เจาะ 4 เทรนด์โลก
ความท้าทายใหม่ต่อการดูแล “เงินเฟ้อ”
“เงินเฟ้อ” เชื่อมโยงกับชีวิตในทุกมิติ และสอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การซื้อ-ขาย ฝาก-กู้ยืมเงิน การจ้างงาน การลงทุน การผลิต รวมถึงทุกการตัดสินใจ ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อของทุกประเทศ คือ “กระแสและทิศทางโลก” (megatrends) ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น การทำความเข้าใจ megatrends จึงไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อธนาคารกลางในการดูแลเงินเฟ้อเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนและธุรกิจสามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
เราขอพาผู้อ่านไปดู 4 megatrends สำคัญของโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในอนาคตและปากท้องของคนไทยอย่างไรบ้าง
ในทศวรรษที่ผ่านมา โลกเชื่อมโยงกันผ่านช่องทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิต (global supply chain) ทำให้ แต่ละประเทศต่างก็พัฒนาจุดแข็งของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบ (comparative advantage) ทำให้มีทั้งประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันของโลก เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งของ ภูมิภาค ไปจนถึงเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญในตลาดโลก แม้ว่าจะกระจุกตัวอยู่ระหว่างไม่กี่ประเทศก็ตาม แต่ก็สามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจการเงินโลกได้
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ปะทุขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 และยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งนอกจากการสู้รบแบบดั้งเดิมด้วยรถถัง ระเบิด และปืนแล้ว การค้าก็ถือว่าเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ ทำให้การส่งออกสินค้าของรัสเซีย เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะ สินค้าเกษตร และปุ๋ยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และหลายประเทศในสหภาพยุโรป (EU) และทำให้ตลาดโลกเกิดภาวะอุปทานตึงตัว โดยเฉพาะจากการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ลดลงและหันไปพึ่งพาแหล่งพลังงานอื่นแทน กลายเป็นแรงกดดันให้ราคาพลังงานในตลาดโลกผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย)
สถานการณ์สู้รบยังทำให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) เพราะนอกจากการคว่ำบาตรทางการค้าแล้ว ยังมีการปิดท่าเรือ และปัญหาการขนส่ง ซึ่งทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดโลกลดลง รวมถึงต้นทุนการผลิตและขนส่งสูงขึ้น ขณะที่ไทยเราก็มีการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ยและธัญพืชจากรัสเซียด้วย จึงมีผลทำให้เงินเฟ้อไทยและอีกหลายประเทศเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงานและอาหาร อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน ของภาครัฐ อาจช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกต่อเงินเฟ้อลงได้บ้าง
อีกหนึ่งความขัดแย้งที่สร้างความปั่นป่วนไปทั้งโลกก็คือ สงครามการค้าระหว่างขั้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งทำให้ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติต่างเข้าสู่โหมดอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ (wait and see) โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของจีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะแนวโน้มการส่งออกที่ลดลง อาจทำให้ต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตในอนาคต
แม้ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงขึ้นก็ตาม แต่เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ กลับจะมีแนวโน้มต่ำลงในระยะสั้นจากปัจจัยด้านอุปทาน ไม่ว่าจะเป็น (1) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลงตามปริมาณการค้าและอุปสงค์โลก และ (2) การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากการที่คู่ค้าของสหรัฐฯ ต้องปรับทิศทางการส่งออกสินค้า (trade diversion) ไปยังประเทศอื่นแทน ทำให้เกิดภาวะสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไปในบางประเทศมากขึ้น (import flooding) เช่น 1 ใน 3 ของสินค้าจีนที่เคยส่งออกไปสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะถูกปรับทิศทางส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าบางอย่างถูกลง และกระทบต่อผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ผลของการขึ้นภาษีนำเข้าต่อเงินเฟ้อในระยะยาว ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ขึ้นอยู่กับห่วงโซ่อุปทานของโลกว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หากมาตรการกีดกันทางการค้าทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศที่เป็นแหล่งที่ต้นทุนต่ำที่สุด ก็อาจทำให้เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากประสิทธิภาพการผลิตที่ด้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกรณีโลกการค้าเสรี ที่ทุกคนสามารถเลือกที่จะตั้งโรงงานผลิตหรือนำเข้าสินค้าจากแหล่งที่ถูกที่สุดได้
นอกจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 2 เรื่องใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความขัดแย้งอื่นที่อาจมีผลต่อราคาสินค้าในตลาดโลกเช่นกัน อาทิ สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก สงครามอิสราเอลกับฮามาสที่การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงจะกระทบต่อต้นทุน ค่าขนส่งสินค้าทางน้ำและระยะเวลาในการขนส่ง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยด้านอุปทานที่อาจซ้ำเติมเงินเฟ้อให้สูงและผันผวนขึ้นได้
