มีประวัติการเดินบัญชีกับสถาบันการเงินไม่นานพอ

(3) มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงและไม่มีหลักประกันหรือมีไม่เพียงพอ และ

(4) รายได้จากยอดสินเชื่อขนาดเล็กไม่คุ้มกับต้นทุนในการประเมินและติดตามความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs  ทำให้ SMEs ขอสินเชื่อไม่ผ่านหรือได้อัตราดอกเบี้ยที่สูง

 

ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่ อาทิ

การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ผ่านโครงการ Your data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลที่มีกับผู้ให้บริการทางการเงินและหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกและปลอดภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงินในการประเมินศักยภาพของผู้กู้ได้ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบด้วยต้นทุนที่เหมาะสมให้กับคนที่มีประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ แต่มีข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ที่แสดงถึงความสามารถและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี

 

การยกระดับกลไกการค้ำประกันเครดิต ในรูปของสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) โดย ธปท. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังวางแนวทางในการ (1) เพิ่มศักยภาพกลไกการค้ำประกันเครดิต ทั้งในด้านการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าผ่านการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าที่เป็นปัจจุบันทั้งก่อนและหลังจากเริ่มค้ำประกันไปแล้ว เพื่อใช้กำหนดและปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่เปลี่ยนไป และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มั่นคงจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และ (2) ขยายขอบเขตการค้ำประกันเครดิตให้ครอบคลุมการให้กู้ยืมในรูปแบบอื่นนอกจากสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทลูกของสถาบันการเงิน โดยให้ครอบคลุมการให้กู้ยืมจากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและการออกตราสารหนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและเหมาะสมกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น โดย NaCGA จะช่วยร่วมรับความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินกล้าปล่อยกู้แก่ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันหรือมีไม่เพียงพอมากขึ้น

งานเสวนา "กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วย SMEs ในการเข้าถึงทุน"

งานเสวนา "กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วย SMEs ในการเข้าถึงทุน" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ

การเพิ่มผู้เล่นประเภทใหม่ในระบบ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาปล่อยกู้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีหลักประกันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และการเปิดให้มีผู้เล่นใหม่อย่างธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นกว่าผู้ให้บริการแบบดั้งเดิม และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือกมาใช้พัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ธปท. ได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวควบคู่กับมาตรการดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่บังคับใช้กับผู้ให้บริการทางการเงิน อาทิ Responsible Lending การแก้หนี้อย่างยั่งยืน การจัดการปัญหาการทุจริตและหลอกลวง ตลอดจนการส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินให้แก่กลุ่มต่าง ๆ โดย ธปท. เชื่อมั่นว่าหากประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี