Financing the Transition:

พลังภาคการเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของธุรกิจไทย

Financing the Transition

โครงการ Financing the Transition เป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง โดยมีจุดเด่นใน 3 มิติด้วยกัน มิติที่ 1 คือ ตอบโจทย์บริบทไทย โดยเน้นสนับสนุนการปรับตัวจาก brown เป็น less brown และช่วย SMEs ให้ได้เริ่มปรับตัวจากก้าวเล็ก ๆ ก่อน มิติที่ 2 ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนตามความชำนาญของแต่ละธนาคารพาณิชย์  ซึ่งแม้ผลิตภัณฑ์ของแต่ละธนาคารพาณิชย์จะมีความแตกต่างกัน แต่เมื่อรวมกันของทั้ง 8 แห่งแล้ว สามารถครอบคลุมลูกค้าในภาคเศรษฐกิจสำคัญค่อนข้างครบถ้วน มิติที่ 3 เน้นทำจริง คือ ธนาคารพาณิชย์ทำจริง โดยมีการให้สินเชื่อที่ออกแบบให้เงื่อนไขจูงใจตอบโจทย์และให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวได้จริง ลูกค้าทำจริง โดยนำสินเชื่อที่ได้ไปลงทุนปรับกระบวนการทางธุรกิจที่สำคัญและมีการติดตามวัดผลว่าทำจริงและทำแล้วมีผลต่อสิ่งแวดล้อมจริง ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องปรับตัวในลักษณะคล้ายกันก็สามารถมาสมัครใช้สินเชื่อและบริการดังกล่าวจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้

Financing the Transition

งานเปิดตัว Financing the Transition การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่ง

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มดำเนินการโครงการไปแล้ว สรุปได้ว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

 

1.  ความตระหนักของธุรกิจถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมยังมีไม่มากนัก โดยธุรกิจที่มีความตระหนักในเรื่องนี้และเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว ได้แก่ ธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและจากคู่ค้าแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคโรงแรมที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มปรับตัวเพื่อให้ได้ green hotel certificate แล้ว

 

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าแรงกดดันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นจาก (1) เกณฑ์ต่างประเทศที่จะเริ่มมีผลใน 1-2 ปีข้างหน้า เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือข้อบังคับยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของยุโรป และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulations: EUDR)  และ (2) ภาครัฐอยู่ระหว่างการเสนอบังคับใช้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะกำหนดให้ภาคธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถเริ่มปรับตัวได้อย่างทันการณ์

 

2.  ในการปรับตัวนั้น นอกจากเงินทุน ภาคธุรกิจต้องการความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ด้วย ธุรกิจจำนวนมากยังขาดความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการในการปรับตัว เช่น องค์ความรู้ในการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการและเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ/พันธมิตรทั้งจากบริษัทเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ในการให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ

 

3.  การสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวในวงที่กว้างขึ้น จำเป็นมีมาตรการที่ช่วยผลักดันและสนับสนุนจูงใจอย่างเป็นระบบ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น มาตรการทางภาษี การให้เงินสนับสนุน green certificate และการสนับสนุนจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นหัวขบวนของห่วงโซ่อุปทาน

 

ดังนั้น การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจไทยไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจึงมิใช่สิ่งที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งจะดำเนินการให้สำเร็จเพียงลำพังได้ แต่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ในการผลักดันและให้การสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจอย่างครบวงจร เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่นทันการณ์

Financing the Transition
Financing the Transition

Financing the Transition

สินเชื่อเคียงข้างภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี สินเชื่อ