annual report box7

ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจการเงินของไทยที่ ธปท. ปรับแนวทางการทำงานจากเดิมที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาระยะสั้นในช่วงวิกฤตโควิด 19 ไปสู่การเสริมสร้างความยึดหยุ่นทนทาน (resiliency) ให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรับประกันด้วยว่าธปท. จะมีความพร้อมขับเคลื่อนพันธกิจในระยะข้างหน้าได้

 

จึงมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ฉบับปี 2567-2569 เพื่อกำหนดแนวทางการทำหน้าที่ของ ธปท. ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่ 

ปัจจัยภายในประเทศ

ปัจจัยภาย

อกประเทศ

แผลเป็นทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด 19 ที่อาจยังมีเหลืออยู่ในภาคแรงงาน ภาคธุรกิจ และการผลิตรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้โครงสร้างการผลิตและการแข่งขัน รูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงบริการทางการเงินเปลี่ยนแปลงไป สร้างความท้าทายในการกำกับตรวจสอบ การติดตามภาวะและประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ และการติดตามธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

การก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงการบริหารบุคลากรของ ธปท. ในระยะข้างหน้า

กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย และทำให้ปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น ค่านิยมของผู้บริโภคและนักลงทุน กฎเกณฑ์และนโยบายของทางการ รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการเงินและบทบาทของผู้เล่น ผู้ให้บริการรายใหม่ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งบางส่วนไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างระบบการเงินสร้างความผันผวนในตลาดการเงินและการลงทุนรวมทั้งทำให้การดูแลติดตามความเสี่ยงทางการเงินทำได้ยากขึ้น

ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการค้า ความต้องการสินทรัพย์ราคาสินทรัพย์ และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน

แผนยุทธศาสตร์ ธปท. ฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับการผลักดัน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

 

1. การเสริมสร้างความยึดหยุ่นทนทานแก่เศรษฐกิจ (Shifting Focus to Resiliency)

 

ธปท. มุ่งหวังให้เศรษฐกิจไทยไม่เพียงแต่มันคงเข้มแข็ง ยังต้องยึดหยุ่นเพียงพอปรับตัวรับมือกับความไม่แน่นอนได้ โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องได้แก่

 

(1) การผสมผสานการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงพัฒนาการกำกับตรวจสอบผู้ให้บริการทางการเงิน โดยการยกระดับองค์ความรู้ ปรับแนวทางและวิธีการกำกับตรวจสอบให้เป็นแบบต่อเนื่องเต็มรูปแบบรวมถึงพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น supervisory technology และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงในเชิงลึกอย่างรอบด้าน เพื่อให้กำกับดูแลได้อย่างเท่าทันและช่วยประเมินนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ต่อเนื่อง

 

(2) การสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคธุรกิจและประชาชนด้วยการสร้างกันชนและเพิ่มทางเลือกให้พร้อมรองรับความมันผวนในอนาคต เช่น เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในเชิงรุกและยกระดับมาตรการป้องกันและกลไกการแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินและควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างเครื่องมือรองรับการทำธุรกรรมที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้ภาคธุรกิจและประชาชนเลือกใช้บริการ

 

(3) การสร้างโอกาสใหม่ในการเติบโตจากทั้งกระแสดิจิทัลและความยั่งยืน เช่น เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรม (Open Infrastructure) เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินและนำไปสู่การพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น เปิดกว้างในการแข่งขันให้ผู้เล่นทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้ามาให้บริการและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน (Open Competition) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะ ลูกค้ารายย่อยและ SMEs ตลอดจนการวาง 5 รากฐานสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินไทย พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนภาคธุรกิจให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้

2. การยกระดับศักยภาพองค์กร (Transforming)

 

ธปท. มุ่งเตรียมการด้านบุคลากรให้เพียงพอและมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำภารกิจในอนาคต โดยพนักงานมีแรงจูงใจในการสร้างผลงานและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้นำที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรโดยไม่ขาดช่วง นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำพันธกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีกระบวนการขับเคลื่อน กลั่นกรอง และติดตาม "งาน เงิน คน" แบบบูรณาการ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ขององค์กรภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

3. การสื่อสาร รับฟัง เรียนรู้และประสานความร่วมมือกับภายนอก (Open & Engaged)

 

เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อ ธปท. โดยใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายและสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน (One BOT) รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกันให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงแนวทางการทำงานที่พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากภายนอกมากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่องานของ ธปท.

bot strategy plan 67-69

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี เกี่ยวกับ ธปท.