ท่ามกลางโลกที่เชื่อมโยงกันทางการค้าและการผลิตนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล เพื่อสร้างความได้เปรียบให้เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะการนำความก้าวหน้าต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้กระบวนการทำงานง่ายและเร็วขึ้น และต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโดยรวมลดลง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการกำหนดราคาสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ แม้จะมีข้อยกเว้นในสินค้าบางประเภท เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ supercomputer ระบบประมวลผลสำหรับ AI ที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนา การลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง และต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งราคาจะปรับสูงขึ้นได้ แต่ในภาพรวมคาดว่าการใช้เทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้
ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต
- บริษัทผลิตรถยนต์ เช่น Ford และ Tesla ได้หันมาใช้หุ่นยนต์แขนกลในการเชื่อมถังรถยนต์และพ่นสีแทนคน ซึ่งสามารถช่วยลดความผิดพลาด เพิ่มความแม่นยำ และเพิ่มความเร็วในการผลิต ที่สำคัญยังช่วยลดวัสดุสิ้นเปลืองและต้นทุนค่าจ้างแรงงานลงได้ถึง 70-80%
- บริษัทค้าปลีก เช่น Amazon และ Walmart ได้นำเอาระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อปริมาณการขาย เช่น สภาพภูมิอากาศ เทศกาล และรูปแบบการขายในอดีต ซึ่งช่วยทำให้การสั่งซื้อและสต๊อกสินค้ามีความเหมาะสมมากขึ้น ช่วยลดค่าเสียโอกาสในการขาย และลดต้นทุนการเก็บรักษาและบริหารจัดการลง
- บริษัท Siemens ผู้ผลิตกระดาษขนาดใหญ่ ได้ติดตั้งเซนเซอร์บนเครื่องจักรผลิตและใช้ AI ช่วยประเมินการเปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญ ช่วยให้การวางแผนหยุดเครื่องจักรและซ่อมบำรุงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงที่เครื่องจักรจะหยุดทำงานฉุกเฉินซึ่งมีค่าเสียหายมหาศาล ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการสต๊อกอะไหล่ และยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มาพร้อมกับกระแสดิจิทัลก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาชอปปิงออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยเพิ่มช่องทางการขายผ่าน e-commerce มากขึ้น เมื่อผู้ขายจำนวนมากเข้ามารวมอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ก็ย่อมทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นและกดดันให้ต้องลดราคา ทำให้ความสามารถในการปรับขึ้นราคาจะค่อนข้างจำกัด (ลูกค้าเปรียบเทียบราคาได้ง่ายและเลือกซื้อจากร้านที่ราคาถูกกว่า จึงอาจขึ้นราคาได้ไม่มาก) แต่อาจเห็นความผันผวนในราคามากขึ้นได้เนื่องจากการปรับราคาทำได้ง่ายและเร็วจากต้นทุนการปรับราคาที่ค่อนข้างต่ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และภาวะโลกร้อน (global warming) ทำให้ภูมิอากาศแปรปรวนและเกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบกับคุณภาพและความปลอดภัยของชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อแนวทางในการทำธุรกิจในโลกด้วย
Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC ที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้คาดการณ์ว่า หากไม่อาจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี 2573 อาจเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นในอนาคต ทั้งคลื่นความร้อนสูง ฝนตกหนัก พายุหมุน เขตร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า โดยได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สเปน ที่ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนขึ้นมาก พายุเฮอริเคน ที่พัดถล่มเมืองฟลอริดา สหรัฐฯ และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และไฟป่าที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในแคนาดาและสหรัฐฯ ขณะที่สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้แสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม และพายุฝน ได้เพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมจึงจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด แม้ว่าในอดีต เงินเฟ้อที่เกิดจาก shock ด้านอุปทานของสินค้าเกษตรมักเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ในระยะข้างหน้า ภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรง จะเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรผันผวนและแพงขึ้น
สำหรับประเทศไทย สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ หมวดอาหารสดที่มีสัดส่วนสูงเกือบ 1 ใน 5 ของตะกร้าเงินเฟ้อ
นอกจากภาวะโลกร้อนแล้ว ความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ก็ส่งผลต่อเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมา หลายประเทศได้บังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ยุโรปกำหนดให้ต้องใช้พลังงานทดแทน 42.5% ภายในปี 2573 รวมถึงได้ออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อใช้อุดหนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม นอร์เวย์ ที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สวีเดนที่เก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกทั้งจากอุตสาหกรรมในประเทศและสินค้านำเข้า โดยเฉพาะที่มีการใช้พลังงานสูงในกระบวนการผลิต เช่น การกลั่นน้ำมัน การผลิตโลหะ และจีนที่ได้ก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อรับซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credits) ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ไฟฟ้า ปูนซีเมนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม
