BOX 9

Q&A งบการเงิน ธปท. และเงินสำรองระหว่างประเทศ

Bot_social media_thumbnail

ทำไมงบการเงิน ธปท. บางปีมีกำไร บางปีขาดทุน?

 

กำไรขาดทุนของ ธปท. แต่ละปีเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทและราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากลักษณะพิเศษของงบ ธปท. ที่มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปสกุลเงินต่างประเทศ (ประมาณ 85%) ส่งผลให้งบการเงินทุกสิ้นปีเกิดกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศดังกล่าวให้อยู่ในรูปเงินบาท

 

ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนในงบการเงินจึงไม่ได้กระทบศักยภาพในการทำหน้าที่ตามพันธกิจของธนาคารกลาง ตราบเท่าที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายอย่างมีเหตุผลและเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศและที่สำคัญยังได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

หาก ธปท. มีผลการดำเนินงานขาดทุน เงินสำรองระหว่างประเทศจะหายไปด้วยหรือไม่?

 

การที่ ธปท. มีกำไรหรือขาดทุนในแต่ละปี ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศ หรือ "เงินสำรองระหว่างประเทศ" ให้อยู่ในรูปเงินบาท เช่นหาก ธปท. มีสินทรัพย์ต่างประเทศ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินบาท อ่อนค่าลง 1 บาท จะทำให้มีกำไรจากการตีราคาทันที 250,000 ล้านบาท ในทางตรงกันข้าม หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท ก็จะทำให้เกิดขาดทุนจากการตีราคาทันที 250,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไม่ว่างบการเงินจะกำไรหรือขาดทุน ธปท. ยังมีสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศเท่าเติม คือ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หนี้ของ ธปท. แตกต่างจากหนี้สาธารณะอย่างไร?

 

หนี้ของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางเป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินพันธกิจ ได้แก่

(1) การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้เพียงพอกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ

(2) การออกพันธบัตรเพื่อดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินให้เหมาะสม

(3) เงินรับฝากจากสถาบันการเงินที่ดำรงไว้ที่ ธปท.

(4) เงินรับฝากของรัฐบาลที่ฝากไว้ที่ ธปท.

 

สำหรับหนี้สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมายถึง หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐหรือ รัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของ รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อโดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของ ธปท.

 

ดังนั้น หนี้ของ ธปท. จึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ

การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยมีการกระจายความเสี่ยงอย่างไร?

 

ธปท. บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศโดยคำนึงถึง 3 หลักการ ได้แก่ (1) รักษามูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศ (security) (2) รักษาสภาพคล่อง (liquidity) และ (3) ได้รับผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับไต้ (risk-adjusted return)

 

ดังนั้น ธปท. จึงพิจารณาการลงทุนโดยเน้น (1) กระจายการลงทุนไปประเทศต่าง ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินที่ดีในระยะกลางและยาว เพื่อกระจายความเสี่ยงไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในประเทศกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (2) พิจารณาการลงทุนที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกควบคู่กับการประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ในระยะข้างหน้า และ (3) ใช้เครื่องมือการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินในระยะสั้นถึงกลาง เช่น ตราสารอนุพันธ์ (derivatives)

 

นอกจากนี้ ในด้านธรรมาภิบาล ยังมีกลไกการกำกับดูแลในหลายระดับโดยเน้นกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) ระหว่างผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงและผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านการลงทุน อีกทั้งยังมีการติดตามและประเมินผลการบริหารและความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ตัดสินใจลงทุนจะต้องปฏิบัติตามกรอบความเสี่ยงที่กำหนดโดยผู้กำกับดูแลความเสี่ยง ที่ครอบคลุมทั้ง (1) ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์จากราคาตลาด (market risk) (2) ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (credit risk) (3) ความเสี่ยงของการมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการใช้อย่างทันท่วงที (liquidity risk) และ (4) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (operational risk)

 

ท่านสามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ได้จากบทความพันธกิจและงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในรายงานประจำปี ธปท. 2566 หน้า 160

 


Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี งบการเงิน ธปท.