ธปท. ใช้ข้อมูลอะไรในการวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจไทย?
นอกจากข้อมูลสถิติแล้ว ธปท. ยังใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ได้สะท้อนในตัวเลขมาช่วยในการวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจไทย เพื่อใช้ประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน และมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ผ่านการลงพื้นที่รับฟังและพูดคุยกับหลายภาคส่วนในหลายสาขาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ครัวเรือน เกษตรกร สมาคม องค์กร สถาบันการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ ปีละกว่า 800 ราย ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP)
ในแต่ละเดือน ธปท. ยังมีการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาเป็นดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) ร่วมกับภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อใช้จับชีพจรของธุรกิจในแต่ละสาขาเศรษฐกิจและกลุ่มครัวเรือนฐานรากด้วย อาทิ
(1) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
(2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และ
(3) ดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก (Relationship Manager Sentiment Index: RMSI) ร่วมกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.
ข้อมูลทั้งเชิงลึกและข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าว มีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยเสริมมุมมองการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยให้แม่นยำ รอบด้าน ทันการณ์ และครอบคลุมหลากหลายสาขาเศรษฐกิจ