อย่างไรก็ดี มาตรการกีดกันต่าง ๆ เช่น การเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นภาระต้นทุนที่สำคัญของอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง ขณะเดียวกันกระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกลับมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ดังนั้น จึงทำให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อในหมวดที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลในระยะยาวยังมีความไม่แน่นอน แต่คาดว่าเงินเฟ้ออาจต่ำลงได้หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้องจนทำให้ต้นทุนถูกลงได้อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการผลิตในภาคเกษตร
- ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก หลายแห่งอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนขาดแคลนน้ำใช้ในภาคเกษตรกรรม
- น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปี 2554 กินพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือ และสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรจำนวนมาก กระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร เส้นทางคมนาคม และการขนส่งสินค้า ลามไปถึงโรงงานแปรรูป จนเกิดภาวะห่วงโซ่อุปทาน ในประเทศชะงักงันและราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นชั่วคราว
- อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีส่วนทำให้เกิดโรคระบาดทั้งในพืชและสัตว์ รวมทั้งมีผลกระทบต่อการเติบโตของพืชบางชนิดที่มีความอ่อนไหวต่อความร้อน เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ ทำให้ผลผลิตเสียหายและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
โลกของเรากำลังแก่ขึ้นทุก ๆ วัน ไม่เพียงแต่ในแง่ของกายภาพที่ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง แต่ยังรวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกที่จะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากต่อเนื่อง โดยคาดว่าโลกจะมีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านคน ในปี 2563 เป็น 2.1 พันล้านคนภายในปี 2573 ซึ่งเป็นผลมาจาก ข้อดีในเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้คนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง
ตัวอย่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
- ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) แล้ว โดยมีคนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก โดยมีคนอายุมากกว่า 65 ปี ถึง 30.2% ของประชากรทั้งประเทศ
- เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยหลาย ๆ ประเทศ เช่น เวียดนาม ศรีลังกา จะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) คือมีคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ในเร็ว ๆ นี้
- แอฟริกายังคงเป็นทวีปที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุด แต่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้
สำหรับประเทศไทย ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2567 โดยมีสัดส่วนคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 20.7% และอาจขยับเป็นระดับสุดยอดเหมือนกับญี่ปุ่นภายในอีก 10 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย เพราะสังคมผู้สูงอายุมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน และอาจกระทบกับเงินเฟ้อได้ทั้งด้านสูงและต่ำ
ในแง่ของอุปสงค์ ผู้สูงอายุจะบริโภคน้อยลง เพราะส่วนใหญ่ มีข้อจำกัดในการทำงาน ทำให้มีรายได้น้อยลงหรือไม่มีเลย จึงถือว่าเป็น “วัยพึ่งพิง” ที่ครอบครัวต้องดูแล ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการออมเงินและลงทุนด้วย นั่นก็หมายความว่า ยิ่งเรามีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้รายได้และการบริโภคในภาพรวมของประเทศลดลงตามไปด้วย จึงอาจทำให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายด้านสุขภาพและบริการทางการแพทย์ในสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้เพิ่มขึ้นได้
ในแง่อุปทาน เมื่อโครงสร้างของประชากรมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่วัยทำงานมีเท่าเดิมหรือน้อยลงจนทำให้ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและ productivity ลดลง ประเทศก็อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ส่งผลลบเป็นลูกโซ่ต่อค่าจ้างแรงงานการจ้างงาน รายได้ประชาชาติ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำลงได้
นอกจากนี้ ภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐในด้านระบบสาธารณสุขและสวัสดิการ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งสวนทางกับรายได้ภาษีที่ลดลง ยังจะส่งผลกระทบต่อดุลทางการคลังของประเทศ และอาจทำให้ภาคเอกชนต้องเข้ามามีบทบาทในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สินค้า และบริการ เพื่อรองรับผู้สูงอายุ มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ภาครัฐมีศักยภาพไม่เพียงพอ และทำให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับสูงขึ้น ซึ่งเมื่อผนวกกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนแรงงานที่มีจำกัด อาจทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ในระยะยาว
ดังที่เล่ามา แนวโน้มของเงินเฟ้อที่กระทบจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุยังมีความไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งความสามารถในการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงมาตรการภาครัฐ ที่อาจกระทบต่อจำนวนและการพัฒนาคุณภาพแรงงาน ตลอดจนการนำเครื่องมือ เครื่องจักร และเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน
เราคงได้เห็นแล้วว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ ล้วนส่งผลต่อทิศทางของเงินเฟ้อในอนาคต การประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนยังทำได้ยาก เพราะปัจจัยต่าง ๆ สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาได้ทั้งด้านสูงและต่ำ ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยไหนจะมีอิทธิพลมากกว่ากันในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งในระยะข้างหน้าอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้
