ปัญหาเชิงโครงสร้างคืออะไร และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร?
ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเกิดจากการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจาก
(1) โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ
(2) ขาดการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากร เช่น แรงงาน รวมทั้ง
(3) กฎเกณฑ์หรือกติกาทางเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เกิดประสิทธิภาพ
ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำหรือไม่คุ้มค่า ส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ เศรษฐกิจจึงเติบโตช้าและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม สะท้อนจากการส่งออกไทยที่ฟื้นตัวช้าและสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ที่ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งคะแนน PISA1 ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่ม OECD มากจากปัญหาคุณภาพแรงงาน และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการหารายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
แนวทางในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรการผลิต อาทิ
(1) การพัฒนาระบบการศึกษาและคุณภาพแรงงาน
(2) การปรับกฎกติกาของภาครัฐเพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เช่น การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย และการเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐ
(3) การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบคมนาคมเพื่อให้ต้นทุนด้านขนส่งลดลง และ
(4) การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของผู้ผลิต
ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างบางเรื่องสามารถแก้ไขได้เร็วหากตั้งใจลงมือทำ อาทิ การปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย และการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ขณะที่บางเรื่องอาจต้องใช้เวลานานและต้องอาศัยความตั้งใจจริงและต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการศึกษา และคุณภาพแรงงาน แต่หากทำได้สำเร็จ ก็จะช่วยพลิกฟื้นการใช้ทรัพยากรการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
หมายเหตุ
1 โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) เป็นการศึกษาระดับโลกที่ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลกในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทุก ๆ สามปี