บทบาทของมาตรการ Responsible Lending

ในการแก้หนี้อย่างยั่งยืน

Responsible Lending

หลักเกณฑ์ Responsible Lending ได้ยกระดับจากการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ยั่งยืนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ดังนี้

 

1. การปรับโครงสร้างหนี้ : ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้จะได้รับการเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ โดยผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังค้างชำระไม่เกิน 90 วัน อย่างน้อย 1 ครั้ง และสำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยในปี 2567 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 2.4 ล้านบัญชี หรือ 8 แสนล้านบาท

 

2. การช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง : ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ยังค้างชำระไม่เกิน 90 วัน และได้ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ย โดยลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท (กรณีลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน) หรือ 10,000 บาท (กรณีลูกหนี้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank)) สามารถเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5-7 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเหลือเพียง 15% จาก 25%

 

ตัวอย่างประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง เมื่อมียอดคงค้างบัตรกดเงินสด 15,000 บาท

 

เดิม หากลูกหนี้ผ่อนขั้นต่ำต่อเนื่องทุกเดือน (3%) ต้องใช้เวลาถึง 18 ปี จึงจะปิดจบหนี้ได้ และเสียดอกเบี้ยรวมทั้งสัญญาสูงถึง 29,000 บาท

 

หากเข้ามาตรการแก้หนี้เรื้อรัง แม้ลูกหนี้จะผ่อนเท่ากับยอดผ่อนขั้นต่ำ จะใช้เวลาในการปิดจบหนี้เพียง 8 ปี 6 เดือน และเสียดอกเบี้ยรวมทั้งสัญญา 17,500 บาท ซึ่งช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ได้จำนวนมาก

 

โดยในปี 2567 มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือกรณีเป็นหนี้เรื้อรัง รวม 10,427 บัญชี

 

3. การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ : ลูกหนี้จะได้รับการดูแลให้การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นธรรมมากขึ้น โดยไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และไม่ถูกคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้รายย่อย รวมถึงกรณีบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี นอกจากนี้ ลูกหนี้ต้องได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้องครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงินผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการเพื่อกระตุกพฤติกรรมตลอดวงจรหนี้

 

ที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้ภายใต้ 3 หลักการที่สำคัญ คือ 1) ทำอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การแก้หนี้เดิมที่มีปัญหาเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้ได้ในเวลาที่เหมาะสม จนถึงการปล่อยหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพเพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว 2) ทำถูกหลักการ ไม่ลดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต โดยลูกหนี้ยังสามารถขอสินเชื่อเพื่อสภาพคล่องได้ และไม่ทำให้เกิดปัญหาการเสียวินัยในการชำระหนี้ และ 3) ทำร่วมกันทุกภาคส่วน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ เจ้าหนี้ภาคเอกชน และลูกหนี้  โดย ธปท. ติดตามประสิทธิผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น มาตรการ Responsible Lending จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อใหม่มีคุณภาพมากขึ้น โดยไม่ได้มีข้อกำหนดหรือเกณฑ์เฉพาะในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาความเสี่ยงในการให้สินเชื่อจากการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เองเป็นสำคัญ ทำให้มาตรการ Responsible Lending ไม่ได้เป็นข้อจำกัดต่อการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี Responsible Lending แก้หนี้