BOX 6 ยกระดับ-รับมือโจร : ความร่วมมือระดับชาติ

เพื่อรับมือและป้องกันภัยทางการเงิน

Bot_social media_thumbnail

การจัดการปัญหาภัยทุจริตทางการเงินให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดย ธปท. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผลักดันการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพ.ศ. 2566 (พรก.) เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้กระทำผิดหรือบัญชีม้า โดยให้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) สามารถเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลตามที่ พรก. กำหนด ตลอดจนระงับบัญชีที่ต้องสงสัยชั่วคราวเพื่อดำเนินการตรวจสอบ และ พรก. ได้มีการกำหนดบทลงโทษกรณีผู้เปิดบัญชีที่ไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเอง หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้หรือใช้ซิมโทรศัพท์ในการทำทุจริต

cyber

ธปท. แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมภาคการธนาคารตามมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

นอกจากนี้ ธปท. ยังร่วมกับหน่วยงานข้างต้นผลักดันให้มีการดำเนินการตาม พรก. เพื่อให้การจัดการภัยทุจริตเป็นไปอย่างบูรณาการ อาทิ

 

\ การร่วมจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการในด้าน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 

\ การร่วมจัดตั้งระบบกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Central Fraud Registry: CFR) ระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งกำหนดกระบวนการรับเรื่องและแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในกรณีที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย

 

\ การร่วมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) เพื่อรวมศูนย์การปราบปราม แก้ไข และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ในเชิงรุกแบบครบวงจร (one-stop-service) ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1441 โดยศูนย์ AOC จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียนและประสานงานไปยังผู้ให้บริการทางการเงิน ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม ภัยทุจริตทางการเงินยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีรูปแบบหลากหลาย และมีพัฒนาการใหม่ ๆ อยู่ตลอด จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและต้องยกระดับการจัดการ และรับมือปัญหาให้รวดเร็วและ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองประชาชนและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

 

ภารกิจสื่อสารเตือนภัย หัวใจของการสู้กับโจร

 

ในปี 2566 ธปท. เดินหน้าสื่อสารเตือนภัยทางการเงินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ นอกจากจะสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย ธปท. ซึ่งเป็นช่องทางหลักแล้ว ธปท. ยังทำงานเชิงรุกในพื้นที่ โดยร่วมมือกับผู้นำชุมชน 50 เขตในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมหาแนวทางในการเตือนภัยการเงินแก่ประชาชน และจัดบรรยายให้ความรู้แก่นักบริหารเงินออมเพื่อให้สามารถให้คำปรึกษาแก่ชุมชนได้ถูกต้อง รวมถึงแจกจ่ายโปสเตอร์และสื่อประชาสัมพันธ์อื่น ๆ แก่สมาคมค้าปลีกและผู้นำชุมชนโดยรอบ

 

ธปท. ยังส่งผ่านนโยบายไปสู่สำนักงานภาคทั้งสามแห่ง เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และคำปรึกษาด้านภัยทางการเงินแก่ท้องถิ่น โดย ธปท. ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ผู้นำชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด หอการค้าสภาอุตสาหกรรม กลุ่มพระนักเทศน์ หอกระจายข่าวในชุมชน และกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ในการช่วยสื่อสารและกระจายข่าวสารเตือนภัยทางการเงิน รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยทางการเงินเพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้ส่งกลับให้ส่วนกลางสำหรับจัดทำนโยบายที่ตรงเป้าและตอบโจทย์ยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในปี 2566 ธปท. ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสื่อสารเตือนภัยทางการเงินผ่านโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพล่ามภาษามือ ด้านเศรษฐกิจการเงิน โดยแทรกเนื้อหาภัยทางการเงินให้แก่กลุ่มล่าม เพื่อนำไปเตือนภัยให้กับผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจากการไม่ได้รับข้อมูลที่เท่าทัน อีกทั้งยังกระตุ้นการระดมความคิดเกี่ยวกับภัยทางการเงิน ผ่านกิจกรรมการแข่งขันออกแบบการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ (BOT Communication Hackathon) ภายใต้หัวข้อ "รู้เท่าทันภัยการเงิน" ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้าแข่งขัน รวมถึงนำเสนอผลงานต่าง ๆ ที่น่าสนใจกว่า 200 ทีม เช่น การทำแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัย การให้เยาวชนเป็นยุวทูตน้อย สื่อสารเตือนภัย การแต่งเพลงและแบบทดสอบเตือนภัยหรือการทำยาดมเตือนสติ ฯลฯ โดย ธปท. ได้นำความคิดบางส่วนมาต่อยอดและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์จริงต่อไป

้hackathon

ยาดมที่มีคำคมเตือนภัยทางการเงิน เป็นหนึ่งในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของทีมผู้เข้าร่วมแข่งขัน

้hackathon

โครงการแข่งขันออกแบบการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ (BOT Communication Hackathon) ภายใต้หัวข้อ "รู้เท่าทันภัยการเงิน"

้hackathon

ธปท. จัดอบรมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และภัยการเงินให้แก่ล่ามภาษามือไปถ่ายทอดให้กับผู้บกพร่องทางการได้ยิน

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี ภัยทางการเงิน ระบบการชำระเงิน