จริงหรือไม่ ที่อัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาทำให้สภาพคล่องตึงตัว

และคนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ?

อัตราดอกเบี้ยทำให้สภาพคล่องตึงตัว

หลายคนสงสัยว่าทำไมธนาคารพาณิชย์ถึงปฏิเสธการให้สินเชื่อมากขึ้นและปล่อยสินเชื่อน้อยลง และบ้างก็เชื่อว่าเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือไม่ก็เข้าใจผิดว่า ธปท. "ดูดสภาพคล่อง" ออกจากระบบมากเกินไป

 

ข้อเท็จจริงก็คือ ระบบธนาคารของไทยไม่ได้ขาดสภาพคล่องเลย มิหนำซ้ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มาก โดยมีเงินฝากและเงินลงทุนที่ ธปท. มากถึง 4-5 ล้านล้านบาท ที่สำคัญ ธปท. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดปริมาณสภาพคล่องที่ธนาคารมาฝากไว้ที่ ธปท. แต่เป็นธนาคารพาณิชย์เองที่มีอิสระในการบริหารสภาพคล่องของตัวเองตามความเหมาะสม

 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นหรือปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ได้มาพร้อมกับการดูดหรือปล่อยสภาพคล่องเพิ่มจาก ธปท. อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เพราะตลาดมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำธุรกรรมกับ ธปท. ตามดอกเบี้ยนโยบายใหม่ ทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมเพื่อปรับปริมาณสภาพคล่อง ซึ่งสะท้อนจากยอดการบริหารสภาพคล่องของ ธปท. ที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างนิ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก

 

ดังนั้น การบริหารสภาพคล่องของ ธปท. ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของธนาคารแท้จริงแล้วสาเหตุที่ทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมาจาก 2 ปัจจัย นั่นคือ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และระดับความเสี่ยงที่ธนาคารยอมรับได้ในแต่ละช่วงเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มแย่ลงจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูงและคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

 

ดังนั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท. จึงได้เพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านหลักเกณฑ์ Responsible Lending มากขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่านการผลักดันกลไกค้ำประกันสินเชื่อ และการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ

Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี เศรษฐกิจและการเงิน ปัญหาเชิงโครงสร้าง