สำหรับประชาชน ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามายกระดับประสิทธิภาพการผลิต จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะได้เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบาย สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูล และเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายกับแทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าทิศทางการปรับราคาในอนาคตจะยังไม่แน่นอน เพราะมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ราคาจะยังคง เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงต่ออำนาจซื้อ ค่าครองชีพ และคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะสำหรับคนที่รายได้ถูกปรับขึ้นไม่สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็อาจทำให้ต้องกู้ยืมเงินและสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้น และเหลือเงินสำหรับเก็บออมน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการวางแผนเพื่อเกษียณอายุและความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ (อ่านเพิ่มเติม ได้ที่บทความ “เศรษฐกิจไทยในชามก๋วยเตี๋ยว : “เงินเฟ้อ” กับปากท้องของคนไทย” https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-68-2/highlight-economy-in-noodle-bowl.html)
สำหรับภาคธุรกิจ ที่อาจต้องเผชิญต้นทุนการผลิตและการลงทุนที่สูงขึ้นและผันผวนขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากนโยบายและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ต้นทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเฉพาะภายในประเทศก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การต้องเร่งปรับตัว ปรับกลยุทธ์ให้เท่าทันกับภาวะต้นทุนและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้
ท้ายสุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าคงหนีไม่พ้นที่จะสร้างความท้าทายต่อธนาคารกลางที่มีหน้าที่ดูแลเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเมื่อ megatrends ต่าง ๆ เข้ามาทำให้เกิด shock ต่อเงินเฟ้อบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และคาดเดายากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือราคาพืชผลที่เปลี่ยนแปลงเร็วจาก climate change โดยธนาคารกลางจำเป็นต้องเข้าใจที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อให้ดีขึ้นเพื่อสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งต้องชั่งน้ำหนักการดูแลเงินเฟ้อกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินให้ดีอีกด้วยเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินตามมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ธปท. ดูแลเงินเฟ้อควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินอย่างไร” https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-68-2/theknowledge-monetary-policy-and-inflation.html)
อ้างอิง
- Impact of Trade War 2.0 on Thailand's Industrial and Service Sectors Round One I Krungsri Research
- สงครามการค้า เมื่อภาษีนำเข้าสั่นคลอนเศรษฐกิจโลก I ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สภาพัฒน์ฯ ชี้ ไทยขาดทุนแสนล้าน จากภัยแล้ง-น้ำท่วมใน 10 ปี I BBC News Thai
- ผลกระทบของอุทกภัยปี 2554 ต่อเศรษฐกิจไทย I ธนาคารแห่งประเทศไทย
- Climate Change and its Economic Impacts in Thailand I World Bank
- มหาอุทกภัยปี 2554 กับบทเรียนสำหรับประเทศไทย I สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย I TDRI
- ผลกระทบของภัยแล้งต่อเศรษฐกิจไทย I ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สภาพอากาศร้อนจัด ผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ I กรมอุตุนิยมวิทยา
- Age and Inflation I International Monetary Fund
- The macroeconomic and fiscal impact of population ageing I European Central Bank
- Does Population Aging Impacts Inflation? I Consensus Academic Search Engine
- What Are the Effects of an Aging Population on the Current Account Balance of an Economy? I BSt Europe
- เศรษฐกิจและธุรกิจไทยจะปรับตัวอย่างไร? เมื่อ 10 ปีข้างหน้า สังคมจะมีคนสูงวัย 30 ล้านคน I กรมกิจการผู้สูงอายุ
- Impacts of cyclical and structural factors on inflation dynamics I Bank of Thailand
- World Population Ageing 2023: Challenges and opportunities of population ageing in the least developed countries | Department of Economic and Social Affairs Publications – United Nations
- Developing Asia and the Pacific Unprepared for Challenges of Aging Population I Asian Development Bank
- Which countries have the oldest populations? Japan and Italy I The World Economic Forum
- Ageing I World Health Organization
- Industrial Robots in the Automotive Industry I FLEXIV
- How AI Is Transforming Supply Chain Management I Forbes
- Amazon's delivery, logistics get an AI boost I Reuters
- Predictive Maintenance Promises Increased Margins for Pulp and Paper Mills I SIEMENS
- National Climate Report (September 2022) I National Centers for Environmental Information
- Temperature-related mortality burden and projected change in 1368 European regions I THE LANCET Public
- When Risks Become Reality: Extreme Weather In 2024 I World Weather Attribution
- Climate Change 2023 I Intergovernmental Panel on Climate Change
- Renewable energy targets I European Commission