FIDF Fee คืออะไร และใครคือผู้รับภาระต้นทุน?
FIDF Fee หรือ “ค่าธรรมเนียม FIDF” คือ เงินที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) เก็บจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำมาจ่ายดอกเบี้ย เงินต้น และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหนี้ที่เป็นผลของความเสียหายจากการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินตามนโยบายของทางการในวิกฤตปี 2540
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน และเรียกคืนความเชื่อมั่นของระบบการเงินของไทยจากวิกฤตทางการเงินปี 2540 ซึ่งจากความเสียหายจากการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินตามนโยบายของทางการ ทำให้รัฐบาลออก พรก. เพื่อออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รวมทั้งสิ้น 1.32 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ที่เกิดจากการออกพันธบัตรนี้นับเป็นหนี้สาธารณะที่ทุกคนต้องช่วยกันชำระ
ในช่วงแรกรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้รับภาระจ่ายดอกเบี้ย FIDF ต่อมาในปี 2555 รัฐบาลต้องการลดภาระส่วนนี้ เพื่อนำงบประมาณไปฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงได้ตรา พรก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อเพิ่มแหล่งเงินอีก 2 แหล่ง ที่จะนำมาใช้ชำระหนี้คงเหลือในขณะนั้น 1.14 ล้านล้านบาท คือ (1) เงินหรือทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และ (2) FIDF Fee ที่เก็บจากธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของฐานเงินฝาก ซึ่งถือเป็นต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ในการประกอบธุรกิจ โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะไม่สามารถนำเงินก้อนนี้ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งหากชำระหนี้รวมทั้งเงินต้นได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะชำระหมดภายในปี 2574